วิบากกรรมข้าวไทยตกแชมป์ ส่งออกวูบ 40% ราคาแพงสู้ไม่ได้

ข้าวไทย-ส่งออก

7 ปีส่งออกข้าวไทยถดถอย ยอดส่งออกวูบ 40% หลุดแชมป์โลกติดต่อกันหลายสมัย พ่ายทั้งอินเดีย-เวียดนาม เหตุข้าวไทยราคาแพงแข่งขันยาก อินเดียส่งพันธุ์ใหม่บาสมาติถล่มตลาดหวั่นรัฐบาลจ่ายเงินประกันรายได้ให้ชาวนาอ่วม 100,000 ล้านบาทเอาไม่อยู่ ด้าน ส.ผู้ส่งออกข้าวไทยชี้ไม่ใช่หาตลาดใหม่ แต่ต้องทวงคืนตลาดข้าวเดิม คาด G to G สูญพันธุ์ ชูนาแปลงใหญ่ลดต้นทุนผลิต-พันธุ์ข้าวใหม่ต้องมา-ค่าบาทต้องไม่เกิน 33 บาท/เหรียญสหรัฐ ถึงไปรอด

หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้กลายเป็น “อดีต” แชมป์ส่งออกข้าวโลก จากปัจจุบันได้หล่นมาเป็นอันดับ 3 ต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 4 โดยภาพรวมของการส่งออกข้าวไทยในปี 2564 ปรากฏทำได้แค่ 6.1 ล้านตัน

แม้ว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ทำได้ 5.7 ล้านตันก็ตาม แต่ก็ยังครองตำแหน่งอันดับ 3 ของโลกเช่นเดิม รองจากเวียดนาม ที่แซงไทยส่งออกได้ 6.2 ล้านตัน ขณะทีอินเดียครองแชมป์ส่งออกข้าวโลก ด้วยปริมาณสูงถึง 20 ล้านตัน

การส่งออกข้าวที่ถดถอยลงของประเทศไทยมีผลมาจากหลายปัจจัย โดย 1 ในนั้น ได้แก่ นโยบายประกันรายได้ ที่ใช้มาถึง 3 ปี ใช้งบประมาณไปแล้ว 161,543 ล้านบาท หรือจ่ายไปมากกว่า “รายได้” จาการส่งออกข้าวคิดเป็นมูลค่า 107,756 ล้านบาท ขณะที่ชาวนาก็มุ่งที่จะซอยย่อยที่ดินลงเพื่อเพิ่มจำนวนครัวเรือน ปลูกข้าวให้ได้มาก ๆ รอรับเงินประกันรายได้ ไม่มีการพัฒนาข้าวพันธุ์ใหม่ ๆ ที่ตลาดต้องการ

ส่งออกต่ำกว่า 10 ล้านตัน

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงภาพรวมตลาดส่งออกข้าวปี 2564 ปรากฏประเทศอินเดีย ยังคงเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ด้วยยอดการส่งออกเกือบ 20 ล้านตัน

รองลงมา ได้แก่ เวียดนาม ส่งออกได้ 6.2 ล้านตัน ไทยได้ 6.15 ล้านตัน หรือเท่ากับเวียดนามส่งออกข้าวมากกว่าไทยถึง 500,000 ตัน แต่ตัวเลขของเวียดนามยังไม่รวมการส่งออกผ่านชายแดนอีกกว่า 1,000,000 ตัน

สำหรับการส่งออกข้าวเวียดนามจำนวน 6.2 ล้านตันนั้น แบ่งเป็น ข้าวจัสมิน 85 ประมาณ 2 ล้านตัน, ข้าวเหนียว 1 ล้านตัน, ข้าวขาวนุ่มพันธุ์ 54, 51 DT 8 อีกประมาณ 2 ล้านตัน ส่วนที่เหลือก็เป็นข้าวแข็งอีก 1-2 ล้านตัน โดยเวียดนามมี “ความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าว จนทำให้สามารถทำราคาข้าวได้”

