ส่องแผน ปตท. ลงทุน “ไฮโดรเจน” พลังงานอนาคต…แต่ทำไมต้องให้รอ 10 ปี

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

เปิดแผน ปตท. ลงทุน “ไฮโดรเจน” พลังงานอนาคต…แต่ทำไมต้องให้รอนานถึง 10 ปี

วันที่ 3 เมษายน 2566 ปตท. ธุรกิจพลังงานแห่งชาติกำลังเปลี่ยนผ่านสู่จากกาาใช้ฟอสซิล ไปสู่ธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) หลายด้าน ทั้งการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และโดยเฉพาะการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจน ที่กำลังเป็นเทรนด์อยู่ในขณะนี้

พลังงานไฮโดรเจน เป็นพลังงานใหม่ที่ประเทศไทยสนใจ จากเป้าหมายเน็ตซีโร่ได้มีการประมาณการณ์ว่าในปี 2050 พลังงานไฮโดรเจนจะเป็นองค์ประกอบหนึ่ง ของพลังงานสะอาด คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 6% ของการผลิตพลังงานของประเทศ

พลังงานไฮโดรเจนถือว่ามีประโยชน์มากเพราะสามารถนำมาใช้ได้หลากหลาย เช่น จะใช้ในอุตสาหกรรมก็ได้ หรือจะใช้ในการผลิตไฟฟ้าก็ได้ ใช้ในภาคยานยนต์ รวมทั้งสามารถแปลงเป็นสารเคมีที่มีมูลค่าก็ได้ ไฮโดรเจนนับเป็นหัวใจสำคัญในการก้าวไปสู่เน็ตซีโร่

“ยุทธนา สุวรรณโชติ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันนวัตกรรม ปตท. กล่าวว่า ไฮโดรเจนมีพลังงานเข้มข้นกว่าแก๊สโซลีนถึง 3 เท่า และยังสามารถทำตัวเป็นแบตเตอรี่ในกรณีที่เราต้องการสะสมพลังงานไฟฟ้า เราสามารถใช้ไฮโดรเจนเป็นแบตเตอรี่ได้ด้วย และก็สามารถแปรรูปได้ง่าย

ADVERTISMENT

ไฮโดรเจนหลากสี แต่ละสี คืออะไร

หลายคนอาจจะสงสัยว่า การเรียกชื่อ “ไฮโดรเจน” มีการเรียกชื่อเป็นสีต่าง ๆ หมายถึงอะไร

นายยุทธนาอธิบายว่า การแบ่งประเภทไฮโดรเจนจะแบ่งตามหมวดการผลิต ได้ 2 หมวดหลัก คือ หมวดแรกไฮโดรเจนที่ผลิตจากน้ำ คือ เอาน้ำมาแยกไฮโดรเจนออกด้วยกระแสไฟฟ้า เราเรียกว่า วอร์เตอร์อิเล็กโทรไลซิส การแยกไฮโดรเจนด้วยน้ำนี้ก็จะแบ่งเป็นสี ๆ เช่น การแยกน้ำเป็นไฮโดรเจนด้วยไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable) เราจะเรียกว่า “กรีนไฮโดรเจน” (เป็นระดับสีที่เข้าใกล้ซีโร่อิมิชชั่นมากขึ้น)

ADVERTISMENT

หรือหากแยกไฮโดรเจนด้วยไฟฟ้าที่ผลิตมาจากพลังงานนิวเคลียร์ จะเรียก “เรดไฮโดรเจน” ถ้ามาจากกริดธรรมดาทั่วไปเราเรียก “เยลโล่ไฮโดรเจน”

ส่วนหมวดที่ 2 คือการผลิตไฮโดรเจน จากฟอสซิล โดยหลัก ๆ คือผลิตจากมีเทน ซึ่งการผลิตไฮโดรเจนจากมีเทนเรียก “สตรีมรีฟอร์มมิ่ง” ผลิตจากมีเทน ซึ่งการผลิตในหมวดนี้ยังมีการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาด้วย จึงเรียก “เกรย์ไฮโดรเจน” หรือไฮโดรเจนสีเทา)

แต่ถ้ามีการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา แต่ผู้ผลิตมีการกักเก็บคาร์บอนไว้ด้วยเทคโนโลยี (Carbon capture storage : CCS) จะเรียก “บลูไฮโดรเจน” ดีขึ้นมาเพราะไม่ปล่อนคาร์ยอนไดออกไซด์ออกมาสู่ภายนอก เป็นต้น

