เฉลิมชัยแจง “แฉทุนจีนสีเทาผูกขาดทุเรียนไทย” ย้าย ผอ.ชลธี เป็นตามกระบวนการ

“เฉลิมชัย” ยัน ย้าย ชลธี ผอ.สวพ. 6 เป็นตามกระบวนการ แจงปม “แฉทุนจีนสีเทาผูกขาดทุเรียนไทย” กรมวิชาการเกษตรและ มกอช. ร่วมปรับปรุง GAP สินค้าทุเรียนรูปแบบใหม่ เสร็จภายในปีนี้

วันที่ 27 พฤศจิกายน 2565 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2565 ผ่านทางช่องยูทูบ Sondhitalk (ผู้เฒ่าเล่าเรื่อง) ในประเด็น “แฉทุนจีนสีเทาผูกขาดทุเรียนไทย” มีความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ดังกล่าว ที่สร้างความสับสนให้กับประชาชนและเกษตรกรเป็นวงกว้าง

จึงขอชี้แจงในกรณีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการประเภทอำนวยการระดับสูงของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้บังคับบัญชาและมีอำนาจสั่งบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการประเภทอำนวยการระดับสูง ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 วรรคมาตรา 57 (5) โดยในกรณีของนายชลธี นุ่มหนู นั้น เป็นข้าราชการในสังกัดของกรมวิชาการเกษตร

ดังนั้น อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นผู้บังคับบัญชาของข้าราชการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ ได้คำนึงถึงประโยชน์ของการปฏิบัติราชการ และเล็งเห็นว่า ผอ.ชลธี เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและมีประสบการณ์ในพื้นที่ภาคตะวันออก โดยเฉพาะจังหวัดจันทบุรีมากกว่า 32 ปี จึงเหมาะสมที่จะนำประสบการณ์ดังกล่าวไปขยายผลระดับประเทศในหน้าที่ ตำแหน่งผู้อำนวยการกองพัฒนาระบบและรับรองมาตราฐานสินค้าพืช ซึ่งมีภารกิจหลักในการควบคุมคุณภาพมาตรฐานของสินค้าพืช ผัก ผลไม้ และออกใบอนุญาต GAP และ GMP ทั่วประเทศ รวมถึงในพื้นที่ภาคตะวันออกด้วย

 

สำหรับกรณีใบรับรอง GAP จำนวน 8 หมื่นฉบับเกี่ยวกับทุเรียน ที่ต้องปรับรหัสรับรองรูปแบบใหม่สำหรับสินค้าผลไม้ที่ส่งออกไปจีนและประเทศอื่น เพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ได้ดำเนินการ โดย มกอช.ได้ออกกฎกระทรวงกำหนดลักษณะการใช้แสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร (รหัสเครื่องหมาย Q) เมื่อ 18 มิถุนายน 2563 เพื่อเป็นการปรับปรุงระบบเลขรหัสเครื่องหมาย Q

มีระยะเวลาดำเนินการปรับเปลี่ยนรหัสเครื่องหมาย ระหว่างพฤศจิกายน 2563-พฤศจิกายน 2565 และจะปรับเปลี่ยนให้ครบทั้งหมดภายในธันวาคม 2565 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพและผ่านการตรวจสอบรับรองจากหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งผลิตและคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงป้องกันการสวมสิทธิได้ โดยขณะนี้มีเกษตรกรและผู้ประกอบการที่ได้รหัสเครื่องหมาย Q ทั้งสินค้าพืช ประมง และปศุสัตว์กว่า 2 แสนราย

ปัจจุบันมีเงื่อนไขของประเทศผู้นำเข้าที่เข้มงวดทั้งในแง่คุณภาพสินค้าและสุขอนามัยพืช เช่น สินค้าเกษตรที่จะส่งออกไปสาธารณรัฐประชาชนจีนต้องได้รับการรับรองมาตรฐานระบบการผลิต ได้แก่ GAP และ GMP รวมถึงต้องมีการส่งข้อมูลรหัสเครื่องหมาย Q เพื่อเป็นการยืนยันสินค้าเกษตรของไทยด้วย โดยเฉพาะผลไม้ส่งออก เช่น ทุเรียน มังคุด และลำไย มีหน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือ กรมวิชาการเกษตร และ มกอช. ได้ร่วมกันปรับปรุงรหัสเครื่องหมาย Q สำหรับผลไม้ที่ส่งออกจีนให้ถูกต้องตามกฏกระทรวงดังกล่าว และจะแจ้งข้อมูลรหัสเครื่องหมาย Q ของสินค้าเกษตรที่ปรับปรุงทั้งหมดให้หน่วยงานศุลกากรแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (GACC) เพื่อให้การส่งออกเป็นไปอย่างต่อเนื่องและเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการ/เกษตรกรไทย

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) กล่าวว่า ตามที่นายสนธิ ลิ้มทองกุล ออกรายการ Sonthitalk (ผู้เฒ่าเล่าเรื่อง) เผยแพร่ทางยูทูบเรื่อง “แฉทุนจีนสีเทาผูกขาดทุเรียนไทย” นั้น ต้องขอบคุณที่ให้ความสนใจนำเสนอเรื่องดังกล่าวและได้ให้คำแนะนำในเรื่องการป้องกันการผูกขาดและการค้าทุเรียนอ่อนด้อยคุณภาพ

รวมทั้งปัญหาล้งนอมินีที่อาจกระทบต่อทุเรียนไทย ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับข้อห่วงใยของคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (ฟรุตบอร์ด) เช่นเดียวกันโดยได้ให้กรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2562

ซึ่งเป็นปัญหาที่หมักหมมสะสมมานานให้ลุล่วงโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ จากผลการบริหารจัดการผลไม้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจนสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับสามารถยกระดับการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานผลไม้ไทยโดยเฉพาะทุเรียนจนประสบความสำเร็จทำให้ผู้บริโภคจีนเขื่อมั่นในคุณภาพผลไม้ไทย ส่งผลให้ราคาทุเรียนหน้าสวนและหน้าล้งดีต่อเนื่องมากว่า 2 ปี ทำรายได้เพิ่มให้กับชาวสวนทุเรียนของไทยแม้ว่าต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 และผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งต้องทำงานด้วยความยากลำบาก แต่ก็ฝ่าฟันมาได้

เป็นผลให้ในปีที่ผ่านมาผลไม้ไทยสามารถครองใจผู้บริโภคชาวจีนจนครองส่วนแบ่งตลาด (มาร์เก็ตแชร์) ในประเทศจีนเพิ่มขึ้นเป็นกว่าร้อยละ 40 ตามมาด้วยชีลิที่เป็นอันดับ 2 ซึ่งครองสัดส่วนตลาดร้อยละ 15 และเวียดนามครองอันดับที่ 3 ด้วยสัดส่วนตลาดร้อยละ 6 สามารถสร้างรายได้จากตลาดจีนกว่า 2 แสนล้านบาท ยิ่งกว่านั้นทุเรียนสดของไทยยังสามารถครองส่วนแบ่งในตลาดโลกกว่าร้อยละ 70 และครองส่วนแบ่งในตลาดจีนสูงเกินกว่าร้อยละ 90 ด้วยปริมาณการส่งออกไปตลาดจีนกว่า 8 แสนตันคิดเป็นมูลค่าทะลุ 1 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ สำหรับปีนี้ได้ส่งออกทุเรียนสดไปจีนแล้วกว่า 7 แสนตันมูลค่ากว่า 8 หมื่นล้านบาท ระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ถึง 17 พฤศจิกายน 2565