ปตท. ดันรายได้ปี’66 กว่า 2 ล้านล้าน ราคาน้ำมันอ่อนตัว จ่อปิด 5 ดีล รุกธุรกิจใหม่

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์

ซีอีโอ ปตท. ดันรายได้ปี’66 กว่า 2 ล้านล้าน หลังราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกอ่อนตัวลง เหลือ 80 เหรียญสหรัฐต่ำกว่าปีก่อน เตรียมตรึงราคาขายปลีกช่วยประชาชนช่วงสงกรานต์ เดินหน้าแผนลงทุน 5 ปี 4 แสนล้าน จ่อปิด 5 ดีล รุกธุรกิจใหม่พลังงานแห่งอนาคต ลุ้นปักหมุดโรงงานแพ็กกิ้งแบตเตอรี่ นำร่องประกอบก่อน

วันที่ 27 มีนาคม 2566 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า

ในปี 2566 ปตท.ตั้งเป้าหมายว่าจะมีรายได้ยอดขาย 2 ล้านล้านบาท อาจจะเกือบ 3 ล้านล้านบาท ลดลงจากปี 2565 ซึ่งมียอดขายประมาณ 3.67 ล้านล้านบาท เป็นผลจาก สถานการณ์ราคาพลังงานในตลาดโลกคลี่คลายลง

ทำให้คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกเฉลี่ย 80 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล อ่อนตัวลงต่ำกว่าปีก่อนที่ราคาระดับ 96 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เป็นผลจากความตึงเครียดสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลในส่วนธุรกิจโรงกลั่น

ซึ่งภาพรวมธุรกิจ ปตท.ในปีนี้ หากวิเคราะห์รายสาขามองว่า ปตท.สผ. อาจจะได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ลดลง ดังนั้นจึงได้เตรียมขยายปริมาณการผลิตเข้ามาเพิ่มเพื่อช่วย ขณะที่การเข้าไปสานต่อแหล่งผลิตในส่วนของแหล่งเอราวัณ ขณะนี้มีกำลังการผลิต 200 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน จะเพิ่มเป็น 400 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวันในช่วงกลางปี 2566 และเพิ่มเป็น 600 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวันในปลายปีนี้ 2566 และจะเพิ่มเป็น 800 ล้านลบ.ฟุตต่อวันในปีหน้า

ธุรกิจปิโตรเคมีปีนี้มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปีก่อน ซึ่งได้รับผลกระทบจากการเพิ่มปริมาณซัพพลายของปิโตรเคมีทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น แต่ในปีนี้ความต้องการจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและยังจะมีเพิ่มรายได้ส่วนของปิโตรเคมีมูลค่าสูง ขณะที่ธุรกิจโรงกลั่นปีนี้ ค่าการกลั่นยังอยู่ในแนวโน้มระดับที่ดี ช่วงห่างของราคาน้ำมันดิบกับน้ำมันสำเร็จรูปจะแคบลง ทำให้มีกำไรดีขึ้น

ส่วนธุรกิจค้าปลีกน้ำมันของโออาร์จะได้รับผลดีจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากการเปิดประเทศ คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3.7% ทั้งนี้ ทาง ปตท.เตรียมจะตรึงราคาขายปลีกน้ำมัน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เพื่อช่วยบรรเทาภาระผู้บริโภค และหากสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลง ปตท.ก็พร้อมจะปรับลดราคาลงด้วย อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการคืนหนี้กองทุนเชื้อเพลิงซึ่งยังติดลบ 80,000 ล้านบาท

“ปีนี้ภาพรวมรายได้จะกลับมาสู่ภาวะปกติ 2 ล้านล้านบาท เกือบ 3 ล้านล้านบาท จากที่ยอดขายในปีก่อน 3.6 ล้านล้านบาทสูงขึ้นมาก เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น แต่กำไรในธุรกิจน้ำมันเป็นธุรกิจที่ไม่ได้ มีกำไรสูงมาก เฉลี่ยที่ 3.6% เทียบกับบางธุรกิจที่อาจจะมีกำไร 2 หลัก ถึง 10%”