ขณะที่ไทยส่งออกได้ 6.1 ล้านตัน แบ่งเป็น ข้าวหอมมะลิ 1.2 ล้านตัน, ข้าวหอมไทย (ข้าวหอมปทุมหรือสายพันธุ์อื่นที่ไม่ได้ปลูกใน 19 จังหวัด) อีกประมาณ 300,000-400,000 ตัน, ข้าวเหนียว 200,000 ตัน และข้าวขาว 3 ล้านตัน ซึ่งมีเฉพาะข้าวขาวพื้นแข็ง ส่วนที่เหลือเป็นข้าวนึ่ง 2 ล้านตัน โดยข้าวนึ่งเป็นชนิดข้าวเดียวที่เวียดนามยังไม่มีการพัฒนามากนัก

“ตอนนี้การส่งออกข้าวอันดับ 1 ของอินเดียไม่ต้องพูดถึงแล้ว เพราะห่างกับข้าวไทยแทบจะไม่เห็นฝุ่น โดยอินเดียมีพื้นที่ปลูกข้าวกว่า 600 ล้านไร่ หรือมากกว่าไทย 10 เท่า และล่าสุดอินเดียได้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวใหม่ คือ ข้าวบาสมาติพูซ่า (ขายในราคาต่ำกว่าข้าวหอมมะลิมาก) มีผลผลิตต่อไร่สูง ปลูกได้ตลอดปี

แต่ขายราคาตันละ 600 เหรียญสหรัฐ ส่วนข้าวบาสมาติเทรดิชั่นนอล ราคาตันละ 800-900 เหรียญ ซึ่งขายให้คนที่มีฐานะที่ต้องการบริโภคข้าวชนิดดี ดังนั้นไทยต้องปรับไมนด์เซต ไม่ใช่จะบอกว่า ผมจะปลูกข้าวหอมมะลิอย่างเดียวแล้วจะอยู่ได้อย่างไร โดยข้าวหอมมะลิให้ผลผลิตแค่ 350 กก.ต่อไร่

และไม่หอมเหมือนเมื่อก่อน สภาพภูมิอากาศก็เปลี่ยนแปลงไปจากโลกร้อน แล้วคุณยังจะอยากไปขายข้าวแพง ๆ ได้อย่างไร อนาคตตลาดข้าวไทยก็จะหดไปเรื่อย ๆ ประเทศคู่แข่งก็จะแทนที่คุณ นี่คือการตลาด”

คู่แข่งแย่งตลาดข้าวไทย

สำหรับสาเหตุที่ตลาดข้าวไทย “เพลี่ยงพล้ำ” และหดตัวลงมากในช่วงที่ผ่านมา เป็นเพราะ 1) ข้าวไทย “แพงกว่า” คู่แข่ง ที่ผ่านมาข้าวไทยมีราคาแพงกว่านับ 100 เหรียญ/ตัน ในขณะที่ปัจจุบัน “ความต่างของราคา” ข้าว 5% ของไทยอยู่ที่ 420 เหรียญ,

อินเดีย 338 เหรียญ, เวียดนาม 370 กว่าเหรียญ, ปากีสถาน 358 เหรียญ, เมียนมา 350 กว่าเหรียญ โดยมีข้อสังเกตว่า “ถ้าความห่างของราคาข้าวเกินกว่า 50 เหรียญก็แข่งขันได้ยากแล้ว”

2) พันธุ์ข้าวไทยไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น สมัยก่อนรัฐบาลฟิลิปปินส์ใช้ระบบนำเข้าข้าวแบบ G to G โดยหน่วยงาน NFA นำเข้าด้วยการประมูลซื้อข้าวจากไทยและเวียดนาม ประเทศละ 700,000-800,000 ตัน แต่ภายหลังฟิลิปปินส์เปิดเสรีนำเข้าข้าว คิดภาษี 30%

และเมื่อภาษีสูงขึ้น ฟิลิปปินส์จึงเลือกซื้อข้าวขาวพื้นนุ่มจากเวียดนามที่ราคาถูกกว่าข้าวขาวไทย จึงทำให้ยอดส่งออกข้าวไปฟิลิปปินส์ระหว่างปี 2563-2564 ลดลงเหลือแค่ 70,000-100,000 ตัน จากที่เคยส่งออกถึง 700,000-800,000 ตัน โดยเวียดนามสามารถขายให้ฟิลิปปินส์ได้ถึง 2.4 ล้านตัน

“ภารกิจเราตอนนี้ไม่ใช่การออกไปหาตลาดใหม่ แต่ต้องไปชิงตลาดข้าวเดิมกลับคืนมา อย่างตลาดสิงคโปร์และฮ่องกง ไทยเคยมีส่วนแบ่งตลาด 80-90% หรือปีละ 300,000 ตัน ปัจจุบัน 2 ตลาดนี้ก็หันไปซื้อข้าวเวียดนามมากขึ้น ทำให้ส่วนแบ่งตลาดไทยเหลือประมาณ 50% หรือ 100,000 ตัน

