ตั้งสมาคมอาหารอนาคต ปั๊มเศรษฐกิจทะลุ 1 แสนล้าน

วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ

ปัญหาวิกฤตขาดแคลนอาหารและราคาอาหารที่สูงขึ้นทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับธุรกิจอาหารแห่งอนาคต หรือ future food ซึ่งเป็นการนำนวัตกรรมมาต่อยอดวัตถุดิบเกษตรที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทย ล่าสุดตอนนี้ค่ายผู้ผลิตใหญ่-เล็กในแวดวงนี้ซึ่งเดิมเสวนาแลกเปลี่ยนความเห็นกันใน “คลับเฮาส์”

ได้รวมตัวลงหลักปักฐานตั้ง “สมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย” ภายใต้แกนนำ “วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์อาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต หอการค้าไทย

ซึ่งในอีกหมวกคือนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป ผู้คร่ำหวอดในธุรกิจอาหารแปรรูปจากการเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท มหาบูรพาผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด ผู้ผลิตสินค้าผักและผลไม้แปรรูปของไทยมาช้านาน “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษนายกสมาคมป้ายแดงถึงโอกาสอาหารแห่งอนาคตว่า

นิยามอาหารอนาคต

“ตอนนี้มีสมาชิกเริ่มบุกเบิกร่วมกัน ประมาณ 40 ราย สมาคมตั้งมาเมื่อ 2 เดือนก่อนตั้งเป้าหมายว่าปี 2566 จะขยายจำนวนสมาชิก 100 ราย” นิยามอาหารในอนาคตที่ตั้งมาล่าสุดเพื่อให้สอดคล้องกับบริบทของโลก คือ 1) ดีต่อสุขภาพ 2) ดีต่อใจ คือ ดีต่อสิ่งแวดล้อมดีต่อทุก ๆ คนที่เกี่ยวข้องกับเรา ซึ่งพื้นฐานหลัก ๆ เป็นแบบนี้

สินค้าเราเริ่มจากพวกทดแทนเนื้อสัตว์ได้ แต่อนาคตจะมีมากกว่านี้ ตอนนี้กลุ่มที่ทำตลาดได้ดีก็คือกลุ่มแพลนต์เบสโปรตีนี่จากพืชที่สามารถทานแทนเนื้อสัตว์ได้ ที่สำคัญต้องลงลึกไปถึงอนาคตว่าโภชนาการจะไม่แพ้เนื้อสัตว์ ซึ่งอนาคตจะต้องมีเรื่องการหาโปรตีนเสริมมาใส่

เช่น isolate โปรตีน วิธีการสกัดเอาโปรตีนจากพืชที่ราคาไม่แพง มาใส่ มันก็จะมาในรูปแบบที่พัฒนาด้านโภชนาการเรื่อย ๆ บวกกับความอร่อย

เจาะกลุ่มลูกค้า Flexitarial

แพลนต์เบสหยุดกับที่ไม่ได้เรายังต้องทำให้ถูกใจผู้บริโภคมากขึ้นเรื่อย ๆ จะเห็นได้ว่าตลาดต่างประเทศยอดตก มีสาเหตุมาจาก 2-3 เรื่อง เรื่องแรกคือ กำลังซื้อลดลง เพราะว่า plant base เป็นสินค้าที่ยังมีราคาสูง เรื่องที่ 2 นวัตกรรมที่ทำมา ก็ตื่นเต้นในระยะสั้นระยะหนึ่ง ทำตลาดสำเร็จบางกลุ่ม

“ตลาดกลุ่มเป้าหมายที่ได้แล้วคือ กลุ่มที่รับประทานอาหารมังสวิรัติ หรือ vegetarian vegan หรือที่เกี่ยวกับด้านศาสนาไม่ทานเนื้อสัตว์หันมาทานพืชแทน แต่กลุ่มผู้บริโภคที่ใหญ่จริง ๆ ที่เราอยากได้จริง ๆ คือ flexitarial คือ คนธรรมดาที่บางวันก็อยากทานมังสวิรัต

