ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม ตลาดกังวลการหยุดชะงักส่งออกน้ำมันจากรัสเซีย-อิหร่าน

โรงกลั่นน้ำมัน

 ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนต์ปรับเพิ่ม หลังตลาดกังวลการหยุดชะงักการส่งออกน้ำมันจากรัสเซียและอิหร่าน

หน่วยวิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน บมจ.ไทยออยล์ ระบุว่าปัจจัยที่ส่งผลกระทบกับราคามีดังนี้ ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสและเบรนต์ปรับเพิ่ม หลังตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับการหยุดชะงักในการจ่ายน้ำมันของรัสเซียผ่านท่อส่งน้ำมัน CPC ซึ่งเป็นเส้นทางหลักสำหรับการส่งออกน้ำมันดิบจากคาซัคสถาน ทำให้การส่งน้ำมันลดลง 30-40%

โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสซื้อขายเมื่อ 20 ก.พ. 2568 อยู่ที่ 72.57 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น +0.32 เหรียญสหรัฐ และราคาน้ำมันดิบเบรนต์อยู่ที่ 76.48 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น +0.44 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

มาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐต่อการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านทำให้จีนลดการนำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านลง 500,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน ก.พ. เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. และคาดว่าการส่งออกน้ำมันดิบของอิหร่านจะลดลงอย่างต่อเนื่องในเดือนถัดไป

ตลาดยังคงกังวลหลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีการนำเข้าสินค้า ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของสินค้าผู้บริโภคสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอและลดความต้องการใช้น้ำมัน ทำให้ราคาน้ำมันลดลง แม้ว่าการบังคับใช้ภาษีจะถูกเลื่อนออกไป ขณะเดียวกัน จีนได้ตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐ ซึ่งรวมถึงน้ำมันดิบประมาณ 200,000 บาร์เรลต่อวัน

สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 14 ก.พ. 68 เพิ่มขึ้น 4.6 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 432.5 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 3.1 ล้านบาร์เรล หลังกำลังการผลิตของโรงกลั่นน้ำมันปรับลดลง 0.1% ลงมาอยู่ที่ 84.9% ของความสามารถในการผลิตทั้งหมด

ADVERTISMENT

ราคาน้ำมันเบนซิน

ราคาน้ำมันเบนซินปรับลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังคาดการณ์การส่งออกของจีนจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในเดือนหน้า อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยหนุน จากเทศกาลคุมภ์เมลาในอินเดียที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ส่งผลให้ความต้องการขับขี่ยานยนต์ภายในประเทศจะเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนั้น ความต้องการน้ำมันเบนซินในอินโดนีเซียยังปรับเพิ่มขึ้น ก่อนเข้าสู่ช่วงเทศกาลรอมฎอน

ราคาน้ำมันดีเซล

ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังซาอุดีอาระเบียเปิดเผยข้อมูลการส่งออกน้ำมันดีเซลลดลง 4% ในเดือน ธ.ค. ขณะที่การผลิตน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้น 10.6% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ข้อมูลดังกล่าวสะท้อนถึงอุปสงค์ในประเทศที่แข็งแกร่ง ซึ่งส่งผลให้มีการใช้ภายในประเทศเพิ่มขึ้นและทำให้การส่งออกน้ำมันดีเซลลดลง

ADVERTISMENT