ส่วนธุรกิจไฟฟ้าก็ปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน เพราะปีก่อนต้นทุนพลังงานสูง แต่ไม่สามารถปรับราคาได้ แต่ในปีนี้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงลดลง สถานการณ์การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในอินเดียปรับตัวดีขึ้น ส่วนธุรกิจใหม่ที่ได้ไปลงทุนไว้ ได้ทยอยให้ผลตอบแทนกลับมาให้ ปตท. เช่น อินโนบิคไปลงทุนในบริษัทโลตัส ก็สามารถสร้างผลประกอบการกลับมาได้แล้วประมาณ 600 ล้านบาท

เดินหน้าแผนลงทุน 5 ปี 4 แสนล้าน จ่อปิด 5 ดีล

นายอรรถพลกล่าวว่า ปตท.จะเดินหน้าตามแผนใช้งบบประมาณในการลงทุน 5 ปี (2566-2570) ที่ผ่านการอนุมัติจากบอร์ดแล้ว 100,227 ล้านบาท โดยในปี 2566 จะลงทุน 33,344 ล้านบาท และที่สำคัญ นอกจากนี้ ปตท.ยังได้เตรียมงบประมาณโปรวิชั่น ส่วนเพิ่มอีกประมาณ 302,168 ล้านบาท รวมเป็น 402,395 ล้านบาท โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาทำสัญญาร่วมลงทุน (ดีล) คาดว่าจะเสร็จอย่างน้อย 5 ดีลในปีนี้ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจร่วมกับพันธมิตรทั้งไทยและต่างประเทศ โดยจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มธุรกิจใหม่

สำหรับแผนการลงทุน 100,227 ล้านบาท แบ่งเป็น การลงทุนในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ 36,322 ล้านบาท การลงทุนในบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 100% มูลค่า 32,773 ล้านบาท การลงทุนในธุรกิจท่อส่งก๊าซธรรมชาติ 18,988 ล้านบาท ธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐานและสำนักงานใหญ่ 8,828 ล้านบาท และธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ และปิโตรเลียมขั้นปลาย 3,316 ล้านบาท

ทั้งนี้ ได้มีโครงการลงทุน อาทิ โรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 7 หน่วยที่ 8 โครงการท่อส่งก๊าซบางปะกง โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกเส้นที่ 5 การขยายการลงทุนของกลุ่ม Innobic (ASIA) การพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดเฟส 3 และการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3

สำหรับประเภทธุรกิจใหม่ของ ปตท. ตามวิสัยทัศน์ใหม่ของ ปตท. ประกอบด้วย กลุ่มพลังงานแห่งอนาคต (Future Energy) 4 กลุ่ม ได้แก่ พลังงานทดแทน ระบบกักเก็บพลังงาน/แบตเตอรี่ ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และไฮโดรเจน ส่วนธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่พลังงาน (Beyond Energy)

ได้แก่ ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science) ทั้งยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม และอื่น ๆ ได้แก่ สินค้าที่มีมูลค่าสูง (High Value Business) ซึ่งเป็นการต่อยอดจากธุรกิจปิโตรเคมี ธุรกิจเกี่ยวกับการขับเคลื่อนและไลฟ์สไตล์ ธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์

“ปตท.มีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จากธุรกิจใหม่ 30% ในปี 2030 (2573) โดยเฉพาะการมุ่งสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยปี 2030 ภาพรวมการผลิตไฟฟ้า ปตท.จะมีกำลังการผลิต 20,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นผลิตพลังงานทดแทน 12,000 เมกะวัตต์ เพิ่มจากปัจจุบันที่มีอยู่ 2,700 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากช่วง 1-2 ที่เราประกาศนโยบายตอนนั้นมีเพียง 400-500 เมกะวัตต์ ซึ่งตอนนั้นพอร์ตพลังงานทดแทนจะมากกว่าพลังงานคอนเวนชั่นนอลจะเหลือเพียง 8,000 เมกะวัตต์”