บางวันก็อยากทานปกติ ทานเฉพาะเวลาที่อยากไปพบแพทย์ ซึ่งกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด ถ้าเราสามารถดึงกลุ่มพวกนี้มาเป็นลูกค้าได้จะทำให้ตลาดสินค้าอาหารอนาคตเติบโตอย่างมาก”

ซึ่งการที่จะดึงกลุ่ม flexitarial นี้ได้สินค้าต้องอร่อย เพราะกลุ่มนี้กินเนื้ออร่อยอยู่แล้ว ทำอย่างไรให้เค้าหันมากินแพลนต์เบสได้หลายมื้อ หรือหลายวันติดต่อกัน ยังต้องพัฒนาสินค้าอยู่เรื่อย ๆ

ดังนั้น สมาคมเรานอกจากจะมาหารือกันแล้วต้องไปดึงหน่วยงานต้นทาง อย่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มาอยู่ร่วมกัน และเป็นที่ปรึกษา เพราะเรื่องนวัตกรรมต่าง ๆ หยุดไม่ได้ และก็ยังมีหลายหน่วยงานที่สนใจจะเข้าร่วมเนื่องจากเป็นแหล่งอนาคตของประเทศ เช่น สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.)

หลายหน่วยงานสนใจอยากจะร่วม เพราะเขาเห็นว่าเป็นอนาคตของประเทศไทยจริง ๆ ธุรกิจนี้มีทั้งขนาดใหญ่ เช่น เออาร์บีซี ซีพีแรม เบทาโกร อินโนบิค และขนาดเล็ก กลุ่มผู้ผลิตแพลนต์เบสที่เป็นผู้ประกอบการ SMEs จะทำตลาดอยู่ในประเทศเป็นหลัก และมีกลุ่มทำแบรนด์ที่มีโอกาสที่จะไปต่างประเทศได้บ้าง บางประเทศ แต่ก็ยังไม่ได้มีปริมาณเยอะมาก

ขณะที่บริษัทใหญ่ก็ทำและก็รับจ้างผลิต (OEM) ด้วย เนื่องจากต้องการเพิ่มวอลุ่ม ซึ่งการไปทำตลาดต่างประเทศโดยแบรนด์ตัวเองจริง ๆ อาจจะยาก เพราะว่ามีแบรนด์หลักที่อยู่ในประเทศอยู่แล้ว หากเข้าไปไม่ถูกวิธีก็อาจจะถูกกดดันการแข่งขันได้

“ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs คงไม่ได้ไปแข่งกับธุรกิจใหญ่ที่ผลิตสินค้าปริมาณเยอะแต่อันนี้ไม่ต้องทำเยอะ ทำน้อยแต่มาร์จิ้นสูง ปัญหาคือต้องทำยากหน่อย

ซึ่งจะมีความแตกต่างกันระหว่างผู้ทำขนาดใหญ่และทำตลาดเล็ก ๆ ตลาดใหญ่แน่นอนต้องมีเงินถุงเงินถังเก็บสต๊อกเยอะ และไม่ต้องกลัวจะขายไม่ได้เพราะยังไงก็ขายได้สุดท้ายอยู่ที่ราคา ถ้าถึงจังหวะหนึ่งขายไม่ดีถ้าลดราคาลงไปแข่งเขาก็น่าจะขายได้

แต่เอสเอ็มอีทำอย่างนั้นไม่ได้ เอสเอ็มอีต้องทำอะไรที่ค่อนข้างแม่นยำ ปริมาณอย่าเยอะ เพราะถือสต๊อกเยอะไม่ได้ ยิ่งทำตามคำสั่งซื้อของลูกค้าแต่ละลอต หรือ custom made ได้ยิ่งดี สั่งมาเท่านี้ทำเท่านี้”

ผลกระทบวิกฤตธัญพืชปี’66

วิกฤตธัญพืชสงครามก็คิดว่ายังกระทบอยู่แต่ก็จะน้อยลง เพราะว่าเอาเข้าจริง ๆ แล้ว ประเทศที่เขามีการกีดกันหรือมีปัญหาเรื่องของความขัดแย้งอยู่ ก็ประสบปัญหาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นก็จะคล้าย ๆ กับในอดีตที่เรามีสงครามเย็น เรามีเรื่องของการแซงก์ชั่น