ทั้งนี้ ใน Value Chain ของไฮโดรเจน โดยปกติจะมีทั้งเกรย์ บลู และกรีน ไฮโดรเจน ลักษณะของไฮโดรเจนจะมาลักษณะเหมือนกันกับแก๊สธรรมชาติ คือ สามารถขนส่งทางท่อ หรือทำเป็นของเหลว เหมือน LNG แล้วขนส่งทางเรือ หรือแปรรรูปเป็นสารเคมีต่าง ๆ เพื่อต่อยอดในเชิงอุตสาหกรรมได้

30 ประเทศใช้งาน ไฮโดรเจน

ปัจจุบัน มีการใช้งานเทคโนโลยีไฮโดรเจน 30 กว่าประเทศทั่วโลก ซึ่งโดยเฉพาะแถบยุโรป สหรัฐอเมริกา และตะวันออกกลาง เพราะพื้นที่เหล่านี้มีความได้เปรียบในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ทั้งลม และโซลาร์ และมีอีกหลายประเทศทีกำลังตระเตรียมพัฒนาไฮโดรเจนต่อไป

ตัวอย่างเช่น อเมริกามีทั้งนโยบายและมีการผลิตไฮโดรเจน นำไปใช้ในมิติต่าง ๆ ทั้งอุตสาหกรรม การขนส่ง และการให้พลังงานความร้อนต่าง ๆ ครบทุกมิติ ส่วนเยอรมนีก็มีการใช้ทั้งในอุตสาหกรรมและการขนส่ง แต่ยังขาดการใช้เป็นพลังงาน ส่วนของจีน และญี่ปุ่น เห็นว่าเน้นไปที่การขนส่ง ส่วนเนเธอร์แลนด์ถือว่ามีการใช้ไฮโดรเจนไปทำประโยชน์ในทุกมิติเช่นกัน ในส่วนของประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศ ที่พยายามจะพัฒนากรีนไฮโดรเจน

โดยขณะนี้ ปตท. กำลังพยายามศึกษาการเตรียมใช้ประโยชน์จากไฮโดรเจน รวมถึงการวางแนวนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์จากไฮโดรเจน ก็อยู่ระหว่างการพิจารณา โดยปกติไทยสามารถผลิตไฮโดรเจนเป็นบายโปรดักต์จากปิโตรเคมี โรงกลั่น และเรามีการทดลองเปิดนำร่องให้บริการสถานีไฮโดรเจน

ลุย 2 โปรเจ็กต์ไฮโดรเจน

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ปตท. กล่าวว่า ธุรกิจไฮโดรเจนก็ถือเป็นพลังงานอนาคตรูปแบบหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ ปตท.มีโครงการหนึ่งที่ศึกษาร่วมกับซาอุดีอาระเบียในการผลิต หรือสร้างกรีนไฮโดรเจนในประเทศไทย

นอกจากนั้น ปตท.ได้ทดลองโครงการไพรอตโปรเจ็กต์ การใช้ไฮโดรเจนไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์โดยร่วมกับโตโยตา ตั้งสถานีบริการไฮโดรเจนที่ อ.บางละมุง เป็นการทดลองว่าการนำไฮโดรเจนมาใช้ในรูปแบบต่าง ๆ มีลักษณะเป็นอย่างไร โครงสร้างต้นทุนเป็นอย่างไร

ทำไมต้องมุ่งพลังงานอนาคต

เหตุผลสำคัญที่ ปตท.ขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพราะแนวโน้มพลังงานในอนาคต จะปรับเปลี่ยนไป จากอิทธิพลหลักคือ “สภาพภูมิอากาศ” เปลี่ยนแปลง ทำให้โลกของเราต้องหันมาใช้พลังงานที่สะอาดมากขึ้น และแนวโน้มสำหรับพลังงานฟอสซิลพลังงานเดิมที่ใช้อยู่จะลดลงในอนาคต

