10 ปี ส่งออกข้าวไทยพ่าย เวียดนาม-อินเดีย

ส่งออกข้าว

ผู้ส่งออกข้าว ร่วมเสวนา “ข้าวไทย กับ ความต้องการของตลาดโลก” ย้อน 10 ปีที่ผ่านมา ไทยสูญเสียตลาดให้เวียดนาม อินเดีย เพิ่มขึ้น คู่แข่งเร่งพัฒนาพันธุ์ข้าว ขยายตลาด ขณะที่ไทยยังคงปัญหาผลผลิตน้อย พันธุ์ข้าวไม่ตอบโจทย์ ราคาผันผวน หากไม่แก้ไข ตลาดส่งออกข้าวไทยจะลดลงแน่

วันที่ 28 มิถุนายน 2565 นายวันนิวัต กิติเรียงลาภ รองเลขาธิการ บริษัท พงษ์ลาภ จำกัด เปิดเผยในงานเสวนาภายใต้หัวข้อ “ข้าวไทย กับ ความต้องการของตลาดโลก” ว่า การส่งออกข้าวไทยไปในตลาดโลกระยะ 10 ปีที่ผ่านมา ทั้งตลาดข้าวขาว ข้าวนึ่ง และข้าวหอมมะลิ รับว่า

ตลาดข้าวไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งมากขึ้น ทั้งเวียดนามและอินเดีย แม้บางประเทศยังรักษาส่วนแบ่งตลาดได้ แต่หากในอนาคตไทยยังไม่มีการพัฒนาพันธุ์ข้าว คุณภาพข้าวให้คงที่ ราคาข้าวไม่ผันผวน เพื่อแข่งขันในตลาด มองว่าไทยมีโอกาสที่จะเสียส่วนแบ่งตลาดให้กับคู่แข่งได้

โดยเฉพาะตลาดข้าวหอมมะลิในสหรัฐ เพราะที่ผ่านมาเวียดนาม มีปัญหาเรื่องสารตกค้างในข้าว ทำให้ส่งออกข้าวเข้าสหรัฐน้อยลง แต่หากเวียดนามสามารถปลดล็อกปัญหานี้ได้ เวียดนามมีโอกาสขยายตลาดส่งออกข้าวในตลาดนี้ได้ในอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้ไทยเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวหอมมะลิได้

หากไทยยังไม่พัฒนาและทำให้ราคาข้าวไม่ผันผวนจนต่างกับคู่แข่งเกินไป ก็ยังเชื่อว่าจะรักษาตลาดนี้ไว้ได้ เพราะตลาดข้าวหอมมะลิมีความต้องการและเติบโตทุกปี

“ต่างจากตลาดอื่นของไทย เช่น ตลาดมาเลเซีย ซึ่งจะดูในเรื่องของราคา หากราคาดีไม่แพงเกินไป ตลาดก็จะหันมาซื้อกับไทย ต่างจากสหรัฐ ราคาข้าวแพงก็ยังซื้อหากข้าวมีคุณภาพ”

นายรวิสักก์ วนิชจักรวงศ์ กรรมการ บริษัท นครหลวงค้าข้าว จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันเวียดนามมีการพัฒนาพันธุ์ข้าว เช่น Dai Thom 8, Jasmine และ ST21, ST24 ซึ่งขยายไปถึง ST 28 หรือ ที่เข้าใจว่าข้าวขาวพื้นนุ่ม โดยพบว่าการส่งออกข้าวมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เช่น ST 21 ปี 2564 ส่งออกอยู่ที่ 154,000 ตัน สัดส่วน 5.1% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 16,000 ตัน สัดส่วน 0.7% สะท้อนให้เห็นการเติบโตการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้น และครองส่วนแบ่งตลาดข้าวไปในหลายประเทศ

นอกจากนี้ ยังพบว่าราคาข้าวของเวียดนาม ไม่มีความผันผวนเกินไป ราคาข้าวยังคงที่ ทำให้สามารถทำตลาดค้าข้าวกับลูกค้าได้ง่าย ซึ่งต่างจากข้าวหอมมะลิของไทยราคาในตลาดมีความผันผวน ยากต่อการทำราคากับลูกค้า โดยราคาข้าวหอมเวียดนาม อยู่ที่ 473 เหรียญสหรัฐ ไทย อยู่ที่ 962 เหรียญสหรัฐ

สำหรับตลาดหลักในการส่งออกข้าวของของเวียดนาม เช่น ฟิลิปินส์ กานา ไอวอรีโคสต์ อิหร่าน มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง และจีน โดยฟิลิปปินส์ มีสัดส่วนส่งออกถึง 30% ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของเวียดนาม

