ประกันรายได้ยางพารา เฟส 4 ลุ้นเงินโอนเข้าบัญชีสัปดาห์ที่ 3 เดือน มี.ค.

ยางพารา ยางดิบ
Photo by Jonathan KLEIN / AFP

บอร์ด ธ.ก.ส. ประชุมหารืออนุมัติกรอบวงเงิน 7,600 ล้านบาท ในโครงการประกันรายได้ยางพารา ระยะที่ 4 วันที่ 9 มี.ค.นี้ ชาวสวนยางลุ้นสัปดาห์ที่ 3 เดือนนี้ เงินโครงการประกันรายได้เข้าบัญชี

วันที่ 6 มีนาคม 2566 รายงานข่าวจากคณะกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) หรือ บอร์ด ธ.ก.ส. ระบุว่า วันที่ 9 มีนาคม 2566 นี้ บอร์ด ธ.ก.ส. จะมีการประชุมเพื่อพิจารณาอนุมัติวงเงินในโครงการประกันรายได้ยางพารา ระยะที่ 4 ภายหลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติกรอบวงเงินประมาณ 7,600 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี หลังจาก บอร์ด ธ.ก.ส. เห็นชอบ คณะกรรมการบริหารโครงการระดับจังหวัดทั่วประเทศ จะทำการประชุมเพื่อดำเนินการโครงการ โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มจ่ายเงินส่วนต่างโครงการรายได้ยางพารา ภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมีนาคม 2566 นี้

นอกจาก ครม. เห็นชอบกรอบวงเงินประกันรายได้ยางพารา ระยะที่ 4  ยังเห็นชอบสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินหมุนเวียนให้กับผู้ประกอบการกิจการไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ ในวงเงิน 20,000 ล้านบาท ในระยะที่ 2 มีกรอบระยะเวลา 2 ปี เริ่มตั้งแต่ วันที่ ครม.อนุมัติโครงการ

สินเชื่อหมุนเวียนผู้ประกอบการแปรรูปไม้ยาง

สินเชื่อเป็นเงินหมุนเวียนให้กับผู้ประกอบการกิจการไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์ มีรายละเอียด คือให้การสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการแปรรูปไม้ยางและผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งมีผู้ถือหุ้นที่มีสัญชาติไทยมากกว่า 50% เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนในการรับซื้อไม้ยาง การดำเนินงานกิจการไม้ยาง การขยายกำลังการผลิตและปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิตแก่ผู้ประกอบกิจการไม้ยางพาราและผลิตภัณฑ์

ทั้งนี้ รัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ผู้ประกอบการในอัตรา 3% ต่อปี รวมถึงค่าดำเนินการต่าง ๆ  ในวงเงินรวม 604 ล้านบาท เพื่อเป้าหมาย คือ ลดพื้นที่ปลูกยางให้ได้จำนวน 200,000 ไร่ ราคาไม้ยางต้องไม่ต่ำกว่า 1,500 บาทต่อตัน

สำหรับราคาประกันรายได้ยางพาราในโครงการ แต่ละชนิดแบ่งออกเป็น

  • ยางแผ่นดิบคุณภาพดี 60 บาทต่อกิโลกรัม
  • น้ำยางสด 57 บาทต่อกิโลกรัม
  • ยางก้อนถ้วย 23 บาทต่อกิโลกรัม

แบ่งสัดส่วนรายได้ เจ้าของสวน 60% และคนกรีด  40% ของรายได้ทั้งหมด รายละไม่เกิน 25 ไร่ ระยะเวลาประกันรายได้ 2 เดือน (ตุลาคม-พฤศจิกายน 2565)

ทั้งนี้ เกษตรกรชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนและแจ้งข้อมูลพื้นที่กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2565 มีจำนวนทั้งสิ้น 1,604,379 ราย คิดเป็นพื้นที่ปลูกยางรวมกว่า 18 ล้านไร่ ซึ่งเป็นสวนยางอายุ 7 ปีขึ้นไปที่เปิดกรีดแล้ว


สำหรับโครงการประกันรายได้ยางพาราดำเนินโครงการประกันรายได้มาแล้ว 3 ระยะ ตั้งแต่ตุลาคม 2562 วงเงินรวมทั้งสิ้น 46,682.88 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและผลกระทบในการดำเนินชีวิตของเกษตรกร