ข้าวไทยติดหล่มประชานิยม อุดหนุนบานปลาย-เร่งพัฒนาพันธุ์

วิจัยข้าวไทย

การใช้นโยบายประชานิยม อุดหนุนแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ได้สร้างแรงจูงใจให้ชาวนาพัฒนา ยกระดับและนำเทคโนโลยีมาใช้ นับเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายสะท้อนความกังวลออกมาจากการประชุมเวทีข้าวไทย 2565 ก้าวต่อไป นโยบายข้าวไทย ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อเร็ว ๆ นี้

รายได้เกษตรกรติดหล่ม

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวบรรยายในหัวข้อ “นโยบายข้าวไทยในกระแสของโลกยุคใหม่” ว่า อุตสาหกรรมข้าวไทยในอดีตเติบโตสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก จากการสนับสนุนนโยบายรัฐ และการเดินหน้าของภาคเอกชนที่สร้างกลไกการแข่งขัน ทำให้ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 นานกว่า 2 ทศวรรษ

แต่ปัจจุบันอุตสาหกรรมข้าวไทยเกิดการหยุดชะงัก สูญเสียตลาดให้คู่แข่ง ทั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียวให้กับเวียดนาม ข้าวขาว ข้าวนึ่งให้กับอินเดีย

“ผลผลิตต่อไร่ของไทยก็ทรงตัวแค่ 485 กก./ไร่ ต่ำกว่าคู่แข่งในเอเชีย เวียดนาม 928 กก./ไร่ กัมพูชา 567 กก./ไร่ แพ้แม้กระทั่งบังกลาเทศ 752 กก./ไร่ ศรีลังกา เนปาล 608 กก./ไร่ เป็นสิ่งที่น่าอับอายมาก”

ขณะที่อัตราการลงทุนต่อจีดีพีของไทยลดลง และมีปัญหาคุณภาพแรงงาน ความต้องการจ้างแรงงานในภาคการเกษตรประมาณ 25-28% ขณะที่ GDP ภาคการเกษตรมีเพียง 8-9% ซึ่งก่อให้เกิดการเหลื่อมล้ำของรายได้ต่อหัวในภาคการเกษตร กับนอกภาคการเกษตร สูงถึง 4.5 เท่า เทียบกับมาเลเซียและจีนที่สูงกว่าเป็นเท่าตัว

แก้ต้นเหตุ

สาเหตุที่โครงสร้างอุตสาหกรรมข้าวไทยหยุดชะงัก เกิดวัฏจักรกับดักผลิตภาพต่ำ มาจากหลายปัจจัยทั้งมาตรการการอุดหนุนในภาคการเกษตรเป็นสิ่งที่กำลังทำลายแรงจูงใจไม่ให้เกษตรกรปรับตัวนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาปรับใช้ อีกทั้งมาตรการมีความซ้ำซ้อน

ทั้งโครงการประกันรายได้ และก็ยังมีมาตรการช่วยเหลือด้านต้นทุนและปรับปรุงคุณภาพข้าว ด้วยมี 2 พรรคการเมืองที่มีการหาเสียงไว้ ทำให้เกิดนโยบายซ้ำซ้อน เกิดการอุดหนุนเพิ่มขึ้น สูญเสียงบประมาณปีละ 140,000 ล้านบาท “สูงกว่า” งบประมาณของทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งยังใช้เงินนอกงบประมาณปีละแสนล้านบาทด้วย

ขณะที่แรงงานภาคเกษตรสูงอายุมากขึ้น รวมไปถึงการถูกดิสรัปชั่นจากต่างประเทศ โดยเฉพาะคู่แข่งที่มีการลงทุนงานวิจัย รวมไปถึงมีนักวิจัยมากกว่าไทย ซึ่งเมื่อดูงบประมาณวิจัยพันธุ์ข้าวของไทยมีเพียง 150-180 ล้านบาทต่อปี นักวิจัยน้อยลง ขาดนักปรับปรุงพันธุ์ข้าว

นอกจากนี้ ปัจจุบันก็มาเจอปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทำให้ผลผลิตต่ำลง ใช้น้ำสิ้นเปลืองเมื่อเทียบพืชอื่น ๆ และกำลังจะได้รับผลกระทบจากมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของยุโรปและสหรัฐ ปรับขึ้นภาษีหากไม่มีการปรับตัว

เพิ่มรายได้เกษตรกร

เป้าหมายสำคัญไทยต้องเพิ่มรายได้ต่อหัวในภาคเกษตรเทียบเท่ารายได้นอกภาคการเกษตรได้อย่างไร ดังนั้น จำเป็นต้องยกระดับคุณภาพและมาตรฐาน และต้องพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต อย่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการยกระดับคุณภาพแรงงานภาคการเกษตร นำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้เพิ่มผลผลิตต่อไร่

ตาราง เงินอุดหนุนชาวนา

“เป้าหมายการเพิ่มรายได้ของเกษตรกรเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ จำเป็นจะต้องมีเป้าหมายพัฒนาเศรษฐกิจนอกภาคการเกษตรเพื่อเพิ่มทักษะแรงงานที่มีคุณภาพ ทุกสาขาเศรษฐกิจไปพร้อมกันด้วย โดยรัฐบาลจะต้องกำหนดนโยบายไปพร้อมกันในภาพรวม”

