EEC ชงตั้งบอร์ดปรับขึ้นค่าน้ำ นิคมผวาศึกแย่งน้ำบานปลาย

ศึกแย่งน้ำ EEC บานปลาย ลูกค้านิคมอุตสาหกรรมกังวลรับน้ำโดยถูกต้อง-ผวาผู้ประกอบการขึ้นค่าน้ำ ด้านนิคมอุตสาหกรรมรับต้องเจรจากับทุกฝ่าย สกพอ.เตรียมชงรัฐบาลหน้าตั้งหน่วยงานกลางกำกับดูแลค่าน้ำใน EEC อีสท์วอเตอร์ยืนยันช่วงปี 2566-67 ยังคงตรึงค่าน้ำต่อไป วงษ์สยามเร่งแก้ปัญหาขอจัดสรรโควตาน้ำกับกรมชลประทาน

ศึกแย่ง “น้ำ” ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ยังดำเนินต่อไป แม้ว่าบริษัทจัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ อีสท์ วอเตอร์ ได้ทยอยส่งมอบทรัพย์สินอันเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลัง ในโครงการบริหารและดำเนินกิจการระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก

ได้แก่ โครงการท่อส่งน้ำดอกกราย โครงการท่อส่งน้ำหนองปลาไหล-หนองค้อ และโครงการท่อส่งน้ำหนองค้อ-แหลมฉบัง (ระยะที่ 2) ให้กับกรมธนารักษ์และผู้ประกอบการรายใหม่ที่ชนะการประมูล คือบริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง

ทว่าการส่งมอบท่อส่งน้ำดิบดังกล่าว ไม่ได้รวมไปถึง “น้ำ” ที่ผู้ประกอบรายใหม่จะต้องจัดหาให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดย อีสท์ วอเตอร์ ยังคงมี “โควตาน้ำ” ที่ได้รับการจัดสรรจากกรมชลประทาน ในขณะที่บริษัทวงษ์สยาม ซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้สูบน้ำดิบจากแหล่งน้ำในอ่างเก็บน้ำของกรมชลประทาน

โดยประเด็นนี้ได้สร้างความกังวลใจให้กับ “ลูกค้า” ในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่รับน้ำจากบริษัทวงษ์สยาม ทั้งในเรื่องของ “น้ำ” ที่จัดส่งผ่านท่อมาให้นั้นเป็น “น้ำ” ที่มีการดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ทั้งยังกลัวว่าผู้ประกอบการส่งน้ำอาจจะมีการปรับขึ้นค่าน้ำตามที่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์กัน

เนื่องจาก “ต้นทุน” ในการจัดหาน้ำเพิ่มขึ้น ประกอบกับในอนาคตอาจจะเกิดการขาดแคลนน้ำจากปรากฏการณ์เอลนีโญ่ในฤดูแล้งหน้าได้

กนอ.ให้ทุกฝ่ายเจรจาหาทางออก

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวถึงความกังวลของผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมประเด็นการขึ้นค่าน้ำ แม้ว่าปัจจุบันจะมีผู้บริหารจัดการน้ำในภาคตะวันออกถึง 2 รายแล้วว่า อีสท์ วอเตอร์ ได้ส่งหนังสือแจ้งให้กับผู้ใช้น้ำรับทราบว่าจะไม่มีการปรับขึ้นค่าน้ำดิบที่ส่งเข้ามายังพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในช่วงระหว่างปี 2566-2567

จากสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ทั้งค่าพลังงาน ค่าไฟฟ้า ค่าครองชีพ ทำให้ต้นทุนจัดหาน้ำทุกอย่างเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่อีสท์วอเตอร์ ก็ยืนยันมาแล้วว่าจะไม่มีการปรับขึ้นค่าน้ำในช่วง 2 ปีนี้แน่นอน

ในส่วนของ กนอ.เองในฐานะที่เป็นทั้งภาครัฐถือหุ้นในอีสท์ วอเตอร์ และยังมีสถานะเป็นผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม จึงมีความ “จำเป็น” ที่ต้องเจรจากับทุกฝ่ายให้เข้าใจถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน ทั้งเรื่องสัญญาของการส่งน้ำจากทางอีสท์ วอเตอร์ และการดูแลนิคมอุตสาหกรรมของเอกชน เพื่อไม่ให้ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้

ส่วนกรณีที่อีสท์ วอเตอร์จะหมดสัญญาการส่งน้ำเข้ามาในพื้นที่นิคมในปลายปี 2566 นี้ แนวทางขณะนี้ยังต้องรอให้กรมชลประทานกับกรมธนารักษ์พิจารณา จากนั้น กนอ.จะตัดสินใจว่าจะต่อสัญญากับทางอีสท์วอเตอร์ หรือจะซื้อน้ำจาก บริษัทวงศ์สยาม แทน