EV Value Chain

นายอรรถพลกล่าวถึงแผนการขยาย EV Value Chain ว่า ตามที่ ปตท.ได้ลงทุนโรงงานร่วมกับฟ็อกซ์คอนน์เพื่อก่อสร้างโรงงานรับจ้างผลิต (OEM) รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งจะเสร็จในปี 2567 กำลังการผลิต 1 ล้านคันแล้ว โดยได้มีการหาตลาดพัฒนาทั้งจักรยานยนต์ และรถโดยสาร

ซึ่งไม่เพียงเท่านั้น ปตท.ยังมองถึงการขยายสู่ธุรกิจที่เกี่ยวข้องในซัพพลายเชนของอีวีด้วย โดยได้การพัฒนาปิโตรเคมีเป็นวัสดุสำหรับใช้เป็นส่วนประกอบในรถอีวี และได้เข้าซื้อหุ้นใน CATL ซึ่งเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจแบตเตอรี่ เพื่อร่วมทำธุรกิจดึงการลงทุนมาที่ประเทศไทย

และล่าสุดอยู่ระหว่างการเจรจาร่วมกับพันธมิตร NV GOTION จากประเทศจีน ตั้งบริษัทร่วมทุนในการผลิตโรงงานแพ็กกิ้งแบตเตอรี่ ซึ่งการตั้งโรงงานนี้ไม่ใช่แค่นำเข้าเซลล์แบตเตอรี่มาบรรจุ แต่สิ่งสำคัญจะต้องมีการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมการวางประกอบ เพื่อให้สอดคล้องกับการใช้งาน เช่น แพ็กสำหรับรถยนต์ก็อีกแบบ แพ็กสำหรับกักเก็บพลังงานอีกแบบ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือเพื่อประเมินถึงความต้องการใช้

ด้านการขยายสถานีชาร์จอีวีปีนี้เป้าหมายด้านการให้บริการผู้ใช้รถอีวีทั่วประเทศ โดยในส่วนของ Onion 643 สาขา และในส่วนของโออาร์อีก 131 สาขา นอกจากนี้ จุดสวอปแบตเตอรี่ 20 จุด และมีการจัดทำบริการแอปพลิเคชั่น EV Me ซึ่งมีรถให้บริการมากกว่า 600 คัน อัตราเช่าสูงถึง 70% และยังมีบริการหลังการขายเกี่ยวกับซ่อมอีวี

smart energy platform

นายอรรถพลยังได้นำร่องร่วมกับดับบลิวเอชเอ ในการจัดทำ smart energy platform ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มในการซื้อขายและแลกเปลี่ยนไฟฟ้า โดยเรามีการทำเรื่องใบรับรองการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (REC) โดยผู้ผลิตพลังงานทดแทนเข้ามาลงทะเบียนและเข้าไปใช้การรับรองได้ใช้พลังงานสะอาด

ส่วนธุรกิจไฮโดรเจน ได้มีการศึกษาร่วมกับซาอุดีอาระเบีย และได้ร่วมกับทางโตโยต้าตั้งสถานีทดลองสำหรับเติมก๊าซไฮโดรเจน ซึ่งมองว่าธุรกิจนี้ยังมีระดับต้นทุนเทคโนโลยียังต้องลงทุนสูง ต้องอาศัยระยะเวลาพัฒนาอีกประมาณอย่างน้อย 5-10 ปี เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุน

เตรียมเปิดบริการซูเปอร์แอป “ไลฟ์สไตล์”

ขณะที่ธุรกิจใหม่ ในกลุ่มที่มากกว่าพลังงาน กลุ่มเคลื่อนที่และไลฟ์สไตล์ (Mobility & Life Style) นั้น โออาร์เตรียมจะเปิดให้บริการแอปพลิเคชั่นที่ให้บริการไลฟ์สไตล์เต็มรูปแบบในช่วงกลางปีนี้