ตลาดแอฟริกาเคยนำเข้าข้าวหอมผสมจากไทยปีละ 700,000-800,000 ตัน ตอนนี้ไม่มีการนำเข้าสักเม็ด เพราะถูกข้าวเวียดนามดึงไปหมด ตลาดออสเตรเลีย ซึ่งเป็นตลาดข้าวหอมมะลิ เวียดนามก็เริ่มรุกเข้าไปแย่งแล้ว ปีก่อนส่งออกได้ 30,000-40,000 ตัน ส่วนอเมริกาและแคนาดาที่เป็นตลาดข้าวหอมมะลิพรีเมี่ยม

ตอนนี้เวียดนามก็เริ่มเข้าไปแล้ว และยังมีข้าวหอมจากกัมพูชาเข้ามาแข่งด้วย เช่นเดียวกับตลาดข้าวหอมในจีนที่ข้าวหอมเวียดนามและกัมพูชาเข้าไป ถ้าไทยยังไม่เปลี่ยนแปลงปรับปรุง ตลาดพรีเมี่ยมข้าวหอมมะลิก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ ส่วนตลาดบริโภคข้าวในประเทศไทย ซึ่งปกติมีอยู่ครึ่งหนึ่ง 10 ล้านตัน ก็ลดลงเช่นกันเพราะนักท่องเที่ยวหายไป 30-40 ล้านคนหลังโควิด” ร.ต.ท.เจริญกล่าว

ที่ข้าวไทยกำลังสูญเสียตลาดส่งออกหลัก ๆ ไปก็เพราะ “ไทยไม่มีข้าวนุ่ม” อย่างปีนี้ก็เพิ่งเริ่มมาพัฒนา “ข้าวพื้นนุ่มพันธุ์ 79” ออกมา แต่ราคายังค่อนข้างสูงหรือแข่งขันไม่ได้ จึงต้องเน้นตลาดในประเทศก่อน อย่างเมื่อ 5-6 ปีก่อน ไทยเริ่มนำ “ข้าวหอมพวง” ของเวียดนามมาปลูก

ตอนนี้มีผลผลิตที่ดีขึ้น ราคาข้าวหอมพวงที่ปลูกในไทยลดลงจาก กก.ละ 16-17 บาท เหลือ กก.ละ 13-14 บาท หรือใกล้เคียงกับราคาข้าวขาวที่ขาย กก.ละ 12-13 บาท ทำให้ปี 2565 จะเริ่มส่งออกข้าวหอมพวงไปเป็นมาตรฐานข้าวหอมไทย

เพราะข้าวตัวนี้สามารถทำราคาส่งออกได้ใกล้เคียงกับ “ข้าวหอมจัสมิน 85” ของเวียดนาม ส่วนข้าวหอมมะลิเดิมที่ไทยเคยแพงมาก ตันละเป็น 1,000 เหรียญ ตอนนี้ต้องลดราคาลงมาเรื่อย ๆ เหลือแค่ 700-800 เหรียญ ส่วนข้าวหอมปทุมขายอยู่ประมาณ 600 กว่าเหรียญเท่านั้น

อนาคต G to G จะหมดไป

ร.ต.ท.เจริญกล่าวถึงปริมาณการส่งออกข้าวในปีที่ผ่านมา 6.1 ล้านตันนั้น “เป็นการส่งออกของภาคเอกชนเป็นหลัก” ส่วนการส่งออกข้าวผ่านระบบรัฐต่อรัฐ หรือ G to G มีเพียง 20,000 ตัน ไปยังตลาดจีน

ส่วนคำสั่งซื้อข้าว G to G กับจีนสัญญาแรกนั้น สถานะตอนนี้เหลืออยู่ประมาณ 300,000 ตัน “ซึ่งก็ค้างมาหลายปีแล้ว ยังหาข้อสรุปไม่ได้”

