นายจ้างชี้ขึ้นค่าจ้างกระทบเอสเอ็มอี-ภาคเกษตร คปค.เเนะขั้นต่ำควรให้เฉพาะลูกจ้างแรกเข้า

นายจ้างชี้ขึ้นค่าจ้างกระทบเอสเอ็มอีและภาคเกษตรแน่ คปค.ชี้ค่าแรงขั้นต่ำควรให้เฉพาะลูกจ้างแรกเข้า ปีต่อมาขึ้นค่าจ้างตามฝีมือและโครงสร้างรายปี

เมื่อวันที่ 26 มกราคม ที่ห้องประชุมประภาศน์ อวยชัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ จัดการสัมมนาหัวข้อ “การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำต่อความท้าทายในยุค 4.0”

โดย ผศ.ศุภชัย ศรีสุชาติ ผู้อำนวยการสถาบันเสริมศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ กล่าวว่า สำหรับผลกระทบของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นแบ่งเป็นระยะสั้น และระยะยาว โดยระยะสั้นที่เห็นชัดคือ กลุ่มที่ยังไม่ถึงค่าจ้างขั้นต่ำ จะได้รับการปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ทันที แต่ขณะเดียวกันก็จะส่งผลต่อสภาพคล่องของนายจ้างขนาดเล็ก เนื่องจากตั้งแต่วันที่ 1 เมษายนเป็นต้นไป ต้องจ่ายตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำทุกวัน แต่มาตรการทางภาษีที่ไปช่วยจะไปเกิดปลายปี ตรงนี้ก็ต้องดูว่านายจ้างกลุ่มนี้จะสามารถพยุงตัวได้หรือไม่ เพราะหากไม่ไหวอาจเกิดปัญหาได้ ซึ่งแน่นอนว่าปกติก็มีสถานประกอบการขนาดเล็กล้มหายไปบ้างด้วยปัจจัยต่างๆ ซึ่งการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจไม่ใช่สาเหตุเดียว แต่ก็อาจเป็นตัวกระตุ้นได้ นอกจากนี้ ในอนาคตอาจมีการปรับฐานโครงสร้างค่าจ้างได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับสถานประกอบการ แต่ที่น่าคิดคือ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของประโยชน์เกื้อกูลจากนายจ้างให้ลูกจ้าง อย่างที่ผ่านมามีอาหาร ที่พักให้ฟรี ก็อาจเปลี่ยนไปต้องจ่ายเอง โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติก็อาจโดนไปด้วย ซึ่งเรื่องนี้เหล่านี้ก็ต้องติดตาม

“ข้อดีอย่างหนึ่งแน่นอนว่า การขึ้นค่าจ้างย่อมกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะจะเกิดการใช้จ่ายขึ้น ปัญหาที่กังวลว่า จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของสถานประกอบการ ซึ่งจริงๆ แล้วย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว แม้ไม่ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ เนื่องจากยุคนี้จะมีการพึ่งพาเทคโนโลยี ซึ่งไม่ขึ้นค่าจ้าง สถานประกอบการหลายแห่งก็ต้องหันมาใช้เทคโนโลยีมากขึ้นอยู่แล้ว” ผศ.ศุภชัย กล่าว

ผศ.ศุภชัย กล่าวอีกว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือนั้น ในส่วนของสำนักงานประกันสังคม อย่างการเก็บค่าสมทบต่างๆ กับอีกส่วนหนึ่งคือ การเตรียมการลูกจ้างที่อาจหลุดจากระบบ หรือการรีเทรนท์ตัวเองให้ก้าวต่อไป แต่ในส่วนที่ไม่ได้อยู่ในมือกระทรวงแรงงานคือ การลดหย่อนภาษี หรือการมีกองทุนช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี รวมไปถึงมาตรการในการขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการคงราคาบางอย่างไว้ ซึ่งจะเป็นบทบาทของกระทรวงพาณิชย์ โดยเรื่องนี้ภาครัฐอาจต้องมาคุยกันหมด ว่าจะทำอย่างไรให้เหมาะสม เพราะหากลดหย่อนมากเกินไป อาจได้รับสิทธิแค่ผู้ประกอบการบางส่วนหรือไม่ จึงต้องขีดให้ชัดว่า ใครจะเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ต้องจัดกลุ่มให้เหมาะสม และในอนาคตค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นแค่เครื่องประกันในการอยู่รอด แต่สถานประกอบการควรมีการสร้างโครงสร้างแรงงานด้วย และควรมีการพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นประกัน เช่น ควรมีใบรับรองในการพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งจะเป็นการพัฒนาทักษะของเรา และนายจ้างก็ต้องให้ความเป็นธรรมด้วย ไม่ใช่ว่ามีใบพัฒนาฝีมือแรงงานแต่กลับให้ค่าจ้างเท่าเดิมก็คงไม่ได้

