1 ปีรถไฟจีน-ลาว ไทยขาดดุล 68%

ดร.จตุรงค์ บุนนาค
ดร.จตุรงค์ บุนนาค
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

แม้ว่าประเทศจีนจะยังปิดประเทศ แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่านโยบายทางด้านเศรษฐกิจของจีนที่มีความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะการขยายเส้นทาง BRI เห็นได้จากการพัฒนารถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมระหว่างประเทศ จีน-ลาว ที่เปิดใช้บริการครบ 1 ปี มีผลต่อการค้าการลงทุนในภูมิภาคอาเซียนเป็นอย่างมาก

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ดร.จตุรงค์ บุนนาค” ประธานสภาธุรกิจไทย-ลาว หลังการเชื่อมต่อรถไฟจีน-ลาวครบ 1 ปี

Q : การใช้ประโยชน์รถไฟจีน-ลาว

จากเป้าหมายที่พยายามส่งเสริม BRI รถไฟจีน-ลาว วัตถุประสงค์หลักคือ ในด้านการขนส่งสินค้า รองลงมาคือ การขนส่งมวลชน แต่ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมายังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์การขนส่งสินค้า

เพราะว่าการขนส่งสินค้าก็ยังไม่ทะลุผ่านโดยตลอด ถ้าเราดูอย่างโครงสร้างต้นทุนโลจิสติกส์ จะเห็นว่าองค์ประกอบทั้ง 3 ด้านของโลจิสติกส์คือ ค่าขนส่ง ค่าเก็บรักษา และค่าบริหารจัดการ

พบว่า ค่าขนส่งยังสูงที่สุด ซึ่งระบบรถไฟหรือระบบรางสามารถทำให้ต้นทุนค่าขนส่งลดลงได้ แต่ตอนนี้ยังใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ยังไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ตั้งแต่เปิดมา

ส่วนเรื่องการขนส่งมวลชนก็ยังทำไม่ได้เต็มที่ เพราะว่าจีนยังปิดประเทศ

Q : ถ้าคะแนนเต็ม 10 ให้เท่าไร

คะแนนเต็ม 10 ถ้าเรามองฝั่งของไทยที่จะได้ใช้ประโยชน์จากเส้นทางตรงนี้ คิดว่าให้แค่ 2-3 ต่ำกว่า 5 แต่ถ้าเราเป็นธุรกิจของจีนที่มาลงทุนในลาวหรือธุรกิจของเรา คิดว่าจะได้ประโยชน์ประมาณ 6-7 ที่โดดเด่นที่ผ่านมาจะเป็นเรื่องของการขนส่งมวลชน

เพราะจะเห็นได้ว่านับตั้งแต่ไทย-ลาวเปิดประเทศ อาศัยข้อมูลจากทางด่าน จะพบว่าตั้งแต่ 1 พ.ค.มาจนถึงสิ้นเดือน ก.ค.นี้มีคนไทยเดินทางออกไปลาวสูงถึง 209,347 คน ในช่วง 3 เดือน เฉลี่ย 2,326 คนต่อวัน ถ้าคิดตามฐานการใช้จ่ายการท่องเที่ยว 1 คนใช้ 6,000 บาทต่อทริป คิดเป็นเงิน 1,256 ล้านบาท ที่เข้าไปเที่ยวในลาว

กลับกลายเป็นว่าภาพการขนส่งจากการท่องเที่ยวถูกกระตุ้นขึ้นมาด้วยรถไฟ ในด้านขนส่งมวลชน

Q : ยอดส่งสินค้าขาดดุล

ขณะที่ตัวเลขการขนส่งสินค้าในช่วงเวลาเปิดการเดินรถ 2 ธ.ค. 2564-31 สิงหาคม 2565 พบว่าการขนส่งทางรางไทยขาดดุลการค้าไป 68% โดยไทยส่งออกสินค้าไปจีน มูลค่า 1,648 ล้านบาท สินค้าส่วนใหญ่เป็นพวกผลไม้ หม้อแปลง วงจรพิมพ์ แผงวงจร เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง และมัน

ขณะที่สินค้าจากจีนเข้ามาไทยเป็นพวกเครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ สมาร์ทโฟน เครื่องคอมพิวเตอร์ ปุ๋ยเคมี มีมูลค่า 8,923 ล้านบาท