เพราะหน่วยงานจัดซื้อข้าวของจีน คือ คอฟโก้ ต่อรองราคาข้าวไทยต่ำมาก โดยนำราคาเสนอขายข้าวของไทยไปเทียบกับคู่แข่ง นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มว่า การทำตลาดผ่านวิธี G to G กับทุก ๆ ประเทศ ทั้งฟิลิปปินส์-อินโดนีเซีย-จีนก็จะลดลงไปเรื่อย ๆ เช่นกัน

“ในฐานะที่เป็นสมาคมถือว่า ไม่ใช่ว่าเราอยากจะขายข้าวแบบ G to G การขายวิธีนี้ยุ่งยากมาก ได้ข้าวมาแล้วก็ต้องจัดสรรให้สมาชิกทุกรายอย่างเป็นธรรม เทอมการส่งมอบข้าวแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกัน

อย่างฟิลิปปินส์หินมาก ส่วนอินโดนีเซียหรือจีนกำหนดราคาเป็น CNF หรือหาออร์เดอร์มากระจายให้สมาชิกแล้วต้องหาเรือด้วย เงื่อนไขทางการชำระเงินต้องรอให้ข้าวไปถึงส่งมอบข้าวก่อนจึงจ่ายเงินค่าข้าวกลับมายังรัฐบาลไทย ดังนั้นอนาคตการขายข้าวแบบ G to G ก็จะหายไป” ร.ต.ท.เจริญกล่าว

ประกันรายได้แสนล้านเอาไม่อยู่

ส่วนนโยบายการประกันรายได้ให้กับชาวนาของรัฐบาลนั้น ร.ต.ท.เจริญกล่าวว่า ปีนี้ (2565) รัฐบาลจะต้องใช้เงินประกันรายได้ประมาณ 80,000 บาท บวกเงินค่าปัจจัยการผลิตที่จ่ายเพิ่มให้เกษตรกรอีก 50,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินกว่า 130,000 บาท

ซึ่งใกล้เคียงกับ “รายได้” จากการส่งออกข้าวที่ทำได้ประมาณ 107,756 ล้านบาท “รัฐบาลให้เงินชาวนามาตลอด ทั้งจำนำและประกัน สมัยก่อนประกันรายได้ครอบครัวชาวนามีแค่ 3.6 ล้านคน แต่วันนี้มีถึง 4.8 ล้านคน เพราะมีการซอยที่ดินปลูกข้าวให้เล็กลงเพื่อให้ทุกคนได้รับเงินประกันรายได้ ที่รัฐกำหนดจะจ่ายเงินให้ไม่เกิน 20 ไร่

นี่แหละคือปัญหา ทุกอย่างอยู่ที่การเมืองจะชี้นำไปในทิศทางไหน โดยประกันรายได้ในปีนี้ (2564/2565) มีการอนุมัติงบประมาณในวงเงิน 89,402 ล้านบาท และยังมีเงินอีก 50,000 ล้านบาท ที่เข้าไปช่วยให้ปรับปรุงนา

สองรายการนี้รวมกันแล้วกว่า 100,000 กว่าล้านบาท แต่ประเทศไทยส่งออกข้าวทั้งปีได้แค่ 107,756 ล้านบาท เราขายข้าวทั้งปีได้ 140,000 ล้านบาท ได้เงินกลับมาแค่นี้เอง”

ยังตั้งเป้า 7 ล้านตัน

อย่างไรก็ตาม การที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ตั้งเป้าหมายการส่งออกข้าวปี 2565 ไว้ที่ตัวเลข 7 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 1 ล้านตันนั้น สมาคมมอง “โอกาส” การส่งออกข้าวทุกชนิดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ “ข้าวขาว-ข้าวนึ่ง-ข้าวหอม” ขึ้นอยู่กับการดูแลปัญหาอุปสรรคการส่งออกที่ติดขัด

โดยเฉพาะการขนส่งไปตลาดสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดหลักข้าวหอมมะลิพรีเมี่ยม ค่าขนส่งแพงขึ้นไปหมด เช่น ส่งออกไปนิวยอร์ก ประมาณตู้ละ 18,000 เหรียญ จากเดิม 2,000 กว่าเหรียญ ส่วนที่ไปขึ้นท่าแอลเอ จากเดิม 1,500-2,000 เหรียญ เพิ่มเป็น 13,000-14,000 เหรียญต่อตู้ “แพงมากและยังไม่มีตู้อีก”