โดยคาดการณ์ว่าถ่านหินจะลดลงเร็วกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ถัดมาคือน้ำมันก็จะลดลงต่อไป ส่วนก๊าซธรรมชาติจะลดลงช้า ปตท.ยังมุ่งเน้นในการขยายธุรกิจก๊าซธรรมชาติ คือ LNG และมุ่งมองหาพลังงานหมุนเวียนอื่นมาพลังงานทดแทน ซึ่งหลัก ๆ จะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์และลม โดยได้วางเป็นเป้าหมายหลักในการทำธุรกิจของ ปตท. ว่าจะเพิ่มสัดส่วนการผลิตพลังงานทดแทนให้ได้ 12,000 เมกะวัตต์ในปี 2030 จากภาพรวมการผลิตทั้งหมด 20,000 เมกะวัตต์ เท่ากับว่าสัดส่วนที่เหลือ 8,000 เมกะวัตต์จะเป็นพลังงานดั่งเดิม

โดยก่อนที่ ปตท. จะออกสตาร์ตตามเป้าหมายนี้ เมื่อ 1-2 ปีก่อน ปตท. มีการผลิตพลังงานทดแทนเพียงประมาณ 500 เมกะวัตต์ จนกระทั่งถึงปัจจุบันสามารถผลิตเติบโตก้าวกระโดดได้ 2,700 เมกะวัตต์

ไฮโดรเจนยังต้องรอ 10 ปี

ซีอีโอ ปตท. กล่าวอีกว่า จากการศึกษาข้อมูลปัจจุบันต้องยอมรับว่าต้นทุนเทคโนโลยีในการผลิตไฮโดรเจนยังมีราคาสูง แต่ก็ต้องศึกษาเพื่อเตรียมรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานในอนาคต

“ไฮโดรเจนมีข้อดีคือเป็นพลังงานสะอาด และยังสามารถใช้เป็นตัวแทนของแบตเตอรี่ได้ เช่น หากเราผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์ช่วงกลางวันมีปริมาณมากกว่าที่เราใช้ก็สามารถทำเก็บเป็นไฮโดรเจนได้ และขนส่งได้ แต่ทว่าในเรื่องราคาต้องยอมรับว่าปัจจุบันราคาไฮโดรเจนยังสูงกว่าพลังงานฟอสซิลอยู่ จากเทคโนโลยีอิเล็กโทรไลเซอร์ที่เป็นตัวช่วยในการใช้ไฟฟ้าไปแยกน้ำเพื่อให้ได้ไฮโดรเจน และยังมีต้นทุนของพลังงานทดแทนที่นำมาใช้ผลิตเป็นไฟฟ้า เพื่อนำไฟฟ้ามาแยกน้ำให้ได้ไฮโดรเจนออกมาก็ยังมีต้นทุนสูง แต่เราก็หวังว่าเทคโนโลยีจะได้รับการพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลงเรื่อย ๆ ในอนาคต อาจจะใข้เวลาอีก 10 ปีข้างหน้า”

แปลงเป็นแอมโมเนีย ลดข้อจำกัด

“นพดล ปิ่นสุภา” ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย ปตท. ระบุว่า ประเด็นที่เป็นข้อจำกัดสำคัญของไฮโดรเจนอีกเรื่องหนึ่งคือ การขนส่ง “ไฮโดรเจน” ซึ่งยังเป็นปัญหาอยู่ ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถขนส่งในแรงกดอากาศปกติได้ ไม่ต้องไปลดอุณหภูมิหรือเพิ่มเพิ่มความดัน นั่นคือ ต้องแปลงเปลี่ยน “ไฮโดรเจน” ให้เป็น “แอมโมเนีย” เหมือนกับการแปลงก๊าซธรรมชาติ (NG) ให้เป็นก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพื่อความสะดวกในการขนส่ง

ซึ่งประเด็นนี้ ปตท. ได้ศึกษาโมเดลของเนเธอร์แลนด์ บริเวณท่าเรือนอร์ธเตอร์ดาม ที่ได้นำ “ถังแอลเอ็นจี”บางส่วนแปลงมาเป็นถังเก็บแอมโมเนีย เพื่อจะช่วยในการส่งไฮโดรเจนได้มีประสิทธิภาพ และที่สำคัญยังช่วยให้มีต้นทุนที่แข่งขันได้

และเมื่อจะเอา ไฮโดรเจนไปใช้ประโยชน์ ก็แยกไฮโดรเจนออกจากแอมโมเนียอีกครั้ง เพราะองค์ประกอบทางเคมี ของแอมโมเนีย จะมีส่วนประกอบของไฮโดรเจนบวกกับไนโตรเจน ฉะนั้นนี่เป็นเทรนด์การใช้พลังงานสะอาดสู่ “ไฮโดรเจน” ในอนาคตนั่นเอง