“วราวุธ” เร่งรับมือขยะหน้ากาก 1,800 ล้านชิ้น ผนึกมหาดไทยหาทางกำจัด

หน้ากากอนามัย
FILE PHOTO : ROMEO GACAD/ AFP

วราวุธรับมือ “โควิด-19” ผนึกมหาดไทยดึงผู้ว่าฯ 76 จังหวัด วางระบบกำจัดขยะหน้ากากอนามัย 60 ล้านชิ้นต่อวัน ป้องกันการแพร่เชื้อโรค พร้อมสั่งกรมอุทยานฯ อาศัยจังหวะปลอดนักท่องเที่ยวทำแผนฟื้นฟู 157 อุทยานกระตุ้นจ้างงานท้องถิ่น เตรียมใช้ยาแรงกู้วิกฤต PM 2.5 ระยะยาว “ห้ามเข้าเก็บของป่า” ป้องกันการเผา ขู่จับกุมดำเนินคดี หากพบ จนท.รัฐร่วมกระทำผิดเด้งแน่

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้สั่งการให้ปลัดกระทรวงและอธิบดีทุกกรมเตรียมรับมือสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่จะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย โดยเฉพาะการเตรียมรับมือปัญหาปริมาณขยะที่จะเพิ่มขึ้นจากการที่ประชาชนใช้หน้ากากอนามัย และอุปกรณ์ภาชนะที่ใช้แล้วทิ้ง ทั้งส้อม จาน ช้อน เพิ่มมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงปริมาณขยะเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้วดังกล่าวยังถือว่าเป็นขยะติดเชื้อจำเป็นต้องวางระบบการทำลายเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค

“มอบให้ปลัดกระทรวง อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เร่งประสานกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอุตสาหกรรม พิจารณามาตรการแก้ไขปัญหาขยะหน้ากากอนามัยที่เพิ่มขึ้นมากในช่วงนี้ เนื่องจากเป็นขยะติดเชื้อจะต้องดำเนินการกำจัดอย่างไร อาจประสานจัดหาโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความสามารถในการเผาทำลายหน้ากาก ซึ่งถือเป็นขยะติดเชื้อ อย่างน้อยต้องเป็นโรงงานที่มีเครื่องจักรความร้อนถึง 1,000 องศาเซลเซียส หากอุณหภูมิไม่ถึงจะเกิดสารไดออกซินตามมา”

ขณะเดียวกัน ต้องประสานไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่าง ๆ ให้รับทราบข้อมูลและวางระบบบริหารจัดการหน้ากากอนามัย เพราะในแต่ละพื้นที่จำเป็นต้องมีการคัดแยกขยะของแต่ละพื้นที่ก่อนจะนำส่งไปทำลาย อย่างไรก็ตาม แต่ละหน่วยงานมีบทบาทหน้าที่ต้องดำเนินการร่วมกัน เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น มีอำนาจในการออกกฎระเบียบเองโดยไม่ได้มีหน้าที่รายงาน ทส. แต่ทาง ทส.มีหน้าที่เป็นหน่วยงานที่ให้ความรู้และส่งเสริมการบริหารจัดการ

สำหรับแนวทางเบื้องต้นในการดูแล ทาง ทส.จะประสานไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อหารือว่าในแต่ละภูมิภาคทั่วประเทศมีโรงงานใดที่สามารถใช้บอยเลอร์ความร้อนสูงในการเผาทำลายขยะชนิดนี้ ส่วนกระทรวงมหาดไทยจะประสานงานต่อไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด 76 จังหวัด และทาง กทม.ในการจัดเก็บหน้ากากอนามัยใช้แล้ว (ซึ่งคาดว่าในแต่ละเดือนจะมีปริมาณถึง 1,800 ล้านชิ้นต่อเดือน คิดจากประชากร 60 ล้านคน คนละ 1 ชิ้นต่อวัน)

“เราจะคิดล่วงหน้าสำหรับปัญหาตรงนี้ ส่วนงบประมาณดำเนินการเรื่องนี้เป็นงบฯในท้องถิ่นในการบริหารจัดการ คาดว่าจะดำเนินการต่อเนื่องได้เพราะไม่น่าจะแตกต่างจากงบฯปกติ เพียงแต่ต้องแยกขยะหน้ากากออกส่วนหนึ่ง และต้องขอความร่วมมือโรงงาน กรมโรงงานในการขอเครื่องมือการเผา อันนี้ไม่น่าจะมีต้นทุนเพิ่มขึ้น”