ทั้งนี้ หนังสือของ อีสท์ วอเตอร์ เรื่องราคาค่าน้ำดิบปี 2566-2567 ทำถึง ผู้ว่าฯ กนอ.ลงวันที่ 20 กันยายน 2565 ระบุไว้ว่า แม้บริษัทจะได้รับผลกระทบสภาพเศรษฐกิจ ค่าพลังงาน CPI และค่า Ft ที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น อันมีสาเหตุสำคัญจากภัยสงคราม ความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครนและภาวะโรคระบาด ส่งผลกระทบให้ต้นทุนภาคธุรกิจ ภาคอุปโภค-บริโภค และการบริหารส่งจ่ายน้ำดิบเพิ่มสูงขึ้น

บริษัทในฐานะผู้รับผิดชอบบริหารและจัดการการน้ำภาคตะวันออกที่ก่อตั้งโดยรัฐและรัฐเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ มีพันธกิจหลักสร้างความมั่นคงและรักษาเสถียรภาพด้านแหล่งน้ำให้แก่ผู้ใช้น้ำ

ดังนั้นบริษัทยังคงอัตราค่าน้ำตามประกาศโครงสร้างค่าน้ำ ณ วันที่ 17 ธันวาคม 2563 และจะชะลอการใช้สูตรการปรับอัตราค่าน้ำอัตโนมัติต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 2 ปี

EEC ให้ตั้งหน่วยงานกลางค่าน้ำ

ต่อความกังวลใจของผู้ใช้น้ำในนิคมอุตสาหกรรมข้างต้น นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC กล่าวว่า เรื่องน้ำในพื้นที่ EEC ค่อนข้างที่จะมีผลต่อการพิจารณาตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน และปัจจุบันยังไม่มี “หน่วยงานกลาง” ในการเจรจาจัดทำราคาค่าน้ำ

ดังนั้น การพิจารณาปรับขึ้นค่าน้ำจึง “ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตน้ำ” และไม่มีการประชุมหารือกับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งต้องรับภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายส่วนนี้

โดยเบื้องต้นทางออกเรื่องน้ำใน EEC ที่เร็วที่สุดก็คือ การให้ผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรม และ กนอ. เร่งเจรจาต่อรองกันก่อน ขณะที่ สกพอ.จะเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือบอร์ด EEC ชุดใหญ่ ภายใต้รัฐบาลชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศเพื่อขอให้มีการตั้ง “หน่วยงานกลาง” ขึ้นมาดูแลเรื่องค่าน้ำเพื่อให้เกิดการพิจารณาค่าน้ำอย่างเหมาะสม

“เราคุยกันมาตลอดว่า ต้องมีหน่วยงานกลางดูเรื่องราคาน้ำเหมือนเรื่องค่าไฟฟ้า เพราะ ถ้ามันไม่มีใครเป็นตัวกลางปัญหามันก็จะเกิดขึ้นทุกครั้ง จากปัจจุบันค่าน้ำจะคิดเป็นค่าเฉลี่ยระหว่างภาคอุตสาหกรรมกับครัวเรือน ยิ่งตรงนี้เรายิ่งไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบกับทุกส่วน” นายจุฬากล่าว

อีสต์วอเตอร์ไม่ขึ้นค่าน้ำถึงปี 67

ล่าสุดนายบดินทร์ อุดล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายปฏิบัติการ อีสท์ วอเตอร์ กล่าวว่า ขณะนี้สถานะการส่งมอบทรัพย์สิน (ท่อส่งน้ำ) ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล สิ่งที่เกิดขึ้นทุกอย่างเป็นคอนซีเควนซ์ของการตัดสินใจดำเนินการ จึงอยากให้ถามไปยังหน่วยงานภาครัฐทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมากกว่า เพราะเรื่องน้ำเป็นเรื่องที่ต้องบูรณาการทำงานทุกภาคส่วน

สำหรับการดำเนินการของบริษัทขณะนี้ยังสามารถส่งน้ำให้กับลูกค้าที่ทำสัญญาไว้ได้ปกติ ไม่มีปัญหา ทั้งบริษัทยังได้ตรึงราคาค่าน้ำไว้ตามเดิม ตามประกาศที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้านี้ โดยยังไม่มีการยกเลิกแต่อย่างใด

ทั้งนี้ หนังสือแจ้งค่าน้ำของ อีสท์ วอเตอร์ ฉบับล่าสุดลงนามโดยนายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ที่มีไปถึงผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สาระสำคัญระบุว่าจะตรึงค่าน้ำ 2 ปีระหว่างปี 2566-2567 ไว้ในระดับเท่ากับที่ประกาศในปี 2563 แม้บริษัทจะประสบภาวะต้นทุนด้านการลงทุนและการดำเนินการที่เพิ่มขึ้น และด้วยภารกิจที่บริษัทผู้รับผิดชอบบริหารและจัดการระบบโครงข่าย เพื่อส่งจ่ายน้ำในพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออก มีภาระในการสร้างความมั่นคงและรักษาเสถียรภาพด้านแหล่งน้ำให้แก่ผู้ใช้น้ำในพื้นที่ให้บริการ