นายกิติพันธุ์ เหล่าประภัสสร ผู้จัดการฝ่ายการขาย บริษัท สยามเกรนส์ จำกัด กล่าวว่า ผู้ส่งออกหลักในตลาดข้าวหอม มีอยู่ 3 ประเทศ คือ ไทย เวียดนาม และกัมพูชา โดยจะเห็นว่าในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา การส่งออกในตลาดข้าวหอมของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง

หากเทียบกับเวียดนามและกัมพูชาที่การส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น ปี 2008 ไทยส่งออกข้าวหอมอยู่ที่ประมาณ 2 ล้านตัน กลับพบว่า ปัจจุบันส่งออกลดลงมา เมื่อปี 2020 ส่งออกอยู่ที่ 1.6 ล้านตัน ส่วนเวียดนาม ส่งออกเพิ่มขึ้น จาก 7.2 หมื่นตัน มาอยู่ที่ 2.1 ล้านตัน

สำหรับตลาดหลักข้าวหอมมะลิไทย คือ ตลาดสหรัฐอเมริกา สัดส่วน 38% เมื่อปีที่ผ่านมาส่งออกอยู่ที่ 4.4 แสนตัน ฮ่องกง 1.33 แสนตัน จีน 1.30 แสนตัน แคนาดา 6 หมื่นตัน รวมตลาดอื่น ๆ ด้วย

ไทยส่งออกข้าวหอมมะลิไปในตลาดโลกปี 2564 อยู่ที่ 1.1 ล้านตัน ทั้งนี้ จะเห็นว่าปริมาณการส่งออก ข้าวหอมมะลิของไทยลดลงเมื่อเทียบจาก 10 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากไทยสูญเสียตลาดข้าวหอมมะลิให้กับเวียดนาม

โดยเฉพาะในตลาดกานา ไอวอรีโคสต์ กาบอง ซึ่งมีการส่งออกข้าวหอมมะลิลดลงหรือแม้กระทั่งฮ่องกงและจีนเอง ปัจจุบันสัดส่วนการส่งออกข้าวหอมมะลิไปในตลาดนี้ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง จากการที่เวียดนามเข้าไปตีตลาดข้าวหอมไทยได้

นายศรัณยู เจียมสินกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเชียโกลเด้น ไรซ์ จำกัด กล่าวว่า ราคาข้าวไทยในหลายปีที่ผ่านมา ข้าวไทยไม่เคยราคาถูก อีกทั้งราคาข้าวไทยยังไม่เสถียรและไม่คงที่ มีการปรับขึ้นลงอย่างมาก เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างอินเดียหรือเวียดนามเอง บางครั้งราคาห่างตัดคู่แข่งถึง 200 เหรียญสหรัฐต่อตัน

โดยเป็นผลมาจาก ความไม่แน่นอนของผลผลิต ประกอบกับผลผลิตบางครั้งไม่ได้เป็นที่ต้องการ โดยส่งผลให้กับลูกค้าทำตลาดได้ยากขึ้น หากสามารถดูแลไม่ให้ผันผวน ผลผลิตเป็นที่ต้องการ โอกาสที่ไทยยังแข่งขันได้ยังมีและการรักษาตลาดไว้ได้ก็สูงขึ้น

การค้าข้าวในตลาดโลกมีสัดส่วนประมาณ 40-45 ล้านตัน ในขณะที่ผลผลิตต่อปีทั่วโลกอยู่ที่ 500 ล้านตัน ชนิดข้าวที่มีการทำตลาดมากที่สุดคือ ข้าวขาว ข้าวนึ่ง และข้าวหอมมะลิ คิดเป็น 75% ของข้าวทั่วโลก ประเทศที่มีการส่งออกข้าวมากที่สุด คืออินเดีย ไทย และเวียดนาม

โดยข้าวขาวมีปริมาณซื้อขายทั่วโลกอยู่ที่ 21 ล้านตัน ราคาเฉลี่ยที่มีการซื้อ-ขาย อยู่ที่ 350-450 เหรียญสหรัฐต่อตัน ข้าวนึ่ง ปริมาณซื้อขาย อยู่ที่ 7 ล้านตัน ราคาเฉลี่ย อยู่ที่ 380-450 เหรียญสหรัฐต่อตัน ข้าวหอมมะลิ ปริมาณซื้อขาย อยู่ที่ 3.5 ล้านตัน ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 500-1,000 เหรียญสหรัฐต่อตัน