สถานการณ์การใช้น้ำมันเชื้อเพลิง เดือนแรกปี 2567 หดตัว 5.2% จากยอดใช้ดีเซล และ LPG หดตัว
วันที่ 6 มีนาคม 2567 นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เผยภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ยเดือนมกราคม 2567 อยู่ที่ 153.33 ล้านลิตร/วัน ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.2
โดยการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 ขณะที่น้ำมันเตา NGV น้ำมันกลุ่มดีเซล และ LPG มีการใช้ลดลงร้อยละ 27.6 ร้อยละ 15.8 ร้อยละ 11.4 และร้อยละ 1.6 ตามลำดับ
นอกจากนี้ กรมธุรกิจพลังงานได้มีการประกาศใช้น้ำมันมาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป เพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากปัญหามลพิษทางอากาศและฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง
การใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เดือนมกราคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 32.22 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.7 โดยการใช้แก๊สโซฮอล์ 95 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 17.94 ล้านลิตร/วัน และแก๊สโซฮอล์ 91 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.98 ล้านลิตร/วัน
ขณะที่แก๊สโซฮอล์ อี 85 เบนซิน และแก๊สโซฮอล์ อี 20 ลดลงมาอยู่ที่ 0.07 ล้านลิตร/วัน 0.44 ล้านลิตร/วัน และ 5.50 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ เนื่องจากปัจจัยด้านฤดูกาล ประกอบกับนโยบายการปรับลดราคาน้ำมันเบนซิน ตั้งแต่วันที่ 7 พฤศจิกายน 2566 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 เพื่อช่วยค่าครองชีพประชาชน จึงทำให้ปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
การใช้น้ำมันกลุ่มดีเซล เดือนมกราคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 69.36 ล้านลิตร/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 11.4 โดยน้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันดีเซลหมุนเร็วธรรมดา และน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 20 ปริมาณการใช้ลดลงมาอยู่ที่ 1.48 ล้านลิตร/วัน 0.41 ล้านลิตร/วัน และ 0.15 ล้านลิตร/วัน ตามลำดับ
ขณะที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี 7 มีปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.9 มาอยู่ที่ 67.32 ล้านลิตร/วัน แต่เมื่อพิจารณาจากช่วงเดือนที่ผ่านมา ปริมาณการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเป็นฤดูการเก็บเกี่ยวผลผลิต ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2567 เพื่อช่วยค่าครองชีพประชาชน
ส่วนการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เดือนมกราคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 16.37 ล้านลิตร/วัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 15.6 เนื่องจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ประกอบกับรัฐบาลได้มีการประกาศใช้นโยบายฟรีวีซ่า สำหรับนักท่องเที่ยวจีนและคาซัคสถาน รวมระยะเวลา 5 เดือน (กันยายน 2566-กุมภาพันธ์ 2567) รวมทั้งอินเดียและไต้หวันรวมระยะเวลา 6 เดือน (พฤศจิกายน 2566-พฤษภาคม 2567) ซึ่งคาดการณ์ว่าจะช่วยสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเดินทางทางอากาศยานเพิ่มมากขึ้น
การใช้ LPG เดือนมกราคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 16.20 ล้าน กก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.6 โดยเป็นการลดลงของภาคปิโตรเคมี ร้อยละ 3.9 มาอยู่ที่ 6.02 ล้าน กก./วัน ภาคครัวเรือนลดลงร้อยละ 0.85 มาอยู่ที่ 5.91 ล้านกก./วัน และภาคอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.2 มาอยู่ที่ 1.97 ล้าน กก./วัน ขณะที่การใช้ในภาคขนส่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 มาอยู่ที่ 2.31 ล้าน กก./วัน
การใช้ NGV เดือนมกราคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.92 ล้าน กก./วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 15.8 ทั้งนี้ ปตท.มีมาตรการบรรเทาผลกระทบราคาพลังงาน สำหรับรถแท็กซี่ รถโดยสารสาธารณะ รถบรรทุก ขยายระยะเวลาการช่วยเหลือราคา NGV สำหรับผู้มีบัตรสิทธิประโยชน์อยู่แล้ว และเปิดให้มีการสมัครบัตรสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม โดยสิทธิประโยชน์จะแตกต่างไปตามประเภทของรถ รวมทั้งช่วยเหลือราคาก๊าซ NGV ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 โดยจำหน่ายก๊าซ NGV ที่ราคา 19.59 บาทต่อกิโลกรัมสำหรับรถทั่วไป
การนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง เดือนมกราคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,046,936 บาร์เรล/วัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.9 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 99,752 ล้านบาท/เดือน โดยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 985,866 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 93,195 ล้านบาท/เดือน สำหรับการนำเข้า น้ำมันสำเร็จรูป (น้ำมันเบนซินพื้นฐาน น้ำมันดีเซลพื้นฐาน น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน และ LPG) อยู่ที่ 61,069 บาร์เรล/วัน ลดลงร้อยละ 47.4 คิดเป็นมูลค่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอยู่ที่ 6,556 ล้านบาท/เดือน
การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป เดือนมกราคม 2567 เป็นการส่งออกน้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล น้ำมันเตา น้ำมันอากาศยาน น้ำมันก๊าด และ LPG โดยปริมาณส่งออกอยู่ที่ 160,682 บาร์เรล/วัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.8 คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 16,290 ล้านบาท/เดือน