นายวราวุธกล่าวว่า อีกด้านหนึ่งได้วางนโยบาย ทส.ให้ดำเนินการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในช่วงนี้ เนื่องจากระยะนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานลดลง เท่ากับเป็นช่วงเวลาที่ 157 อุทยานแห่งชาติของไทยจะได้มีเวลาหยุดพักเพื่อฟื้นฟูความสมบูรณ์ของอุทยาน

“ผมมอบให้กรมอุทยานฯไปจัดทำแผนดำเนินการฟื้นฟูอุทยานแห่งชาติทั้งหมด 157 แห่ง ว่าจะต้องดำเนินการอย่างไรในการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ลดปัญหาขยะ ดูแลความสะอาด สร้างอารยสถาปัตย์ ตลอดจนสิ่งอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว ซึ่งหากทำได้ไม่เพียงจะทำให้ทรัพยากรกลับมาสมบูรณ์ แต่ยังจะทำให้เกิดการจ้างแรงงานในท้องถิ่น ถือเป็นการกระจายรายได้ลงสู่เศรษฐกิจฐานรากตามนโยบายรัฐบาลไม่มากก็น้อย”

นายวราวุธกล่าวเสริมอีกว่า นโยบายสำคัญ เราจะต้องมองว่ากระทรวงจะมีส่วนร่วมในการดูแลแก้ไขปัญหาอย่างไร ต้องมีแนวทางบริหารจัดการ มาตรการต่าง ๆ อย่างไร ใครมีหน้าที่ต้องทำก็ทำไป อย่ารอเวลา ส่วนผลจากการดำเนินการมาตรการทางภาครัฐ หลังจากประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งทำให้มีประชาชนส่วนหนึ่งเดินทางกลับต่างจังหวัด และทำงานจากที่บ้าน (work from home) ทำให้ระบบการจราจรในกรุงเทพฯดีขึ้น ส่งผลให้ปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก PM 2.5 ลดลงตามไปด้วย แต่สถานการณ์นี้สะท้อนมุมมอง 2 ด้านคือ เมื่อไม่มีรถวิ่ง ฝุ่นหายไปแต่หลังโควิดคลี่คลาย สถานการณ์ฝุ่นจะกลับมาอีก

ดังนั้น คำถามคือจะต้องวางแนวทางอย่างไร เช่น การวางระบบตรวจสอบสภาพรถยนต์เพื่อลดปัญหารถที่ปล่อยควันดำ และอีกด้านหนึ่งปริมาณฝุ่นในกรุงเทพฯน้อยลงก็จริง แต่ฝุ่นละอองขนาดเล็กในต่างจังหวัดเพิ่มสูงขึ้นมา โดยเฉพาะทางภาคเหนืออย่างที่ลงพื้นที่ห้วยตึงเฒ่าที่เกิดปัญหาในช่วงที่ผ่านมาทำให้ ทส.ต้องบังคับใช้มาตรการที่เป็นยาแรงเพื่อบังคับใช้กฎหมายจริงจัง โดยให้ปลัดกระทรวง ทส.ประสานไปที่กระทรวงมหาดไทยว่าจะทำอย่างไรให้ผู้นำชุนชน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ลงไปเจาะทีละบ้านแก้ปัญหาเรื่องการสร้างความเข้าใจ และหากพบการกระทำผิดที่เกี่ยวโยงถึงผู้ใหญ่บ้าน หรือกำนันสามารถดำเนินการโยกย้ายได้เลย

“เราไม่ได้โทษใคร แต่จะแก้อย่างไร จะให้เจ้าของรถทุกคันตรวจสภาพรถ รถที่ใช้น้ำมันดีเซลยิ่งเก่ามากขึ้นเรื่อย ๆ ศักยภาพการเผาไหม้ห้องเครื่องต่ำลง บวกกับผู้ประกอบการจะประหยัดต้นทุนไม่เปลี่ยนน้ำมัน ไส้กรอง ผ่านไป 5 ปี 7 ปี เกิดเขม่าหรือตัวกรองในเครื่องยนต์ที่ทำหน้าที่กำจัดมลพิษ แต่ต้องเป็นสารที่มีราคา เช่น โบรอน ทองคำขาว ต้องคอยดูแลรักษา หรือเขตการก่อสร้างใช้ผ้าใบคลุม ตอนนี้ไซต์ก่อสร้างก็มีรถบรรทุกกี่ไซต์งานต่าง ๆ ก็ควรมีที่ล้างล้อแล้วค่อยมาวิ่งบนท้องถนน”