วิกฤตพลังงานจีนดันสินค้าโภคภัณฑ์พุ่ง

 

เอกชนไทยฝ่ามรสุม “วิกฤตพลังงานจีน” ดันราคาโภคภัณฑ์พุ่งพรวด ทั้งถ่านหิน-เหล็ก-อะลูมิเนียม-ฝ้าย กระทบนำเข้าวัตถุดิบไทย ด้าน ส.เครื่องนุ่งห่มชี้ต้องปรับราคาเสื้อผ้าสำเร็จรูปขึ้นอีก 10-15% แต่กลับส่งผลดีกับการลงทุนด้านพลังงานของทุนไทยในจีน จน “มิตรผล-บ้านปู” รับอานิสงส์ราคาถ่านหินพุ่ง-ชีวมวลไปได้ดีจ่อขยายโรงงานเพิ่ม ส่วนไม้ยางพาราแย่หลังโรงงานเฟอร์นิเจอร์จีนต้องหยุดผลิต

จีนกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนพลังงาน จนทำให้บางพื้นที่เกิดการขาดแคลนไฟฟ้า กระทบต่อภาคธุรกิจ-การผลิตสินค้าและยังลามไปถึงซัพพลายเชนทั่วโลก โดยวิกฤตดังกล่าวไม่เพียงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนในปีนี้ที่คาดการณ์กันว่า อาจจะเติบโตลดลงเหลือเพียง 7.7-7.8% จากเดิมที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 8.2% นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อประเทศคู่ค้ากับจีนด้วย

ต้นทุนนำเข้าวัตถุดิบกระฉูด

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การขาดแคลนพลังงานในประเทศจีนได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมหนักในประเทศไทยอย่างมากโดยเฉพาะ “เหล็ก-อะลูมิเนียม” ที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบมาเป็นซัพพลายเชนในหลายอุตสาหกรรม ทั้งการทำบรรจุภัณฑ์กระป๋อง เคมีต่าง ๆ รวมถึงยานยนต์ จากปัจจุบันได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนชิปอยู่แล้ว ดังนั้น “ผลกระทบ 2 เด้ง” ที่กำลังเกิดขึ้นอาจทำให้การผลิตยานยนต์ในประเทศปรับตัวลดลง

ส่วนอุตสาหกรรมอื่น ๆ คาดการณ์ว่า เมื่อต้นทุนด้านพลังงานเพิ่ม เงินบาทอ่อน ขาดแคลนวัตถุดิบ และน้ำท่วม จะส่งผลให้ราคาสินค้าปรับตัวพุ่งขึ้นอย่างแน่นอน เกิดภาวะเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูงขึ้น กำลังซื้อหดตัว การนำเข้าสั่งซื้อเครื่องจักรชะลอตัวลง ดังนั้นจึงอาจส่งผลต่อการลงทุนในไตรมาส 4

“ผลกระทบจากสถานการณ์นี้สวนทางกลับที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่า ไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว รับการเปิดประเทศพอดี แต่เรากลับโดนปัญหาอื่น ๆ เข้ามาเป็นระลอกใหม่ ทำให้เศรษฐกิจที่จะดีขึ้นหลังเปิดประเทศปลายปีอาจจะต้องสะดุดชั่วคราว ผมเชื่อว่า นักท่องเที่ยวคงยังไม่กลับเข้ามาทันที ส่วนวิกฤตขาดแคลนจากการนำเข้าสินค้าจีนนั้น เราก็หวังว่ามาตรการรัฐของจีนที่กำลังอนุมัติเงินกู้ให้สถาบันการเงินปล่อยกู้เอกชนเพื่อแก้วิกฤต ด้วยการหาซื้อถ่านหินพลังงานฟอสซิลต่าง ๆ 100 ล้านตันจะมาแก้วิกฤตพลังงานจนคลี่คลายภายในปลายปี 2564” นายเกรียงไกรกล่าว

สอดรับกับนายธีรพันธุ์ พิมพ์ทอง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ส.อ.ท. กล่าวว่า ตอนนี้อุตฯมีความยากลำบากเพิ่มขึ้น เนื่องจากแหล่งซัพพลายส่วนใหญ่ของอุตสาหกรรมนี้ 80% มาจากประเทศจีน การที่รัฐบาลจีนกำหนดมาตรการมาตรการควบคุมการใช้ไฟฟ้า ทำให้บางมณฑลต้องลดกำลังการผลิตถึง 50% ประกอบกับค่าเงินบาทอ่อนยิ่งส่งผลต่อต้นทุนในการนำเข้า แต่ผู้ประกอบการส่งออกยังสามารถขายเป็นดอลลาร์ได้เงินมากขึ้น แต่ผู้ที่ค้าตลาดในประเทศที่มีการซื้อขายกันโดยปรับราคาเป็นรายไตรมาสหรือรายเดือนก็จะเห็นว่า ยังไม่สามารถปรับราคาได้ตามทันต้นทุนที่แท้จริง

