เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน ปั๊มไม่ขึ้น ทุ่มงบฯ 5.4 หมื่นล้านบาท เสียเปล่า

ทางเลี่ยงเมือง

หากจะพูดถึงแผนการพัฒนาประเทศ หนึ่งในความสำคัญคือการดึงเม็ดเงินลงทุนเข้ามาให้ได้มากที่สุด และปฏิเสธไม่ได้ว่า “นโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษใน 10 พื้นที่ชายแดน”

หรือโครงการ Special Economic Zone (SEZ) ที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 ครบ 7 ปี มีการตั้งคำถามมาโดยตลอดว่า ยังคงมาถูกทิศถูกทางหรือไม่ ความคาดหวังที่ตั้งไว้จะเสียเวลาเปล่าหรือไม่ เรามาอัพเดตความคืบหน้าของจังหวัดเป้าหมายอย่าง ตาก สระแก้ว มุกดาหาร ตราด สงขลา หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี นราธิวาส และเชียงราย

สระแก้ว สงขลา ตาก บูมสุด

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นหน่วยงานที่เข้ามารับบทบาทในการขับเคลื่อนนโยบาย SEZ ด้วยการพัฒนาและเตรียมความพร้อมในส่วนของพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม รองรับการลงทุนใน 3 จังหวัดที่ต้องรับผิดชอบอย่างสระแก้ว สงขลา และตาก

“นายวีริศ อัมระปาล” ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เผยให้เห็นว่า โครงการ SEZ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว พื้นที่ 660.56 ไร่ งบฯลงทุน 1,660.2 ล้านบาทนั้น ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 100% มีผู้ประกอบการเข้าใช้พื้นที่แล้ว 6 ราย 29.36 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 7%

สำหรับนิคมอุตสาหกรรมสงขลา ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา พื้นที่ 927.93 ไร่ งบฯลงทุน 2,890.4 ล้านบาท ปัจจุบันก่อสร้างระยะที่ 1 แล้วเสร็จ เนื้อที่ 629.43 ไร่ มีผู้ประกอบการทำสัญญาแล้ว 3 ราย พื้นที่ 166.895 ไร่ คิดเป็นสัดส่วน 48%

และนิคมอุตสาหกรรมตาก พื้นที่ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก พื้นที่ 671.50 ไร่ งบฯลงทุน 2,878.1 ล้านบาท กรมธนารักษ์รอส่งมอบพื้นที่ให้ กนอ.เช่า

จากการรวบรวมข้อมูลนับตั้งแต่ปี 2558-ปัจจุบันนั้น ยังพบอีกว่ามีมูลค่าการลงทุนของเอกชนและ กนอ.รวม 38,895.57 ล้านบาท ซึ่งก็จะประกอบไปด้วย การลงทุนที่ได้รับการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

ที่เริ่มดำเนินการลงทุนแล้ว 73 โครงการ เงินลงทุน 18,495 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นกิจการเสื้อผ้าสำเร็จรูป พลาสติก อาหารสัตว์ ยานยนต์ เครื่องจักรและชิ้นส่วนอุปกรณ์ก่อสร้าง โรงพยาบาล ถุงมือยางทางการแพทย์

สภาพัฒน์ลุยต่อ

ทางด้านสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจว่า ยังมีโครงการลงทุนของภาคเอกชนในพื้นที่ซึ่งเป็นที่ดินราชพัสดุ อย่างในจังหวัดตราด กาญจนบุรี และนครพนม ที่มีเงินลงทุนรวม 5,106.02 ล้านบาท

ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ที่เปิดเผยถึงการจัดตั้งธุรกิจใหม่ 6,370 ราย ทุนจดทะเบียนรวม 12,049 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็น SMEs สูงถึง 98% มีทั้งประเภทกิจการก่อสร้างอาคารทั่วไป โลจิสติกส์ ผลิตเสื้อผ้า อสังหาริมทรัพย์ โรงแรม รีสอร์ต ห้องชุด ผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ ผลิตไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์จากไม้แปรรูป

ทั้งยังมีการจัดตั้งเขตปลอดอากรในจังหวัดตาก หนองคาย และสงขลา รวมถึงการตั้งคลังสินค้าทัณฑ์บนในจังหวัดตาก มุกดาหาร สงขลา หนองคาย และเชียงราย เงินลงทุน 510 ล้านบาท ที่ขอรับสิทธิประโยชน์ของกรมศุลกากร

ซึ่งสภาพัฒน์เองยังคงเดินหน้ารับหน้าที่ขับเคลื่อนแผนงาน SEZ ดังกล่าวอย่างเต็มที่ โดยตลอดช่วงระยะของโครงการที่ผ่านมา ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนา SEZ สูงถึง 54,408.62 ล้านบาท

จะเห็นได้ว่าการจัดหาพื้นที่พัฒนาเพื่อนำร่องการลงทุนสำเร็จเพียงไม่กี่แห่ง อย่างในพื้นที่สระแก้ว ที่ได้ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมแล้วเสร็จ และเปิดดำเนินการมาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2562

ตาราง อัปเดตพื้นที่

ปัจจุบันมีนักลงทุนเข้าใช้พื้นที่ดำเนินกิจการแล้ว ส่วนที่สงขลา กนอ.เองก็ได้ก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมระยะที่ 1 แล้วเสร็จ ปัจจุบันมีนักลงทุนเข้าใช้พื้นที่ดำเนินกิจการแล้วบางส่วน

