กฟผ.-กองทุนน้ำมัน จ่อกู้เงินเสริมสภาพคล่อง ครม. อนุมัติปรับแผนก่อหนี้แล้ว

กองทุนน้ำมัน

ครม.ไฟเขียว “รัฐวิสาหกิจ-หน่วยงานอื่น” กู้เงินเสริมสภาพคล่อง เผย “กฟผ.” ขอวงเงินกู้ 3 หมื่นล้านบาท เสริมสภาพคล่องในรูป Credit line ขณะที่ “กองทุนน้ำมัน” จ่อกู้ 2 หมื่นล้าน เสริมสภาพคล่อง หลังรับภาระเพิ่มจากกรณีเลิกใช้ภาษีอุ้มดีเซล

วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 1 โดยปรับแผนการก่อหนี้ใหม่ เพิ่ม 560,276.10 ล้านบาท จากเดิม 194,434.53 ล้านบาท เป็น 754,710.63 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในวงเงินก่อหนี้ใหม่ดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นแผนเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการ หรือเพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไป ซึ่งพบว่ามีรัฐวิสาหกิจ 4 แห่ง ที่เตรียมกู้เพิ่ม โดยวงเงินปรับเพิ่มอีก 31,500 ล้านบาท จากเดิม 49,638.47 ล้านบาท เป็น 81,138.47 ล้านบาท

สำหรับวงเงินกู้ที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่เป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งเป็นเงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่อง ในรูป Credit Line จำนวน 30,000 ล้านบาท

ที่เหลือเป็นองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย ที่ปรับวงเงินกู้เกินบัญชีเพื่อสำรองเผื่อสภาพคล่องทางการเงินเพิ่ม 250 ล้านบาท เนื่องจากค่าวัตถุดิบมีราคาสูงขึ้น ขณะที่องค์การเภสัชกรรม ปรับวงเงินกู้เพิ่ม 1,100 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่อง เนื่องจากมียอดลูกหนี้ค้างชำระเป็นจำนวนมาก ที่ยังไม่สามารถเรียกเก็บได้

นอกจากนี้ ก็มีบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด ที่ขอกู้ 150 ล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องและเป็นเงินทุนหมุนเวียนทั่วไป

ขณะเดียวกันก็มีแผนการก่อหนี้ใหม่ของหน่วยงานอื่นของรัฐ (ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ) อีก 2 แห่ง ที่ปรับวงเงินขอกู้เพิ่มรวม 23,000 ล้านบาท แบ่งเป็นสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ขอวงเงินกู้เพิ่ม 20,000 ล้านบาท ส่วนอีก 3,000 ล้านบาท เป็นของกองทุนประกันวินาศภัย (กปว.) ที่มีแผนกู้เพื่อนำมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รัรบชำระหนี้ที่เกิดจากการเอาประกันภัย

โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ทำหนังสือให้ความเห็นประกอบเรื่องเข้า ครม. ว่า กระทรวงพลังงานพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่าไม่มีข้อขัดข้องต่อการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2567 ครั้งที่ 1

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงพลังงาน คือ กฟผ. มีการปรับแผนกู้เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินกิจการทั่วไป รายการเงินกู้ระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องในรูป Credit Line วงเงิน 30,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการต่ออายุเงินกู้ระยะสั้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงจากการขาดสภาพคล่อง และบริหารสภาพคล่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ของ กฟผ. ที่จะครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี ในวันที่ 11 กันยายน 2567

และสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีแผนการก่อหนี้ใหม่ รายการเงินกู้ระยะยาวเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง วงเงิน 20,000 ล้านบาท เป็นไปตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 ซึ่งเกิดจากความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแยังระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ ที่ทำให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในตลาดโลกมีการปรับตัวสูงขึ้น และเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จึงต้องชดเชยมากขึ้นเพื่อรักษาเสถียรภาพของราคาขายปลีกน้ำมันดีเซล