
ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนต์ปรับตัวลดลงหลังกังวลเฟดคงอัตราดอกเบี้ย ท่ามกลางรัสเซียประกาศระงับส่งออกน้ำมันทั่วโลก
วันที่ 22 กันยายน 2566 หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ดังนี้ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส และเบรนต์ปรับตัวลดลง หลังยังคงได้รับแรงกดดันต่อเนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี อีกทั้งส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งภายในสิ้นปีนี้ และส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปีหน้า ส่งผลให้ตลาดมีความกังวลว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงจะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมัน
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เข้าบัญชีวันนี้ 5 จังหวัด
- เช็กเงื่อนไขกู้ “ออมสิน” ปลดหนี้นอกระบบ คุณสมบัติผู้กู้ต้องมีอะไรบ้าง ?
- 10 อันดับเมืองที่ค่าครองชีพสูงที่สุดในโลก ปี 2023
โดยราคาน้ำมันเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 21 ก.ย. 2566 อยู่ที่ 89.63 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -0.65 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันเบรนต์อยู่ที่ 93.30 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง -0.23 เหรียญสหรัฐ
รัสเซียประกาศระงับการส่งออกน้ำมันเบนซินและดีเซลเป็นการชั่วคราวต่อทุกประเทศในโลก ยกเว้นอดีตสมาชิกสหภาพโซเวียต ได้แก่ เบลารุส คาซัคสถาน อาร์เมเนีย และคีร์กีซสถาน โดยมีผลบังคับใช้ในทันทีเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดเชื้อเพลิงในรัสเซีย หลังหลายพื้นที่ในรัสเซียขาดแคลนน้ำมันเบนซินและดีเซลในช่วงที่ผ่านมา
กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกปรับลดลง 20,000 ราย สู่ระดับ 201,000 รายในสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 225,000 ราย
และเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่เดือน ม.ค. 66
ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในฟิลิปปินส์ลดลง อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงหนุนจากปริมาณการส่งออกของอินเดียในเดือน ส.ค. 66 ที่ปรับลดลง 6.69% จากเดือนก่อนหน้า เป็นผลจากอุปทานภายในประเทศที่ปรับลดลงในช่วงการปิดซ่อมบำรุงของโรงกลั่น
ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้นสวนทางราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังอุปทานของเวียดนามปรับลดลงในช่วงปิดซ่อมบำรุงตามแผนของโรงกลั่นภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม ตลาดได้รับแรงกดดันจากอุปสงค์ในอินเดียที่ปรับลดลงจากภาคการเกษตร