“แน่นอนว่าสินค้าเราเป็นสินค้าเกษตร มีน้ำหนักมากกว่าอยู่แล้ว ขนส่งไปมีน้ำหนักถึง 900,000 กว่าตัน จีนขนส่งมามีน้ำหนัก 100,000 กว่าตัน มหาศาลกว่าไทยยังใช้ประโยชน์จากเส้นทางนี้ไม่ได้”

Q : สาเหตุที่ใช้ประโยชน์ไม่ได้

เพราะว่าในช่วงที่เปิดรถไฟ 1 ปี ด่านโมฮาน-บ่อเต็นของจีน ยังติดตั้งเรื่องเครื่องจักรในการตรวจโรคพืชและโรคสัตว์ยังไม่เสร็จ

สินค้าเกษตรของไทยเราต้องปรับแผน ส่งไปทางเรือค่อนข้างฉุกละหุก

แต่อย่างไรก็แล้วแต่ เราเจอปัญหาเรื่องต้นทุนการขนส่งสินค้าผ่านระบบรางรถไฟจีน-ลาวไม่นิ่ง และยังสูงกว่าเส้นทางการขนส่งอื่น ๆ อีก

โดยมีผู้ประกอบการบางรายเสนออัตราค่าขนส่งสินค้าผ่านรถไฟจีน-ลาว เหมาจากกรุงเทพฯไปยังคุณหมิง คิดค่าเหมา 400,000 บาท/ตู้ ขนาด 40 ฟุต ซึ่งการขนส่งด้วยระดับราคาขนาดนี้ไม่คุ้มเลย ถ้าเทียบกับการขนส่งทางเรือ ซึ่งปกติตู้เรือปรับอากาศขนาดเดียวกันนี้ จะมีราคา 150,000-200,000 บาทแม้แต่เส้นทางขนส่งทางรถ R12 มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 200,000-300,000 บาท/ตู้ 40 ฟุต หรือ R3A กรุงเทพฯ-คุนหมิง อยู่ที่ 200,000 บาท/ตู้

นอกจากนี้ ยังเจอปัญหาในปีที่ผ่านมาว่าด่านเดี๋ยวปิดเดี๋ยวเปิด หลายอย่างมีการตรวจโควิดแบบ 100% ด้วย เพราะฉะนั้นจึงทำให้เกิดอุปสรรคในเส้นทางขนส่ง R12 เราจึงขนส่งทางอากาศและทางเรือเป็นหลัก และใช้เส้นทาง R3A

“ระบบรถไฟต้นทุนจะต้องลดลงกว่าครึ่ง ตามข้อมูลที่ทางธนาคารโลกเคยศึกษาไว้ด้วย เปรียบเทียบการขนส่ง 4 เส้นทางคือ R3A, multimodel หรือขึ้นรถไฟแล้วไปต่อได้ด้วยรถบรรทุก และเส้นทางรถบรรทุกขนส่งไปทางจีน มีต้นทุนลดลงไปต่ำกว่าครึ่ง หรือประมาณ 170,000 บาทต่อตู้ ที่ขนส่งไปถึงคุณหมิง”

“เหตุผลที่มีการบวกราคาเพิ่มจากความไม่แน่นอนของค่าขนส่ง และในเรื่องของการขนส่งที่จะเป็นลักษณะ multimodel ซึ่งจะมีการขนส่งในหลายรูปแบบในเส้นทาง คือ การขนส่งโดยรถ เข้าไปที่สถานีเวียงจันทน์ใต้ สถานีรถไฟท่านาแล้ง เสียค่าใช้จ่ายในการยกขึ้นยกลงแล้ว พอรถไฟไปถึงสถานีนาเตยปลายทางก็ต้องยกลง เปลี่ยนถ่ายเป็นรถพ่วงข้ามไป และขยับไปขึ้นรถไฟต่อไปที่คุนหมิง หรือจะใช้รถยนต์ จึงทำให้มีคอสต์แบบนี้เยอะ ก็เลยไม่ดึงดูดใจ แล้วก็เจออุปสรรคในเรื่องของการตรวจโควิด”

