Easy E-Receipt-ท่องเที่ยว หนุนดัชนีเชื่อมั่นหอการค้า ม.ค. 67 เพิ่มขึ้นจาก ธ.ค. 66

Easy E-Receipt

สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยอยู่ที่ระดับ 54.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนที่ผ่านมา เอกชนชี้มาตรการกระตุ้น Easy E-Receipt ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2567 บวกแรงหนุนจากท่องเที่ยว ฟรีวีซ่า

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายยุทธศาสตร์และผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) เดือนมกราคม 2567 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ ทั้งในภูมิภาคและแต่ละจังหวัด จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 24-31 มกราคม 2567 พบดัชนีหอการค้าไทย อยู่ที่ระดับ 54.8 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 54.7 ในเดือนธันวาคม 2566

วชิร คูณทวีเทพ
วชิร คูณทวีเทพ

โดยการสำรวจสถานการณ์เศรษฐกิจของจังหวัด พบว่าเศรษฐกิจโดยรวมในปัจจุบัน 37.9 มองว่าไม่เปลี่ยนแปลง 36.5 มองว่าดีขึ้น และ 25.6 มองว่าแย่ลง ขณะที่การบริโภคภายในจังหวัดส่วนใหญ่ 48.6 มองว่าดีขึ้น การลงทุนของภาคเอกชนส่วนใหญ่ 46 มองว่าแย่ลง การท่องเที่ยวส่วนใหญ่ 52.2 มองว่าแย่ลง

ขณะที่การคาดการณ์หกเดือนข้างหน้าเศรษฐกิจโดยรวมของจังหวัด ส่วนใหญ่ 49.7 มองว่าดีขึ้น การบริโภคภายในจังหวัด ส่วนใหญ่ 52.3 มองว่าดีขึ้น การลงทุนของภาคเอกชนในจังหวัดส่วนใหญ่ 49.5 มองว่าดีขึ้น การท่องเที่ยวในจังหวัดส่วนใหญ่ 48.5 มองว่าแย่ลง

นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค

  • กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีอยู่ที่ 54.5 เพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 54.2
  •  ภาคกลาง ดัชนีอยู่ที่ 54.8 เพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 54.7
  • ภาคตะวันออก ดัชนีอยู่ที่ 57.4 เพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 57.3
  • ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีอยู่ที่ 53.6 เพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 53.4
  • ภาคเหนือ ดัชนีอยู่ที่ 55.0 เพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 54.7
  • ภาคใต้ ดัชนีอยู่ที่ 53.9 เพิ่มขึ้นจากเดือน ธ.ค. ซึ่งอยู่ที่ 53.7

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้า

ปัจจัยบวก ได้แก่

ADVERTISMENT
  1. มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ 2567 เช่น มาตรการ Easy E-Receipt ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 2567
  2. นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมากขึ้นในช่วงของเทศกาลปีใหม่ ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น
  3. การยกเว้นการยื่นวีซ่านักท่องเที่ยวให้กับบางประเทศ เป็นการช่วยลดค่าครองชีพในการดำเนินชีวิต และการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้ขยายตัวได้ดีขึ้น
  4. ภาคท่องเที่ยวและบริการภายในประเทศเริ่มดีขึ้น ผลมาจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่ประชาชนจะเดินทางกลับภูมิลำเนา
  5. การส่งออกของไทยเดือน ธ.ค. 2566 ขยายตัว 4.7% มูลค่าอยู่ที่ 22,791.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่การนำเข้าลดลง 3.1% มีมูลค่าอยู่ที่ 21,818.75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้เกินดุลการค้า 972.80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  6. ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศยังคงอยู่ในระดับทรงตัว โดยอยู่ที่ระดับ 29.94 บาท/ลิตร ณ สิ้นเดือน ม.ค. 67
  7. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัว ส่งผลให้เกษตรกรเริ่มมีรายได้สูงขึ้น และมีกำลังซื้อในต่างจังหวัดเริ่มปรับตัวดีขึ้น

ปัจจัยลบ ได้แก่

  1. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2566 โดยคาดว่าจะขยายตัว 1.8% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.7% ส่วนในปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.8%
  2. ความกังวลสถานการณ์ตะวันออกกลาง จากกองกำลังอิสราเอลที่ยังคงทำการโจมตีทางอากาศในฉนวนกาซา ซึ่งอาจจะยืดเยื้อ ส่งผลให้ราคาน้ำมัน และพลังงานโลกยังทรงตัวสูง
  3. ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัวอยู่ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักยังคงมีความไม่แน่นอนสูง อาทิ จีน สหรัฐ และยุโรป
  4. สถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมกลางแจ้งในบางพื้นที่ และกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่สูดหายใจเข้าไป
  5. ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อยจากระดับ 34.976 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2566 เป็น 35.186 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ม.ค. 2567 สะท้อนว่ามีการไหลออกสุทธิของเงินตราต่างประเทศ
  6. SET Index เดือน ม.ค. 2567 ปรับตัวลดลง 51.33 จุด จาก 1,415.85 ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2566 เป็น 1,364.52 ณ สิ้นเดือน ม.ค. 2567
  7. ความกังวลในการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาลที่อาจมีความล่าช้า และความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของประเทศ
  8. ความกังวลต่อสถานการณ์เอลนีโญ และภัยแล้ง ที่จะส่งผลกระทบในระยะยาว และกระทบต่อความต้องการใช้น้ำในภาคการเกษตร และเพื่อการอุปโภค-บริโภค
  9. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 95 ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 2.30 บาท/ลิตร อยู่ที่ระดับ 35.78 และ 37.55 บาท/ลิตร ณ สิ้นเดือน ม.ค. 2567

อย่างไรก็ดี ภาคธุรกิจได้เสนอแนะแนวทางต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหา ได้แก่

ADVERTISMENT
  • มาตรการจัดการแก้ไขบริหารการใช้น้ำให้เหมาะสมต่อภาคการเกษตร และการบริโภคของประชาชน
  • การแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าสินค้าผ่านด่านศุลกากร โดยการสำแดงข้อมูลเท็จเพื่อเลี่ยงภาษี ทำให้สินค้าราคาถูก รวมถึงสินค้าที่ไม่มีมาตรฐานทะลักเข้ามากระทบต่อยอดขายสินค้าของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ที่ไม่สามารถแข่งขันด้านต้นทุนได้
  • การผ่อนปรนเงื่อนไขในการเข้าถึงสินเชื่อในระบบของภาคธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ และสภาพคล่อง
  • นโยบายการช่วยเพิ่มศักยภาพ และเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของธุรกิจเอกชน ตลอดจนส่งเสริมการแข่งขันอย่างเป็นธรรมกับธุรกิจขนาดเล็ก เพื่อให้เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง