ส่องสูตรคำนวณค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. 2566 ให้ถูกลงเหลือ 4.72 บาท/หน่วย

ค่าไฟ

กกพ. เสนอ 3 ทางเลือกสูตรคำนวณค่าไฟงวด พ.ค.-ส.ค. 2566 ให้ถูกลงเหลือ 4.72 บาท/หน่วย

วันที่ 11 มีนาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากแนวโน้มสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร (Spot LNG) มีแนวโน้มราคาลดลง ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ทยอยปรับเพิ่มขึ้น และอัตราแลกเปลี่ยนที่แกว่งตัวในระดับต่ำ ประกอบกับภาคนโยบาย (กพช.) ไม่มีนโยบายขยายเวลาการจัดสรรก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยให้ประชาชนก่อน

ส่งผลให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและประชาชนต้องจ่ายค่า FT ในอัตราเดียวกันที่สะท้อนสมมุติฐานที่ทำให้ค่าใช้จ่ายประมาณการ FT ในรอบ พ.ค.ส.ค. 2566 อยู่ในระดับที่ดี

ดังนั้น กกพ. จึงเสนอรับฟังความเห็น 3 ทางเลือกในการจ่ายคืนภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง (คงค้าง) กฟผ.ภายใต้ 3 ทางเลือก โดยแนวทางเลือกที่ 1 ค่า FT จะอยู่ในอัตรา 293.60 สตางค์ต่อหน่วย แนวทางเลือกที่ 2 จะอยู่ในอัตรา 105.25 สตางค์ต่อหน่วย แนวทางเลือกที่ 3 อยู่ในอัตรา 98.27 สตางค์ต่อหน่วย

คมกฤช ตันตระวาณิชย์
คมกฤช ตันตระวาณิชย์

และแน่นอนว่า การใช้สูตรคำนวนค่าไฟฟ้างวดใหม่เดือน พ.ค- ส.ค. 2566 ของ กกพ.นั้นหวังที่จะให้มีอัตราค่าไฟฟ้าถูกลงเหลือ 4.72 บาท/หน่วย ปัจจัยที่จะส่งผลให้ไปอยู่ในอัตราดังกล่าว คือการที่ประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นพร้อมเหตุผล เพื่อจะนำข้อสรุปทั้งหมดเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดในวันที่ 22 มี.ค.นี้

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการและโฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่าการประมาณการค่าไฟฟ้าดังกล่าวเป็นไปตามประกาศ กกพ. เรื่อง กระบวนการ และขั้นตอนการใช้สูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ โดยมีสมมุติฐานและปัจจัยในการพิจารณาค่า FT ในรอบเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 ตามการประมาณราคาก๊าซจาก ปตท. และผลการคำนวณค่า FT ของ กฟผ. โดยมีปัจจัยที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้

ADVERTISMENT

1.การจัดหาพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 เท่ากับประมาณ 72,220 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 4,387 ล้านหน่วยจากประมาณการงวดก่อนหน้า (เดือน ม.ค.-เม.ย. 2566) ที่คาดว่าจะมีการจัดหาพลังงานไฟฟ้าเท่ากับ 67,833 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 6.47%

2.สัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในช่วงเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 ยังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 57.80% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด นอกจากนี้เป็นการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศ (ลาวและมาเลเซีย) รวม 17.34% ลิกไนต์ของ กฟผ. 7.89% เชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน 7.13% พลังน้ำของ กฟผ. 2.74% น้ำมันเตา (กฟผ. และ IPP) 0.84% น้ำมันดีเซล (กฟผ. และ IPP) 0.03% และอื่น ๆ อีก 6.23%

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ ประมาณการการใช้ก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นถึง 6.75% จากรอบเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 เพื่อรองรับการใช้ LNG เพิ่มมากขึ้นจากแนวโน้มราคา LNG ในตลาดโลกที่มีราคาลดเพื่อทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาในการผลิตไฟฟ้าในช่วงวิกฤตราคา LNG

3.ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่า FT เดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 เปลี่ยนแปลงจากการประมาณการในเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 โดยราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ามีการปรับตัวลดลงอย่างมาก โดยเฉพาะราคา LNG ในตลาดจร ที่ลดลงจาก 29.6 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียูเป็น 19-20 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู

ราคาถ่านหินนำเข้าเฉลี่ยของเอกชนปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยและราคาถ่านหินลิกไนต์ของ กฟผ. ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากค่าใช้จ่ายต้นทุนทำเหมืองลิกไนต์ของ กฟผ. ที่ปรับเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาปรับตัวลดลงเล็กน้อยในรอบเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566

4.อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ ซึ่งใช้อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 1 เดือนย้อนหลังก่อนทำประมาณการ (1-31 ม.ค. 2566) เท่ากับ 33.23 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ้างอิงข้อมูลธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นฐานซึ่งแข็งค่าขึ้นจากประมาณการในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2566 ที่ประมาณการไว้ที่ 35.68 บาทต่อเหรียญสหรัฐซึ่งลดลง 2.45 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ ในการพิจารณาค่า FT ในงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 เป็นการประมาณการค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นโดยอ้างอิงจากข้อมูลจริงเฉลี่ยในเดือน มกราคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกอยู่ในช่วงขาลง ปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยทยอยเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น และค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ กกพ. จะรับฟังความเห็นการทยอยคืนภาระค่าต้นทุนคงค้างให้กับ กฟผ.

โดยยังคงสามารถรักษาระดับค่าไฟฟ้าในอัตราที่เหมาะสมเพื่อให้ กฟผ. มีสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้นพร้อมรองรับสถานการณ์พลังงานโลกและอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังคงมีความผันผวนอย่างรุนแรง จากสถานการณ์รัสเซียยูเครน จากสถานการณ์การกดดันจากประเทศมหาอำนาจในด้านต่าง ๆ บนเวทีโลก และจากความต้องการพลังงานที่จะเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายปี

สำหรับ แนวทางการจ่ายภาระต้นทุนที่เกิดขึ้นจริงให้กับทาง กฟผ. ที่วางไว้ 3 ทางเลือกนั้น ประกอบด้วย ทางเลือกที่ 1. จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 1 งวด เป็นเงินสูงถึง 150,268 ล้านบาท ซึ่งค่า FT เรียกเก็บงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 จะอยู่ที่ 293.60 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) พุ่งไปสูงถึง 6.72 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นแนวทางที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากอัตราดังกล่าวกระทบต่อภาระของประชาชนและภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก

ทางเลือกที่ 2 จ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 5 งวด (20 เดือน) จำนวนทั้งหมด 136,686 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 5 งวด ๆ ละ 27,337 ล้านบาท หรืองวดละ 41.88 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ.ได้รับเงินคืนครบภายในเดือน ธ.ค. 2567 จะส่งผลให้ค่า FT เรียกเก็บงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 อยู่ที่ 105.25 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จะอยู่ที่เป็น 4.84 บาทต่อหน่วย

และทางเลือกที่ 3 คือการจ่ายคืนภาระต้นทุนคงค้างใน 6 งวด (24 เดือน) จำนวนทั้งหมด 136,686 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น 6 งวด ๆ ละ 22,781 ล้านบาทหรืองวดละ 34.90 สตางค์ต่อหน่วยเพื่อให้ กฟผ. ได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี (เม.ย. 2568) จะส่งผลให้ค่า FT เรียกเก็บงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2566 อยู่ที่ 98.27 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้า (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ลดลงมาอยู่ที่ 4.77 บาทต่อหน่วย

สำหรับค่าไฟฟ้าที่รัฐต้องการอยากให้อยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วยนั้นก็สามารถเป็นไปได้ โดยจะให้อยู่ในอัตรานี้ได้ก็อยู่ที่ประชาชนเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นพร้อมเหตุผล ภายในวันที่ 10-20 มี.ค. 2566 จากนั้นจะสรุปผลการแสดงความคิดเห็นทั้งหมดเข้าที่ประชุมบอร์ด ในวันที่ 22 มี.ค. 2566 และเสนอต่อ กพช. เพื่อพิจารณา เพื่อที่จะประกาศอย่างเป็นทางการต่อไปภายในเดือน เม.ย. 2566 ที่จะทำให้มีผลการคิดอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ในรอบงวดถัดไป (พ.ค.-ส.ค. 2566) นั่นเอง