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับปรับค่าจ้างขั้นต่ำปี 2561 แต่ต้องยอมรับว่าไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และไม่ตอบโจทย์ เนื่องจากสถานประกอบการหลายแห่งนำเอาค่าจ้างขั้นต่ำมาเป็นค่าจ้างประจำปี ซึ่งจริงๆ แล้วค่าจ้างขั้นต่ำควรเป็นค่าจ้างแรกเข้าเฉพาะคนใหม่เท่านั้น ส่วนคนที่ทำงานมาอย่าง 1-2 ปี ขีดความสามารถก็ต้องเพิ่มขึ้น ก็ต้องมีการปรับเพิ่ม ไม่ใช่อยู่ที่ค่าจ้างขั้นต่ำไปอย่างนั้น นั่นคือสถานประกอบการต้องมีโครงสร้างค่าจ้างประจำปี ซึ่งหากมีตรงนี้ก็จะหนีจากกับดักค่าจ้างขั้นต่ำออกไป อย่างไรก็ตาม ต้องพัฒนาเรื่องค่าจ้างของมาตรฐานฝีมือแรงงานด้วย เพราะแม้จะมีการพัฒนาทักษะฝีมือ แต่ค่าจ้างห่างกับคนที่ไม่มีฝีมือเพียง 10-20 บาท คนก็ไม่อยากจะฝึก ตรงนี้ต้องมีการยกระดับ เพื่อให้เกิดการพัฒนาฝีมือแรงงานเพิ่มขึ้น

นายมนัสกล่าวว่า ส่วนกรณีข้อเสนอลดการจ่ายเงินสมทบของนายจ้างนั้น ต้องบอกก่อนว่า ประกันสังคมมีอยู่ 13 ล้านคน แยกเป็นผู้ประกันตน 11 ล้านคนที่อยู่ในสถานประกอบการ และนายจ้างร่วมสมทบ ซึ่งหากตามข่าวที่ว่าจะให้ลดหย่อนเงินสมทบของนายจ้าง ทางเครือข่ายฯไม่เห็นด้วย โดยเงินส่วนนี้จะหายไปกว่า 2 หมื่นล้านบาท แทนที่จะเข้ากองทุนประกันสังคม ซึ่งเงินประกันสังคมส่วนนายจ้าง ก็คือเงินออมเข้ากองทุนให้ลูกจ้าง ทั้งเงินออม ทั้งเงินรักษาพยาบาล ดังนั้น หากจะปรับลดเงินสมทบของนายจ้าง ต้องคุยกันยาว

นายมนัสกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ในเรื่ิงค่าจ้างยังมีประเด็นย่อยอีกมาก อย่าง การจ้างงานของไทยในภาคเอกชน มีการจ้างงานหลายประเภทมาก อย่างของรัฐ ก็จ้างงานหลากหลายเช่นกัน เป็นสัญญาจ้างเป็นปีต่อปี เกษียณอายุก็ไม่ได้อะไร ไม่ได้เงินชดเชยด้วยซ้ำ ขณะเจ็บป่วยก็เบิกไม่ได้เลย และอีกประเภท เป็นการจ้างงานตามภารกิจ ตามมติครม. อย่างจบปริญญาตรี มาเป็นลูกจ้างตามภารกิจ ถูกต่ออายุไปเรื่อยๆ และหากไม่ต่อสัญญาก็ไม่ได้ค่าชดเชยเลย จริงๆ สิ่งเหล่านี้ต้องทบทวนการจ้างงานของประเทศไทย ทั้งภาครัฐและเอกชน