แต่จะยกเว้นให้กับสินค้าที่เกี่ยวกับเกษตรและอาหารเสมอ เพราะเป็นเรื่องของมนุษยธรรม มองว่าอย่างไรในเรื่องนี้จะไม่ถูกเบรกยาว เพราะว่ามีผลกระทบทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศยากจน

ส่วนวัตถุดิบที่ใช้นั้น ปัจจุบันสัดส่วนเกินกว่า 70% ของวัตถุดิบที่นำมาทำแพลนต์เบสมาจากถั่วเหลือง เพราะราคาถูกและมีโปรตีนสูง แต่ต้องนำเข้า ซึ่งวัตถุดิบที่จะสามารถผลิตในบ้านเราและแข่งได้ มีเหมือนกัน คือ ถั่วเขียว

แต่จริงแล้ว ๆ ถ้าไม่ได้มองในแง่ของความเป็นโปรตีน แต่มองในเรื่องเส้นใย หรือเท็กเจอร์เนื้อสัตว์ก็จะยังมีพืชหลายชนิดที่เอามาทดแทนได้อย่าง ไม่ว่าจะเป็นขนุนอ่อน ปลีกล้วย เห็ดแครง มีรสสัมผัสคล้าย และมีรสชาติในตัวเอง

เพนพอยด์ “ราคา” ยังสูง

“อีกหนึ่งเพนพอยต์ที่ต้องแก้เหมือนกันคือ เรื่องราคา ที่อาจจะสูง ซึ่งเรามองว่าพอจริงจังหวะหนึ่งที่ผลิตได้ปริมาณพอสมควรแล้วต้นทุนก็จะลดลง ต้องขอให้รัฐมาช่วยในเรื่องของงานวิจัย เงินทุนที่จะนำเครื่องจักรมาลงทุน เรื่องตลาด”

ส่วนเรื่องการผลิตภาคเอกชนดำเนินการเองอยู่แล้วแต่ทำอย่างไรที่จะนำเครื่องจักรมาช่วย อยากให้รัฐทำเหมือนลีสซิ่ง ช่วยผู้ประกอบการที่หาเงินให้ได้แต่ละเดือนให้มาแบ่งจ่าย 10% เป็นค่าเครื่องจักรไม่นับรวมกำไร เพราะหากจะให้จ่ายทีเดียว SMEs อาจจะไม่ไหว ซึ่งถ้ารัฐเข้ามาช่วยเรื่องนี้ ก็มีโอกาสที่เอสเอ็มอีจะไปข้างหน้าได้

ปี’66 กวาดรายได้แสนล้าน

ปัจจุบันหากคำนวณปริมาณการส่งออกอาหารอนาคต future ออกมาเป็นมูลค่าประมาณ 98,000 ล้านบาท ซึ่งจะแยกกับกลุ่ม functional food/drink ที่มีมูลค่า 99,000 ล้าน ซึ่งสมาคมมองว่าหากสามารถดึงอีกส่วน คือ กลุ่มที่ flexitalian ได้ เฉพาะตลาดในประเทศปีหนึ่ง ๆ คิดเป็น 25% ของประชากร หากทาน 1 มื้อ/วัน/สัปดาห์ มูลค่าอย่างน้อยมื้อละ 100 ล้านบาท คิดเป็น 85,000 ล้านบาทแล้ว

หากรวมทั้งส่งออกอาหารอนาคต และ flexitalian ก็นับว่าเป็นมูลค่าสูงมากที่จะสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ และเป็นทางออกในอนาคตของไทย ไม่ใช่จะพึ่งพาเฉพาะสินค้าเกษตรขั้นพื้นฐานอย่างเดียว แต่จะต้องหันมาพัฒนาด้านคุณภาพ นวัตกรรมแปรรูปให้มากขึ้น