และนี่คือปัญหาใหญ่อีกเรื่องหนึ่ง หลังตรุษจีนไปแล้ว 3-4 เดือน ราคาจะเป็นอย่างไร โดยเชื่อว่าตลาดจะเงียบ ส่วนผู้ส่งออกข้าวที่รับราคาสูงไว้ตอนนี้ก็เพราะมีการรับออเดอร์ไว้แล้ว ต้องหาข้าวส่งมอบ

“ปัจจัยสนับสนุนการส่งออกข้าวในปีนี้ คือถ้าซัพพลายเราดี น้ำในเขื่อนทำนาปรังได้ไม่มีปัญหา ปีนี้ทำไปแล้ว 4 ล้านไร่ จาก 2 ปีก่อนที่ถูกสั่งหยุดทำนาปรังเพราะแล้ง สำคัญที่สุดคืออัตราแลกเปลี่ยนต้องอยู่ที่ 33 บาท

อย่าให้ต่ำกว่านั้นจะแข่งขันได้ ราคาส่งออกข้าวขาวจะอยู่ที่ 390-400 เหรียญ หรือคิดเป็นราคาข้าวสารตันละ 12,000 บาท และทอนกลับมาเป็นราคาข้าวเปลือกตันละ 7,500-8,000 บาท” ร.ต.ท.เจริญกล่าว

ใช้นาแปลงใหญ่ลดต้นทุน

สำหรับแนวทางที่สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยผลักดันมาตลอดเวลา และแจ้งแก่สภาเกษตรกรไปด้วย ก็คือ “ชาวนาต้องมีพันธุ์ข้าวที่ตลาดต้องการในราคาที่ผู้ซื้อยอมรับได้” เพราะในวันนี้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยน การบริโภคข้าวลดลง ผู้บริโภคไม่ต้องการแพง ข้าวเป็นอาหารของคนไม่มีเงิน

ดังนั้นต้องมีราคาพอประมาณ-คุณภาพพอใช้ได้ ต้องมีสินค้าหลายตัว เพื่อจะหาเซ็กเมนต์ตลาด ถ้าคุณจะขายพรีเมี่ยมก็ขายไป อย่างข้าวหอมมะลิ แต่ก่อนไทยส่งออกเกือบปีละ 2 ล้านตัน ปัจจุบันเหลือแค่ 1.2-1.3 ล้านตัน “ดังนั้นต้องทำนาแปลงใหญ่เพื่อลดต้นทุนการผลิตลงให้ได้ จากนั้นเรื่องราคาเป็นของตลาดเป็นคนตัดสิน”

“สิ่งที่สำคัญคือ การลดต้นทุนการผลิตด้วยการเพิ่มผลผลิตต่อไป จะทำให้ชาวนาได้รายได้มากขึ้น ไม่ว่าราคาประกันจะขยับไปเท่าไร ถ้าปลูกไร่ละ 350 กก. รายได้ประกันตันละ 15,000 บาท ได้กำไร 30,000-40,000 บาท แต่ถ้าปลูกได้มากกว่านั้น ต้นทุนต่อหน่วยลดลง กำไรก็จะเพิ่มขึ้น การทำนาแปลงใหญ่ไม่ใช่แค่คนมารวมกัน ต้องรวมแปลงใหญ่ให้ได้จริง ๆ

เพื่อใช้เครื่องจักรเข้าไปทดแทนแรงงานคนให้ได้ รัฐบาลเข้าไปสนับสนุน คนที่จะมาบริหารนาแปลงใหญ่ก็ต้องเป็นมืออาชีพ รู้เรื่องตลาดว่าควรจะปลูกข้าวอะไร ช่วงไหน นาข้าวอาจไม่ใช่ปลูกข้าวตลอดปี อาจจะสลับปลูกถั่ว หรือนาพื้นที่เดียวกันแต่ละรายปัญหาก็ไม่เหมือนกัน แปลงหนึ่งอาจจะมีปัญหาภัยแล้ง

แต่อีกแปลงอาจมีปัญหาน้ำท่วม ตอนนี้เอกชนไม่กล้าลงทุนนาเพราะกังวลเรื่องนโยบาย มีบางรายที่ไปทำนาคอนแทร็กต์ฟาร์มมิ่งบ้าง หากจะทำให้สำเร็จก็ต้องเริ่มทดลองทำเป็นโซนนิ่งก่อน 1-2 ที่ ถ้าสำเร็จชาวนาจะทำตามแน่นอน” ร.ต.ท.เจริญกล่าว