และรวมถึงการกำหนดราคาค่าน้ำที่เหมาะสม ไม่ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของทั้งภาคอุตสาหกรรม และผู้ใช้น้ำในพื้นที่ให้บริการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงพิจารณา “ตรึงค่าน้ำ” เพื่อแบ่งเบาภาระลดผลกระทบต่อผู้ใช้น้ำและผู้ประกอบการ

โควตายังเป็นของอีสท์ วอเตอร์

ส่วนกรณีของบริษัทวงษ์สยามก่อสร้าง ที่ส่งน้ำให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรม 6 ราย ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรม WHA 1-3, นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง, นิคมอุตสาหกรรมโรจนะบ่อวิน, ยูนิเวอร์แซลบ่อวิน, ชุมชนหมู่บ้านจัดสรรเนินสามชั้น และชุมชนหมู่บ้านจัดสรรหนองไก่ โดยลูกค้าผู้รับน้ำจากบริษัทวงษ์สยาม กังวลว่าน้ำที่ได้รับมานั้นเป็น “น้ำ” ที่ถูกจัดสรรโดยถูกต้องตามระเบียบของกรมชลประทานหรือไม่

เนื่องจากบริษัทวงษ์สยามจะไม่ได้รับโควตาการจัดสรรน้ำจากกรมชลประทาน ซึ่งแตกต่างไปจาก อีสท์ วอเตอร์ ที่มีสัญญาการจัดสรรน้ำกับกรมชลประทานไว้แล้วในปริมาณ 120 ล้าน ลบ.ม.ต่อปีนั้น

นายประพิศ จันมา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า เรื่องการใช้น้ำระหว่าง อีสท์ วอเตอร์ กับ วงษ์สยาม “เป็นเรื่องระหว่างเขา” ซึ่งในส่วนของกรมชลประทานจะดูแลการใช้น้ำ โดยหลักก็คือ ใครก็ตามที่จะขอใช้น้ำต้องทำเรื่องมายังชลประทานจังหวัดนั้น ๆ โดยจะต้องมีองค์ประกอบ 3 เรื่องคือ วัตถุประสงค์ เครื่องมือ และปริมาณน้ำต้นทุนที่กรมชลประทานจะต้องบาลานซ์

“ในส่วนของอีสท์ วอเตอร์ ถือว่าเป็นผู้ใช้น้ำรายเดิมที่มี MOU กับเรา มีโควตาการใช้น้ำเดิมอยู่แล้ว ส่วนรายใหม่ที่ยื่นขอใช้น้ำก็ต้องยื่นมาตามหลักการองค์ประกอบ 3 เรื่องคือ วัตถุประสงค์ เครื่องมือ และปริมาณน้ำต้นทุน ซึ่งเท่าที่ทราบบริษัทวงษ์สยามได้ทำเรื่องยื่นไปยังชลประทานจังหวัดแล้ว แต่เอกสารอาจจะยังไม่ครบ” นายประพิศกล่าว

มีรายงานข่าวเข้ามาว่า ทางบริษัทวงษ์สยามได้ยื่นเรื่องขอใช้น้ำในปริมาณ 12 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาเรื่องการสูบน้ำเฉพาะหน้าให้ถูกต้อง การพิจารณาว่าวงษ์สยามจะได้รับการจัดสรรโควตาน้ำหรือไม่ในปริมาณที่เท่าไหร่ จึงขึ้นอยู่กับกรมชลประทาน ปัญหาของโควตาการจัดสรรน้ำก็คือ กรมชลประทานได้อนุมัติโควตาให้กับอีสท์ วอเตอร์ ไปแล้วในปริมาณ 120 ล้าน ลบ.ม

นั้นหมายความว่าอีสท์ วอเตอร์ คือผู้ที่ได้รับสัมปทาน และมีสัญญาเป็นผู้ส่งน้ำ สามารถสูบน้ำจากแหล่งน้ำดิบที่ กรมชลประทานอนุญาตได้โดยไม่ผิดกฎหมาย และก็ยังไม่ได้หมดสัญญาในตอนนี้

โดยปริมาณน้ำที่อีสท์ วอเตอร์ได้รับการจัดสรรคิดเป็นร้อยละ 70 จากแหล่งน้ำที่ได้รับอนุญาต เท่ากับปริมาณน้ำคงเหลือที่จะจัดสรรให้กับ บริษัทวงษ์สยาม นั้นเหลือน้อยมาก หรือไม่มีเลย ขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำ “ส่วนเกิน” ที่จะได้รับจากฤดูฝนนี้ หรือจะต้องแบ่งน้ำมาจากโควตาจัดสรรน้ำของอีสท์ วอเตอร์


ซึ่งบริษัททั้ง 2 เป็นคู่แข่งขันกันในพื้นที่ EEC อยู่แล้ว จนกลายเป็นความลำบากใจของกรมชลประทานจะแก้ไขปัญหาโควตาน้ำให้กับคนที่มีท่อส่งน้ำ แต่ไม่มีน้ำจะส่งให้กับลูกค้าอย่างถูกต้องได้อย่างไร