เกษตรเคาะแผนปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65 เฉียด 12 ล้านไร่

กระทรวงเกษตรฯเคาะแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2564/65 รวมแตะ 12 ล้านไร่ ข้าวสูงสุด 9 ล้านไร่ เผยบางพื้นที่มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างน้อย จำเป็นต้องงดการจัดสรรน้ำในการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 พร้อมลุยต่อโครงการปลูกข้าวโพดหลังนา ทดแทนข้าวช่วงแล้ง

วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่ฤดูกาลเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง (1 พฤศจิกายน-30 เมษายน) ประกอบกับแผนการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง และการเตรียมพร้อมรับมือปี 2564/65 ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการบริหารการขับเคลื่อนงานนโยบายสำคัญและการแก้ไขปัญหาภาคเกษตร โดยมี นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมได้มีมติเห็นชอบแผนดังกล่าว ซึ่งกำหนดให้การบริหารจัดการน้ำมีความสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุน ตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ

ได้แก่ 1) จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในช่วงฤดูแล้ง 2) จัดสรรน้ำเพื่อการรักษาระบบนิเวศในช่วงฤดูแล้ง 3) สำรองน้ำไว้สำหรับการใช้น้ำในช่วงต้นฤดูฝน เพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศ เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 4) จัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรกรรม และ 5) จัดสรรน้ำเพื่อการอุตสาหกรรมกรมส่งเสริมการเกษตรจึงได้กำหนดแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65 ตามปริมาณน้ำต้นทุนและความเหมาะสมของพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกพืชได้เหมาะสมกับศักยภาพพื้นที่ ดังนี้

กำหนดแผนพื้นที่การเพาะปลูกทั้งประเทศ จำนวน 11.65 ล้านไร่ แบ่งเป็นข้าวรอบที่ 2 จำนวน 9.02 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 6.41 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 2.61 ล้านไร่ และพืชไร่พืชผัก จำนวน 2.63 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 0.54 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 2.09 ล้านไร่ สำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด พื้นที่รวม 4.98 ล้านไร่

แบ่งเป็นข้าวรอบที่ 2 จำนวน 4.26 ล้านไร่ โดยเป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 2.81 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 1.45 ล้านไร่ และพืชไร่พืชผัก จำนวน 0.72 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 0.06 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 0.66 ล้านไร่ และลุ่มน้ำแม่กลอง 7 จังหวัด พื้นที่รวม 1.10 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวรอบที่ 2 จำนวน 0.86 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 0.84 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 0.02 ล้านไร่ และพืชไร่พืชผัก จำนวน 0.24 ล้านไร่ เป็นพื้นที่ในเขตชลประทาน 0.17 ล้านไร่ และนอกเขตชลประทาน 0.07 ล้านไร่

อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวอีกว่า การจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรได้มีการวางแผนการบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืน ซึ่งเป็นการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำที่มีอยู่ และกำกับติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2564/65 ของเกษตรกร ให้เป็นไปตามแผนควบคุมการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งที่กำหนดไว้ เนื่องจากในบางพื้นที่มีปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำค่อนข้างน้อย จึงมีความจำเป็นต้องงดการจัดสรรน้ำในการเพาะปลูกข้าวรอบที่ 2 ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2564/65 ในบางพื้นที่ และสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย หรือเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของรัฐ

เช่น โครงการส่งเสริมการปลูกพืชหลากหลาย (หลังนา) ปี 2565 โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ปี 2565 เป็นต้น เพื่อเป็นทางเลือกให้กับเกษตรกรในการปลูกพืชอื่นทดแทนการปลูกข้าวรอบที่ 2 โดยจะเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และด้านการตลาด ให้เกษตรกรรับทราบข้อมูลข่าวสารด้านสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่อย่างชัดเจน แนวโน้มความต้องการของตลาด ราคา แหล่งรับซื้อพืชฤดูแล้ง และคำแนะนำให้เกษตรกรปฏิบัติดูแลรักษาพืชในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งการรักษาความชื้นและลดการเผาตอซังอีกด้วย