นายบวรนันท์ ทองกัลยา รองกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและบริหาร บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด กล่าวว่า เราอยู่ในยุคปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ย้อนแย้งกันอยู่ เพราะหากพูดภาพการเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ทั้งขนาดใหญ่และเล็กโดนกันหมด เพราะในช่วงเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมาเกิดการเปลี่ยนแปลง ดิจิทัลเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลต่อตัวธุรกิจทั้งหมด

ปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงธุรกิจกันหมด องค์กรใหญ่เหนื่อย แต่ธุรกิจเอสเอ็มดี (SME) เหนื่อยกว่า ปัจจุบันมีอยู่ 3 ล้านราย และมีการจ้างงานอยู่ 11 ล้านคน แน่นอนว่าธุรกิจใหญ่มีภูมิคุ้มกันที่ดีกับการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง แต่สำหรับเอสเอ็มอีน่าคิด อย่างการจดทะเบียนปีนี้ 74,000 ราย แต่จดทะเบียนขอเลิก 21,000 ราย นี่คือตัวสะท้อนของเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ของบ้านเรา ดังนั้น การขึ้นค่าจ้างไม่น่ากระทบธุรกิจใหญ่มาก เพราะมีวิธีปรับเปลี่ยนให้อยู่ได้ แต่ห่วงเอสเอ็มอีและภาคการเกษตรมากกว่า ซึ่งรัฐต้องเข้าไปช่วยเหลือ

นายบวรนันท์กล่าวอีกว่า หลายคนเป็นห่วงความมั่นคงของลูกจ้าง หากติดตามโครงสร้างประชากร จะทราบว่าเรากำลังเผชิญปัญหาประชากรลดลง ซึ่งไม่ใช่แค่ไทย ประเทศญี่ปุ่น จีนมีหมด โดยไทย หากพิจารณาตัวเลขประชากรสำนักงานสถิติแห่งชาติระบุว่า กำลังแรงงานที่อายุ อายุ 15-60 ปี มีอยู่ 42 ล้านคน แต่จากประชากรเกิดน้อยลง อีก 15-16 ปี จะเหลือแรงงานแค่ 36 ล้านคน ซึ่งตอนนี้ทุกองค์กรกังวล คือ การขาดแคลนคน จึงมองว่า การปรับอัตราขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำย้อนแย้ง เพราะจริงๆ แล้ว หากทักษะเพิ่ม ค่าจ้างก็เพิ่มขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้น การปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ น่าจะมีผลกับคน 4 ล้านคน หรือประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนขององค์กรบริษัทก็จะมีโครงสร้างค่าจ้างอยู่แล้ว

“หากเมื่อไรก็ตามไม่ว่าค่าจ้างจะเป็นเท่าไร แต่หากคนมีทักษะมีความสามารถก็สูงอยู่ดี ค่าจ้างขั้นต่ำก็ไม่มีผล แต่ในทางกลับกัน หากค่าจ้างสูง แต่คนทักษะน้อยก็มีปัญหาอยู่ดี ดังนั้น รัฐต้องตั้งคำถามกับตัวเอง ไม่ใช่แค่เรื่องนโยบายค่าจ้าง นโยบายลดหย่อน แต่ระยะยาวจะทำอย่างไร เพราะความสามารถของคนคือขององค์กร ของประเทศด้วย” นายบวรนันท์กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจุบันมีบริษัทหรือธุรกิจในกลุ่มที่มีโครงสร้างค่าจ้างจำนวนเท่าใด นายบวรนันท์กล่าวว่า ตอบได้เลยว่าธุรกิจขนาดกลางขึ้นไปประมาณ 100 เปอร์เซ็นต์ ต้องมีโครงสร้างค่าจ้าง เพราะหากไม่มีจะกระทบต่อการรักษาคนอย่างรุนแรง แต่ธุรกิจขนาดเล็ก ยังไม่มีการสำรวจชัดเจน แต่ก็เชื่อว่าหากมีการผลักดันหลายแห่งก็จะเริ่มดำเนินการ

 

ที่มา : มติชนออนไลน์