เอกชน ยืนกรานขอรัฐตรึงค่าไฟ ต้นทุนพุ่ง 16% กระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

มิเตอร์ไฟ

เอกชนยืนกรานขอรัฐตรึงค่าไฟ ชี้ต้นทุนพุ่ง 16% กระทบการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เงินเฟ้อสูง หวั่นนักลงทุน FDI เมินไทย

วันที่ 27 ธันวาคม 2565 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประทศไทยเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า รับทราบว่าท่านสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้แจ้งว่าท่านนายกรัฐมนตรีรับทราบถึงข้อกังวลของภาคเอกชน และทราบว่าอาจจะเก็บค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ไม่ถึง 5.69 บาท ต่อหน่วย

แม้ว่าจะมีการปรับค่า Ft ให้ลดลงอีก 20 สตางค์ ก็ยังทำให้การจัดเก็บกลายเป็น 5.49 บาทต่อหน่วย ต้นทุนค่าไฟคงเพิ่มในระดับ 16.3% ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่อยู่ในระดับที่สูงขึ้นอยู่ ภาคเอกชนจึงขอให้รัฐบาลไม่ต้องรีบประกาศขึ้นค่า Ft ในช่วงเดือนมกราคมนี้ และขอให้มีการขยายเวลาออกไปสักระยะหนึ่งก่อน เพื่อให้ตัวแทนภาคเอกชนได้มีโอกาสนำเสนอข้อมูลและพูดคุยหารือกับรัฐบาล เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน

 นายสนั่น อังอุบลกุล

“การปรับค่า Ft ขึ้น ในที่สุดหากผู้ประกอบการแบกรับต้นทุนไว้ไม่ไหว ก็จะต้องทยอยปรับราคาสินค้าให้สะท้อนต่อต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งแน่นอนว่าจะกระทบเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นตามไปด้วย โดยในปีหน้าภาคเอกชนประเมินว่า หากค่า Ft ปรับสูงขึ้นตามมติของ กกพ. ก็จะทำให้เงินเพิ่มขึ้นจากเดิม 0.5% จาก 3.0% เป็น 3.5% ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจ”

ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงข้อมูลที่ภาคเอกชนได้สะท้อนออกมา จะพบว่าผู้ใช้ไฟฟ้าหลักอยู่ในภาคอุตสาหกรรมประมาณ 48% รองลงมาคือภาคธุรกิจบริการ 27% ซึ่งสองภาคนี้รวมกันก็ประมาณ 75% ของการใช้ไฟฟ้าโดยรวมของประเทศ จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณาถึงมิติอื่น ๆ ประกอบด้วย

เพราะในสองภาคนี้มีการใช้ไฟฟ้าที่มาก มีผลโดยตรงกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในขณะที่เกี่ยวพันกับการจ้างงานในระบบหลายล้านอัตรา นอกจากในอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าสูง แม้แต่ห้างสรรพสินค้า หรือโรงแรม ต่างจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก

ดังนั้น หากต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มเติมเข้ามา จะกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ และผู้ประกอบการหลายรายคงต้องปรับแผนการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะกระทบต่อหลายภาคส่วน ดังนั้น การปรับค่า Ft จะมีผลต่อการปรับขึ้นของราคาสินค้า ซึ่งนั้นหมายความว่าของจะแพงขึ้น ท้ายที่สุดประชาชนก็จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากเรื่องนี้ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการฟื้นตัวของภาคธุรกิจและประชาชนในวงกว้าง

อย่างไรก็ตาม จากการที่ภาคเอกชน ได้มีการจัดแถลงข่าวเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 65 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีกลุ่มผู้ประกอบการหลายสาขาไม่ใช่เฉพาะภาคอุตสาหกรรมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาคการค้าปลีก ภาคการท่องเที่ยว และโรงแรม ภาคการก่อสร้าง ที่ต่างเห็นตรงกันว่ารัฐบาลจำเป็นต้องทบทวนแนวทางนี้ให้รอบคอบและชัดเจน และการที่ภาคเอกชนออกมาสะท้อนข้อมูลถือเป็นเรื่องที่ดีที่รัฐบาลจะได้รับฟังข้อเท็จจริงจากผู้เกี่ยวข้อง

ภาคเอกชนหวังว่ารัฐบาลจะได้มีการหารือกับภาคเอกชน เพื่อนำเสนอข้อมูลอย่างละเอียดรอบคอบ เชื่อว่าด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ และการกล้าตัดสินใจของท่านนายกรัฐมนตรี จะได้ให้โอกาสเอกชนเข้าพบและหาทางออกร่วมกัน ก่อนมีการประกาศแนวทาง Ft ในปีหน้า

“สิ่งสำคัญที่ภาคเอกชนออกมาสะท้อนข้อมูลในวันนี้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะในด้านการดึงดูดการลงทุน FDI จากต่างประเทศ ที่กำลังได้รับโมเมนตั้มต่อเนื่องจากการเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยช่วงปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งหากรัฐบาลรับข้อเสนอของเอกชนพิจารณา เชื่อว่าจะช่วยสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างแน่นอน”