ส่วนอื่น ๆ ยังอยู่ระหว่างการเตรียมหลาย ๆ ส่วน อย่างจังหวัดที่ตราด เอกชนผู้เช่าพื้นที่พัฒนายังคงเตรียมที่จะเริ่มการก่อสร้างตลาดการค้าชายแดน เป้าในระยะต่อไปจะพัฒนาเป็นเมืองศูนย์กลางการท่องเที่ยวนานาชาติและบริการการค้าระหว่างประเทศ

ส่วนนครพนมและกาญจนบุรี เอกชนผู้เช่าพื้นที่พัฒนาอยู่ระหว่างเตรียมการเข้าใช้พื้นที่ เพื่อพัฒนาด้านอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และโลจิสติกส์ กิจกรรมท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม พาณิชยกรรม ศูนย์กระจายสินค้า SMEs OTOP และอุตสาหกรรมทั่วไป นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคืบหน้าการลงทุนแต่ละจังหวัด ซึ่งแผนงานทั้งหมดรัฐยังคงเดินหน้าต่อไป

ชี้เป้าอุตสาหกรรม

สำหรับธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่เหมาะสมต่อการลงทุนใน SEZ ได้แก่ อุตสาหกรรมที่่ใช้แรงงานจำนวนมาก (Labor Intensive) อุตสาหกรรมที่่ต้องพึ่งพาวัตถุุดิบจากประเทศเพื่อนบ้าน ธุรกิจการค้าชายแดนที่่ต้องมีการตั้งคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้าส่งไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน ธุรกิจสนับสนุนการท่องเที่ยว รวมถึงธุรกิจบริการที่่หลากหลาย เพื่อรองรับการขยายตัวของชุมชนในบริเวณเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้

มาตรการ SEZ

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ SEZ ทางด้านบีโอไอยังคงต่อมาตรการทุก ๆ ปี ล่าสุดไม่มีกำหนดสิ้นสุดการยื่นขอรับส่งเสริม จากที่ต้องสิ้นสุดปี 2565 นี้ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะให้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมจากหลักเกณฑ์ปกติ 3 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี

หากเป็นกิจการในกลุ่ม A1 หรือ A2 ซึ่งได้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีอยู่แล้ว ให้ได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 5 ปี

กรณีกิจการเป้าหมาย (14 กลุ่มอุตสาหกรรม) ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 8 ปี (จำกัดวงเงินไม่เกิน 100%) รวมทั้งลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% เพิ่มอีก 5 ปี และยังหักค่าขนส่ง ไฟฟ้า ประปา 2 เท่า เป็นระยะเวลา 10 ปี

ทั้งยังหักค่าติดตั้ง/ก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกได้ 25% ของเงินลงทุน นอกเหนือจากการหักค่าเสื่อมราคาตามปกติ ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร ยกเว้นอากรขาเข้าวัตถุดิบที่ใช้ผลิตเพื่อส่งออก อนุญาตให้ใช้แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือ รวมถึงสิทธิการถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน

เอกชนมอง SEZ ถึงทางตัน

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้นโยบายดังกล่าวจะเป็นเรื่องที่ดี แต่ถึงกระนั้นเป้าหมายการลงทุนที่คาดหวังจะให้เกิดมันกลับไม่เป็นไปตามที่หวัง จะเห็นการลงทุนจาก SMEs และรายเล็กในพื้นที่เท่านั้น ด้วยเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) น่าสนใจบูมการลงทุนมากกว่า และมีการใช้มาตรการเพื่อกระตุ้นให้นักลงทุนอย่างเต็มที่ มีหน่วยงานกำกับ มีกฎหมายชัดเจน

SEZ ที่แม้จะพยายามเท่าไร ก็ยังขาดเสน่ห์ของการลงทุน ความห่างไกลของภาคการขนส่งกับพื้นที่แหล่งวัตถุดิบจึงไม่ตอบโจทย์นักลงทุน

ซึ่งก็ไม่น้อยที่ภาคเอกชนต่างประเมินแนวโน้มของนโยบาย SEZ ไปในทิศทางเดียวกันว่า “มันถึงทางตัน ล้มไม่เป็นท่า” ด้วยหลาย ๆ ปัจจัย ทั้งความพร้อมของพื้นที่ การประชาสัมพันธ์ มาตรการส่งเสริมการลงทุน ความชัดเจนของรูปแบบการลงทุน อุตสาหกรรมที่ส่งเสริมในแต่ละพื้นที่ ความขัดแย้ง หรือแม้แต่ผลประโยชน์ทางด้านการเมืองทั้งหมด ล้วนสร้างความไม่น่าสนใจเอาเสียเลย

แต่อย่างน้อยยังมี 3 จังหวัดที่รัฐได้พยายามปั้นให้สำเร็จ แม้จะเดินทางได้อย่างช้า ๆ ก็น่าจะมีส่วนทำให้พื้นที่บางแห่งได้มีระบบเศรษฐกิจที่ดีขึ้นไม่มากก็น้อย


อย่างไรก็ตาม แม้นโยบายจะดูเหมือนไม่ได้ดั่งที่ใจภาครัฐวางไว้สักเท่าไร ก็ยังพอที่จะเห็นการลงทุน กิจการ SMEs ได้ก่อตัวขึ้นบ้าง ยังคงสามารถสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชนได้ และที่แน่ ๆ ไม่มีใครรู้ดี หรือจะหาคำตอบจากประโยชน์ที่ได้จากนโยบายนี้เท่ากับคนในพื้นที่เอง หวังเพียงว่าจะไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถอดใจและล้มโครงการนี้ไปเสียก่อน