ฝ้ายพุ่งสูงสุดในรอบ 10 ปี

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ส.อ.ท. และ ประธานสมาพันธ์สินค้าไลฟ์สไตล์ กล่าวว่า จีนเป็นแหล่งผลิตและแหล่งแปรสภาพวัตถุดิบฝ้ายไปเป็น “เส้นด้าย” เบอร์ 1 ของโลก ดังนั้นวิกฤตพลังงานในจีนจึงส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกโดยเฉพาะ ราคาวัตถุดิบฝ้ายในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม โดยขณะนี้ฝ้ายได้ปรับราคาขึ้นไปแล้ว 60% เป็น 1.10 เหรียญสหรัฐ/ปอนด์จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 0.67 เหรียญ/ปอนด์ “หรือคิดเป็นราคาสูงสุดในระดับนิวไฮ”

ยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์

นอกจากนี้ยังมีสินค้าวัตถุดิบอื่นที่ผลิตในจีน อาทิ เส้นด้ายโพลิเอสเตอร์ด้วย ซึ่งไม่เพียงปรับราคาขึ้น แต่ยังขาดแคลนวัตถุดิบอีกด้วย ส่งผลกระทบต่อการผลิตเสื้อผ้าหลายประเภท เช่น ชุดเสื้อผ้ายูนิฟอร์มในไทย

“ผลจากการปรับขึ้นราคาฝ้ายทั่วโลก อาจจะทำให้ผู้ผลิตต้องปรับราคาเสื้อผ้าสำเร็จรูปขึ้นอีก 10-15% แต่ก็ยังไม่ทันกับต้นทุน เพราะคงปรับราคาไม่ได้มากจากสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่เอื้ออำนวย นอกจากนี้ผู้ประกอบการบางส่วนยังเลื่อนการผลิตออกไป เนื่องจากไม่สามารถรับซื้อวัตถุดิบที่ราคาเพิ่มขึ้นได้” นายยุทธนากล่าว

ไม้ยางพาราราคาตกวูบ

ด้านนายสุทิน พรชัยสุรีย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เขามหาชัยพาราวู้ด จำกัด อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นโรงงานผลิตไม้ยางพาราแปรรูปอบแห้งส่งออกรายใหญ่ กล่าวว่า ขณะนี้ผู้นำเข้าในตลาดหลักจีนได้สั่งให้ชะลอการสั่งซื้อไม้ยางพาราแปรรูปอบแห้งจากประเทศไทย เนื่องจากรัฐบาลจีนมีคำสั่งให้แต่ละสินค้าลดกำลังการผลิตลง เช่น ธุรกิจการ์เมนต์ให้ทำการผลิตได้สัปดาห์ละ 2 วัน โรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ยางพาราให้หยุดผลิตก่อน โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าในประเทศไม่เพียงพอ

ดังนั้น การชะลอการสั่งซื้อไม้ยางพาราจึงมีผลต่อทำให้ราคาไม้ยางพาราตกลงไป 50 เหรียญ/ลูกบาศก์เมตรทันที ยกตัวอย่าง ไม้ยางพาราแปรรูปอบแห้ง ขนาดความหนา 28 มิลลิเมตร ลดจาก 720 เหรียญ/ลูกบาศก์เมตร เหลือ 680 เหรียญ/ลูกบาศก์เมตร ถึงแม้ราคาจะลดลงถึง 50 เหรียญ/ลูกบาศก์เมตร “แต่ลูกค้าจีนยังไม่ซื้อ” บอกให้รอดูนโยบายจากรัฐบาลก่อน ขณะที่ราคาค่าระวางเรือในการขนส่งเพิ่มขึ้น 20 เหรียญ/ลูกบาศก์เมตร เท่ากับผู้ส่งออกไม้ยางพาราของไทยได้รับผลกระทบเพิ่มขึ้น 70 เหรียญ/ลูกบาศก์เมตรทีเดียว

มองบวกดึงลงทุนเข้าไทย

แต่ในอีกด้านหนึ่ง นายภูสิต รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า กรมได้ประเมินสถานการณ์วิกฤตการขาดแคลนพลังงานในจีน เบื้องต้นจะส่งผลให้สินค้าที่ผลิตในประเทศจีนมีต้นทุนปรับสูงขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกสินค้าไทยไปยังประเทศจีนสามารถส่งออกไปได้มากขึ้น เช่น สินค้าเม็ดพลาสติก, อิเล็กทรอนิกส์, แฟชั่น และเกษตร ขณะที่ระยะกลาง-ระยะยาวประเมินว่า

นักลงทุนที่อยู่ในประเทศจีน รวมถึงนักลงทุนจากต่างประเทศอาจจะพิจารณทบทวนแผนการลงทุนใหม่เพื่อย้ายฐานการลงทุนมายังประเทศอื่นที่มีความมั่นคงทางด้านพลังงานแทนจีน “ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสของประเทศไทยในการส่งเสริมการลงทุน”

ทั้งนี้ ภาพรวมการค้าไทย-จีนยังยังเป็นคู่ค้าอันดับ 1 มีมูลค่าการค้า 2.11 ล้านล้านบาทในช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.) 2564 คิดเป็นสัดส่วน 19.4% ของการค้าทั้งหมด โดยประเทศไทยส่งออก 775,785 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 26.38% สินค้าสำคัญที่ส่งออก ได้แก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็ง, เม็ดพลาสติก, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เป็นต้น

ขณะที่การนำเข้าจากจีนมีมูลค่า 1.34 ล้านล้านบาท หรือขยายตัว 32.44% โดยสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน, เคมีภัณฑ์, เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ

มิตรผลรับอานิสงส์

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการกลุ่มมิตรผล กล่าวว่า กลุ่มมิตรผลได้เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล ทางตอนใต้ของจีน จำนวน 5 โรงงาน

โดยผลิตไฟฟ้าสำหรับรองรับการผลิตของโรงงานน้ำตาลและมีไฟฟ้าส่งขายให้กับการไฟฟ้าจีน 3 โรงงาน ส่วนวิกฤตด้านพลังงานที่เกิดขึ้นในจีนตอนนี้เป็นผลมาจากมาตรการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของจีนที่ต้องการให้ลดการปล่อยคาร์บอนเป็น 0

อิสระ ว่องกุศลกิจ

นั่นหมายถึง การส่งผลดีต่อโรงไฟฟ้าไฟฟ้าชีวมวลของกลุ่มมิตรผล โดยที่ผ่านมารัฐบาลจีนให้การส่งเสริมการผลิตพลังงานทดแทนโดยเฉพาะ “ชีวมวล” อย่างมาก มีการให้ adder 5-7 ปี และมีการทำสัญญาชื้อไฟฟ้าในระยะยาวด้วย

“กลุ่มมิตรผลมีแนวคิดที่จะขยายโรงไฟฟ้าเพื่อรองรับการใช้พลังงานในจีนที่เพิ่มขึ้น แต่ติดอยู่ตรงที่การขยายโรงไฟฟ้าชีวมวลจะต้องอิงกับวัตถุดิบอ้อย ซึ่งตอนนี้พื้นที่ทางตอนใต้ที่เราไปลงทุนมีความเหมาะสมในการปลูกอ้อยมาก แต่จะขยายพื้นที่ปลูกอ้อยอีกก็ลำบาก เพราะที่ดินมีจำกัดและมีการใช้ที่ดินไปลงทุนทำอุตสาหกรรมและปลูกพืชอื่นด้วย” นายอิสระกล่าว

ด้านนางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การขาดแคลนพลังงานและมีการจัดหาถ่านหินเข้ามาผลิต ทำให้เหมืองของบ้านปูในประเทศจีนมีราคาขายถ่านหินที่ปรับขึ้นไปตามตลาดด้วย

ในขณะที่โรงไฟฟ้าของบ้านปูในจีนยังคงเดินเครื่องตามปกติ แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากต้นทุนถ่านหิน แต่ทางบ้านปูก็ได้ดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อลดผลกระทบ เช่น การซื้อถ่านหินแบบรวมศูนย์ (centralized coal procurement) มีการขยายเพิ่มพื้นที่การเก็บถ่านหิน (coal stockyard area) รวมทั้งมีการบริหารสินค้าคงคลัง (inventory) ถ่านหินอย่างรัดกุมให้มีถ่านเพียงพอต่อเนื่องไปจนถึงฤดูหนาว

ในขณะที่หลาย ๆ จังหวัดในจีนก็มีการประกาศจากทางรัฐบาลท้องถิ่นเริ่มปรับภาษี (tariff) บ้างแล้ว ซึ่งหากมีความชัดเจนในเขตที่โรงไฟฟ้าบ้านปูตั้งอยู่ก็จะช่วยลดผลกระทบได้อีกทางหนึ่ง