Q : ปลดล็อกการขนส่งดันส่งออก

ทราบมาว่าการเปิดใช้ด่านตรวจพืชโมฮาน-บ่อเต็น ตอนนี้เรียบร้อยหมดแล้ว คิดว่าน่าจะเปิดทันครบรอบ 1 ปีของรถไฟ แต่ก็ยังไม่ค่อยชัดเจน เท่าที่ไปดูในพื้นที่มาทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว เพียงแค่มีใบอนุญาตการเปิดก็เปิดให้ผ่านกันได้

ส่วนที่สองทราบมาว่าจะเปิดโอกาสให้คนจีนเดินทางเข้ามา และจะเปิดให้คนไทยและคนลาวสามารถเดินทางผ่านรถไฟเข้าไปยังประเทศจีนได้ด้วย ประเด็นนี้ก็ต้องรอติดตามต่อไป แต่อย่างไรก็ต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดรอบใหม่ของจีนที่หนักขึ้น

Q : เตรียมกระจายการขนส่ง

ฤดูกาลผลไม้ของเราในเดือนกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม 2566 เชื่อว่าผู้ประกอบการควรจะอย่าไปมั่นใจในการใช้เส้นทางระบบรถไฟ ขอให้ดูเส้นทางอื่นประกอบไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นทางเรือหรือการขนส่งผ่าน R3A ยิ่งถ้ามีการระบาดของโควิด R12 ที่เราต้องวิ่งผ่านลาวและผ่านไปที่เวียดนามก็อาจจะเจอปัญหาแบบเดิมอีก ถ้ามีการระบาดของโควิดแบบนี้

Q : ภาพรวมค้าชายแดนปี’65 และแนวโน้มปี’66

ภาพรวมของปี’65 ยังมองว่าการค้าของไทย-ลาวจะมียอด 200,000 ล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อนแน่นอน เหลือแต่เพียงปี 2566 คาดว่าจะเติบโต 5-10% จากปี 2565 สถานการณ์การขนส่งสินค้าจะทำให้การค้าเราเพิ่มมากขึ้นหรือน้อย

การค้าชายแดนไทย-ลาวตอนนี้เรายังเจอสิ่งที่ท้าทายจากเรื่องเศรษฐกิจในลาว เพราะว่าเรื่องของเงินเฟ้อกับปัญหาค่าเงินที่อ่อนตัวลง 480-500 กีบต่อบาท และมีแนวโน้มจะอ่อนตัวลงไปได้อีก ทำให้ผู้ที่นำเข้าสินค้ามีต้นทุนสูงขึ้นเกือบ 2 เท่า จากที่ผ่านมาทำให้ต้นทุนการจำหน่ายสินค้าสูงมากขึ้นก็อาจจะมีผลกระทบ

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องปัญหาขาดน้ำมัน ที่ส่งสัญญาณว่าอาจจะเกิดขึ้นอีกครั้ง

จากการที่ลาวมีการลงทุนในเรื่องของภาคเกษตรมากขึ้น ในเรื่องการส่งเสริมให้หันมาทำการเกษตรและอุตสาหกรรม อาจจะเป็นตัวแปรหนึ่งที่เปลี่ยนซัพพลายเชน จากนโยบายหลักอย่างหนึ่งคือการ “ลดการนำเข้า ส่งเสริมการผลิตภายใน”

ซึ่งขณะนี้ปรากฏว่ามีบริษัทจีน 900 แห่ง มาลงทุนในลาว ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค หากสินค้าบริโภคจีนกลุ่มนี้สามารถที่จะดึงกำลังซื้อของคนลาวไปได้ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยในอนาคต อันนี้น่ากังวลใจ เพราะจีนผลิตสินค้าต้นทุนต่ำ และยังตั้งโรงงานผลิตอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษของลาวด้วย ทำให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีให้เกิดความได้เปรียบจากสินค้าที่ไทยส่งออกไปจำหน่ายในประเทศลาว


ที่ผ่านมาผู้บริโภคชาวลาวนิยมบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยคิดเป็นสัดส่วนถึง 80% ของตลาดในอนาคตอันใกล้หากลาวมีนโยบายส่งเสริมการบริโภคสินค้าภายในประเทศจะกระทบกับการค้าชายแดนไทย-ลาว