ส่งออกไทย เม.ย. 65 ขยายตัว 9.9% นำเข้าพุ่งส่งผลไทยขาดดุลการค้า

ผู้ส่งออกทางเรือ

การส่งออกไทย เม.ย. 2565 ขยายตัว 9.9% ขยายตัวต่อเนื่อง เป็นผลมาจากสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมเติบโต ขณะที่การนำเข้าไทยพุ่ง ขยายตัว 21.5% ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1,908 ล้านเหรียญสหรัฐ

วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือนเมษายน 2565 ขยายตัว 9.9% มีมูลค่า 23,521 ล้านเหรียญสหรัฐ เป็นการขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่การนำเข้า ขยายตัว 21.5% มีมูลค่า 25,429 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 1,908 ล้านเหรียญสหรัฐ การส่งออกที่ขยายตัวเป็นผลมาจากสินค้าสำคัญ 3 หมวดสำคัญมีการเติบโต เช่น สินค้าการเกษตร สินค้าเกษตรอุตสาหกรรม และสินค้าอุตสาหกรรม

ส่วนการส่งออก 4 เดือน (มกราคม-เมษายน 2565) ขยายตัว 13.7% มีมูลค่า 97,122 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวสูงสุด ขณะที่การนำเข้าขยายตัว 19.2% มีมูลค่า 99,975 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ไทยขาดดุลการค้า 2,852 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญ 3 หมวด เช่น สินค้าเกษตรอุตสาหกรรมขยายตัว 10.8% มูลค่า 4,443 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่ส่งออกขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว เงาะสด มังคุดสด และมะม่วงสด พร้อมกันนี้ จะเร่งผลักดันการส่งออกข้าว โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ทั้งข้าวนึ่ง ปลายข้าว ข้าวขาว ข้าวเหนียว และแนวโน้มการส่งข้าวปีนี้คิดว่าจะเกินเป้าที่กำหนดไว้ ปีที่แล้วส่งออก 6.1 ล้านตัน ปีนี้แนวโน้มจะส่งออกได้ 7-8 ล้านตัน

สินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 8.3% มูลค่า 17,962 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าที่ส่งออกขยายตัว เช่น ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียม อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และแผงวงจรไฟฟ้า สำหรับปัจจัยที่เป็นบวกสำหรับการส่งออกในเดือนเมษายนขยายตัว และในอนาคตมีหลายปัจจัย

เช่น การเร่งรัดการส่งเสริมการส่งออกข้าวโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิ ทูตพาณิชย์ได้มีการประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ซื้อจากต่างประเทศ โดยเฉพาะร้านอาหารไทยในต่างประเทศให้หันมาใช้ข้าวหอมมะลิมากขึ้น และข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ได้รับเครื่องหมาย GI ของสหภาพยุโรปกลายเป็นจุดขายสำคัญ และสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเร่งรัดการเจรจาส่งออกข้าวเป็นกำลังเสริมสำคัญหนุนการส่งออก

การขยายความร่วมมือกับตลาดใหม่ เช่น ภูฏานมุ่งเน้นสมุนไพรไทยและยาแผนโบราณ การลงนาม Mini-FTA เช่น กับอินเดีย รัฐเตลังคานา กับจีนมณฑลไห่หนานและกานซู่ มีผลในการกระตุ้นการส่งออกในอนาคตได้ การประชุม JTC ไทย-เวียดนาม

ล่าสุดที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ช่วยให้การส่งผลไม้ผ่านแดนจากเวียดนามไปจีนคล่องตัวขึ้นในอนาคต และขอให้เวียดนามยกเลิกระงับการนำเข้าไก่ เงาะและมะม่วง ถ้าสำเร็จจะช่วยเสริมตัวเลขส่งออกได้มากขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมการค้าในแพลตฟอร์มออนไลน์ในตลาดเวียดนาม การเจรจาระดับทวิภาคีเพื่อการส่งออกเช่น กับเปรูและฮ่องกง ที่จะช่วยนำเข้าข้าวพรีเมี่ยมจากไทยมากขึ้น กับเวียดนามมองโกเลีย จะเป็นปัจจัยบวกสำคัญสำหรับการส่งออกในอนาคต

การส่งเสริมการส่งออกผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์รวมทั้งทำOBM จับคู่ธุรกิจออนไลน์ จะมีส่วนสำคัญด้านตัวเลขการส่งออกและจะทำต่อเนื่อง ภาคการผลิตโลกในภาพรวมยังขยายตัว ดัชนี PMI (Purchasing Managers Index หรือดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ) ยังอยู่ในระดับเหนือ 50 ต่อเนื่อง เป็นเดือนที่ 22 ถือเป็นสัญญาณบวกที่จะนำเข้าสินค้าจากไทย เพื่อใช้ในการผลิตมากขึ้น ค่าเงินบาทยังอ่อนค่า มีส่วนช่วยเสริมให้ตัวเลขการส่งออกดีขึ้น

ส่วนประเด็น Food protectionism ที่มีหลายประเทศมีปัญหาอยู่ ขณะนี้ สำหรับประเทศไทยยังไม่ได้เป็นปัญหา เนื่องจากสิ่งที่ประเทศต้นทางส่งออกไม่ใช่สินค้าที่เรานำเข้าในปริมาณที่มากนัก ไม่มีนัยยะสำคัญ แต่ในขณะเดียวกันที่บางประเทศไม่สามารถส่งออกอาหารได้จากการเกิด food protectionism จะส่งผลดีกับประเทศไทย ที่เป็น hub of kitchen ทำให้เราส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า ที่คู่แข่งจากประเทศอื่นประสบปัญหาส่งออกไม่ได้

นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ตนได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการประเมิน สินค้าแต่ละตัวว่ามีสินค้าตัวไหนบ้างที่จะต้องลงไปจับตามอง ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ แต่ในภาพรวมยังไม่มีสินค้าตัวไหนที่น่าเป็นห่วงหรือเป็นปัญหา แต่หากจะมองลึกลงไปในแต่ละชนิดย่อย เป็นเรื่องของแต่ละกระทรวงที่ต้องเข้าไปดูในรายละเอียด เช่นกระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง