บอร์ดข้าวโพดชง ครม.ปลดล็อกนำเข้าข้าวสาลี 3 เดือน ไม่เกิน 1.2 ล้านตัน

จุรินทร์ประชุม นบขพ.

จุรินทร์เผยหลังประชุม นบขพ. เห็นชอบผ่อนปรนมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 3 เดือน โดยนำเข้ารวมไม่เกิน 1.2 ล้านตัน ให้มีปริมาณวัตถุดิบพอต่อการผลิตและเหลือสต๊อกไว้ใช้ได้ เร่งเสนอ ครม.ให้เร็วที่สุด

วันที่ 2 พฤษภาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ครั้งที่ 2/2565 และคณะกรรมการนโยบายอาหาร ครั้งที่ 1/2565 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางในการแก้ไขปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ให้มีปริมาณเพียงพอต่อการผลิตอาหารสัตว์ภายในประเทศ

โดยให้ผ่อนปรนมาตรการการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้มีความคล่องตัวมากขึ้นโดยกำหนดระยะเวลา 3 เดือน (เดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม 2565) และมีปริมาณการนำเข้ารวมไม่เกิน 1.2 ล้านตัน เพื่อชดเชยวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ขาดแคลน เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี และข้าวบาร์เลย์ให้มีปริมาณเพียงพอในการใช้ และมีปริมาณคงเหลือในสต๊อกได้ 1 เดือน

ทั้งนี้ ภายหลังจากที่ประชุมเห็นชอบคาดว่าจะเร่งเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ได้เร็วที่สุด โดยจากรายงานกรมการค้าภายในที่เป็นฝ่ายเลขาฯ จะเร่งสรุปให้แล้วเสร็จโดยเร็ว อาจจะสามารถนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ได้ในวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 นี้

สำหรับการผ่อนปรนมาตรการการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ประชุมเห็นชอบ โดยให้มีการยกเว้นเงื่อนไขเดิม ที่กำหนดให้นำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วนและซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วน หรือมาตรการ 3:1 เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึง 31 กรกฎาคม 2565 เพิ่มโควตาการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากเดิม 54,700 ตัน เป็นไม่เกิน 600,000 ตัน ในระยะเวลา 3 เดือน (ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึง 31 กรกฎาคม 2565) จะมีผลให้มีการปรับลดภาษีนำเข้าจ่าย 20% เหลือ 0%

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์จะส่งเสริมให้มีการจับคู่ธุรกิจออนไลน์ในการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา เพื่อเพิ่มช่องทางการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากช่องทางปกติ โดยจะมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมในวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 นี้ ทั้ง 3 ช่องทางนี้นำเข้ารวมไม่เกิน 1.2 ล้านตัน

“การดำเนินการครั้งนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบอาหารสัตว์ภายในประเทศให้มีปริมาณเพียงพอต่อการผลิตเป็นหลัก แต่ทั้งนี้ก็ยอมรับว่าราคาอาหารสัตว์มีราคาที่สูง ซึ่งไม่ใช่เฉพาะในประเทศแต่รวมไปถึงต่างประเทศด้วย แต่เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการจึงมีมาตรการในเรื่องของการปรับลดภาษีเพื่อไม่ให้กระทบต่อต้นทุนการนำเข้าและการผลิตอาหารสัตว์ อย่างไรก็ดี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็จะไปพิจารณาและวิเคราะห์ตามข้อมูลที่เป็นจริงในด้านราคาเพื่อไม่ให้กระทบและทุกฝ่ายอยู่ได้”

อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุมยังมีมติเห็นชอบให้มีการตั้งอนุกรรมการ 5 ฝ่ายขึ้นมาเพื่อติดตามสถานการณ์และสามารถเสนอให้มีการทบทวนมาตรการให้มีความเหมาะสมในเรื่องของการดูแลปัญหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ต่อไปด้วย