ถึงเวลาปฏิรูปข้าวไทย

ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปภาคการเกษตร หากยังมีนโยบายอุดหนุนจำเป็นต้องมีเงื่อนไข เพราะหากไม่มีเงื่อนไข ทำให้เกษตรกรไม่มีแรงจูงใจในการปรับตัว

ดังนั้น ต้องลดการอุดหนุนที่มีความซ้ำซ้อน เช่น ประกันรายได้ใช้งบประมาณปีละ 8.67 หมื่นล้านบาท และมาตรการช่วยเหลือลดต้นทุน ปรับปรุงคุณภาพข้าว 5.53 หมื่นล้านบาท ออกจากกัน และให้นำงบฯส่วนนี้มาตั้ง “กองทุน” เพิ่มงานวิจัย และส่งเสริมกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เพิ่มผลิตภาพแรงงาน เพิ่มผลผลิตต่อไร่ ลดต้นทุนการผลิต ลดการเผา เป็นต้น

“รัฐต้องเพิ่มงบฯวิจัยข้าว 1% ของจีดีพีข้าว คิดเป็นปีละ 3,000-3,500 ล้านบาท เวลา 5 ปีให้ได้ เปลี่ยนฐานะกรมวิชาการเกษตรและการวิจัยข้าว มารวมเป็นสถาบันอิสระ สร้างแรงจูงใจให้ทุนนักเรียนไทย เป็นนักวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ข้าว

แก้ไขกฎหมายให้กรรมสิทธิ์นักปรับปรุงพันธุ์ เปลี่ยนบทบาทนโยบายของรัฐจากเป็นผู้ประเมิน ให้เกษตรกรดำเนินการ ปฏิรูปรับรอง มาตรฐานข้าวหอมมะลิไทย เพราะเสียเวลา เปิดให้นำพันธุ์ข้าวต่างประเทศมาวิจัย เป็นต้น”

นายสมพร อิศวิลานนท์ อาจารย์ภาควิชาเศรษฐศาสตร์และทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวบรรยายในหัวข้อ “นโยบายข้าวของรัฐกับการพัฒนาข้าวไทย” ระบุว่า โครงการประกันรายได้เริ่มเมื่อรัฐบาลอภิสิทธิ์ในปี 2551-2552 ใช้งบประมาณ 1.1 แสนล้านบาท แต่ปัจจุบันปี 2562-2563 ใช้งบประมาณ 50,000 ล้านบาท บวกกับมาตรการคู่ขนานอีก 20,000 ล้านบาท

สิ่งสำคัญต้องผลักดันยุทธศาสตร์ข้าว 20 ปี ยกระดับและพัฒนาเทคโนโลยี เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และรายได้เกษตรกร รวมถึงลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ก็ยังมีความท้าทายว่าข้าวไทยถูกลากจูงไปสู่พืชการเมือง นโยบายประชานิยม ใช้งบประมาณกว่าปีละ 1 แสนล้านบาท ในระยะยาวหากไม่เปลี่ยนแปลงจะแข่งขันลำบาก โดยการอุดหนุนทำได้แต่จำเป็นต้องแยกกลุ่มเปราะบาง จัดลำดับและช่วยเหลือได้ตรงเป้าหมายมากขึ้น

ถอดโมเดลอินเดีย

ด้าน นายศฎาวุฒิ กุลมณี รองกรรมการผู้จัดการบริหารสายงานวิจัยและพัฒนา บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด กล่าวบรรยายในหัวข้อ “ภาคีรัฐร่วมเอกชนในการพัฒนาข้าวของอินเดีย” ระบุว่า อินเดียมีพื้นที่ปลูกมากกว่าไทย 4 เท่า มีผลผลิตรวมเฉลี่ย 110-120 ล้านตันต่อปี

อินเดียให้ความสำคัญกับเมล็ดพันธุ์อย่างมาก โดยมีการสต๊อกและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันอินเดียเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ส่งออกแล้ว 18 ล้านตัน ณ เดือนพฤศจิกายน 2565 และคาดว่าสิ้นปีนี้จะส่งออกได้ 20 ล้านตัน

“การที่อินเดียมีการเติบโตทั้งด้านผลผลิตและการส่งออก เป็นผลมาจากสภาวิจัยการเกษตรอินเดีย (ICAR) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่รับผิดชอบการศึกษาการเกษตรประสานงานและการวิจัย ภายใต้กระทรวงเกษตรอินเดีย มีงบประมาณ 5.8 หมื่นล้านรูปี

ใช้ศึกษาและวิจัยด้านการเกษตร ส่งออก เพื่อยกระดับวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวร่วมกับหลายหน่วยงาน หลายสถาบันการศึกษา อีกทั้งรัฐเสริมงบประมาณ 2% ของจีดีพี หรือ 3.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในการเพาะปลูก ทั้งปุ๋ย ประกันรายได้ ไฟฟ้าฟรี ภาครัฐช่วยด้านการผลิต สร้างชลประทาน

รวมถึงส่งเสริมเครื่องจักร จนในปัจจุบันอินเดียสามารถพัฒนาพันธุ์ข้าวบาสมาติ มากกว่า 34 สายพันธุ์แล้ว”