ทุเรียนตกเกรดขายคนไทยแพง ล้งคัดออกไม่ผ่านเกณฑ์ส่งจีน

ทุเรียน

ลุยสำรวจแผงค้าเส้นทางทุเรียนตะวันออก พบทุเรียนตกเกรดในประเทศกลับขายในราคาทุเรียนเกรด A ส่งออกไปจีน ส่งผลคนไทยกินทุเรียนตกเกรดแพงเท่ากับคนจีนที่กินทุเรียนคุณภาพ เหตุล้งคัดออกไม่ผ่านมาตรฐานส่งออก ด้อยคุณภาพ ทุเรียนอ่อน ถูกนำมาเหมาขายส่งแบบยกเข่ง 60-80 บาทต่อ กก. แต่ราคาขายปลีกพุ่ง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ลงพื้นที่สำรวจตลาดทุเรียนจังหวัดจันทบุรี ซึ่งถือเป็นแหล่งปลูกและแหล่งค้าส่งทุเรียนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย พบว่า ตลาดขายส่งทุเรียนภายในจังหวัดค่อนข้างคึกคัก มีรถขนทุเรียนวิ่งเข้าออกตลอดเวลา ทุเรียนส่วนใหญ่ที่นำมาขายให้แผงตอนนี้เป็น “พันธุ์หมอนทอง” ขนาดใหญ่-เล็กไม่เท่ากัน คละไซซ์ และส่วนหนึ่งยังมีทุเรียนอ่อนผสมอยู่ด้วย ลักษณะของทุเรียนจากผิวภายนอกบางส่วนมีเพลี้ยขาวหรือเชื้อราดำปะปนอยู่เป็นจำนวนมาก

จากการสอบถามพ่อค้าแม่ค้าเจ้าของแผงในตลาดผลไม้หลายรายให้ข้อมูลใกล้เคียงกันว่า ทุเรียนที่เข้ามาสู่ตลาดค้าส่งภายในประเทศทั้งหมดเป็นทุเรียนที่โรงคัดบรรจุหรือล้งที่ทำส่งออก “คัดทิ้ง” เพราะไม่ได้มาตรฐานส่งออก 3 เกรดคือ A B C โดยสินค้าส่งออกมาตรฐานกำหนดน้ำหนักไว้ที่ประมาณ 2-3 กก./ลูก

แต่ทุเรียนที่เข้ามาสู่ตลาดภายในประเทศมีขนาดลูกเล็ก-ใหญ่ไม่เท่ากัน และบางครั้งผิวภายนอกไม่สวย โดยราคารับซื้อทุเรียนที่เข้ามาในตลาดทุกวันมีการขึ้นราคารับซื้อไว้ แต่ราคาจริงจะตกลงกันเองตามคุณภาพของทุเรียนที่นำมาขาย ซึ่งแต่ละแผงมีคู่ค้าที่เคยค้าขายกันเป็นประจำอยู่แล้ว โดยผู้ที่นำมาขายมีทั้งชาวสวนโดยตรงและพ่อค้าคนกลางที่รวบรวมผลผลิตส่งให้ผู้ส่งออก

“ราคาเฉลี่ยที่ล้งส่งออกเปิดรับซื้อทุเรียนจากสวนหรือพ่อค้าคนกลางตอนนี้ประมาณ 110-120 บาท/กก. แต่ทุเรียนตกเกรดที่ถูกคัดทิ้งกลับถูกนำมาขายที่ราคาประมาณ 60-80 บาท/กก.ตามคุณภาพ เมื่อพ่อค้าแม่ค้าขายส่งซื้อทุเรียนมาแล้วจะแยกเป็นเข่งแล้วขายส่งต่อแบบยกเข่ง

ยกตัวอย่าง เข่งขนาดน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 65 กก. ราคาขายอยู่ที่ 90-100 บาท/กก. แต่เมื่อกระจายผลผลิตไปทั่วประเทศราคาขายจะเพิ่มเป็น 130-180 บาท/กก. หรือแพงกว่านี้แล้วแต่พื้นที่ เนื่องจากมีค่าขนส่งและการมีสต๊อกผลผลิตเก็บไว้นานก็ขาดทุนมากขึ้น

เพราะน้ำหนักทุเรียนจะหายไปเรื่อย ๆ โดยพ่อค้าแม่ค้าขายปลีกบางรายไปแกะเป็นพูสวย ๆ ขายพูเดียว 200 บาท หรือเท่ากับคนไทยกินทุเรียนตกเกรดแพงใกล้เคียงกับทุเรียนส่งออกไปจีน แต่คุณภาพกลับแตกต่างกันมาก”

นายสัญชัย ปุรณะชัยคีรี นายกสมาคมผู้ค้าและส่งออกผลไม้ไทย เจ้าของล้งดราก้อน เฟรช ฟรุท จ.จันทบุรี กล่าวว่า ตลาดทุเรียนในประเทศไทยกับตลาดต่างประเทศนั้น “ต่างกันราวฟ้ากับดิน” ผลผลิตคุณภาพจะถูกคัดส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศหรือตลาดจีนเป็นหลัก 99% ส่วนที่ไม่ได้คุณภาพทั้งทุเรียนอ่อน มีรา มีหนอน มีขนาดลูกใหญ่หรือเล็กเกินไปจะถูกคัดออกและส่วนนี้ก็จะถูกกระจายเข้าสู่ตลาดทุเรียนภายในประเทศ

“เรียกได้ว่าทุเรียนสวยส่งไปเมืองนอกไม่สวยขายในไทย ตลาดในประเทศที่ขายผลผลิตคุณภาพมีเพียง 15% ส่วนอีก 85% คือทุเรียนที่ผู้ส่งออกไม่รับซื้อ ซึ่งผลไม่สวย เนื้อไม่ดี ลูกอ่อน พ่อค้าจะนำมารวม ๆกันแล้วส่งขาย เพราะคนไทยส่วนใหญ่สู้ราคาไม่ไหว ซึ่งราคาส่งออกช่วงพีคสูงถึง 250 บาท/กก.

ซึ่งตอนนี้ราคาส่งออกก็ปรับลงมาอยู่ที่ประมาณ 110บาทต่อกก. ขณะที่ทุเรียนที่ขายในประเทศจะเป็นทุเรียนเกรดต่ำ ราคาส่งแม่ค้าอยู่ที่ประมาณ 60-70 บาท/กก. ซึ่งราคามาถึงผู้บริโภคก็สูงกว่า 100 บาทต่อ ก.ก.” นายสัญชัยกล่าว

นายสัญชัย โกสัลส์วัฒนา นายกสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย กล่าวถึงสถานการณ์ทุเรียนภาคตะวันออกปี 2565 ว่า ช่วงพีกสุดหลังวันที่ 20 พฤษภาคมไปแล้ว (ผลผลิตช่วงพีก 740,000 ตัน ส่งออกไปแล้ว 200,000 ตัน) ราคาทุเรียนส่งออกน่าจะยังคงทรงตัวอยู่ 110-120 บาท

จากปัจจัยหลักเรื่องมาตรการตรวจเข้ม สกัดทุเรียนอ่อนตอบโจทย์ตลาดจีนที่ได้บริโภคทุเรียนคุณภาพ แม้จะเลยวันที่กำหนดตัดทุเรียนแล้ว ราคายังคงอยู่ในระดับเลข 3 หลัก และความนิยมบริโภคทุเรียนไทยของตลาดจีน และรูปแบบการบริโภคของจีนอัพเกรดขึ้น

จีนรับซื้อทุเรียนทุกไซซ์ สามารถนำไปขายแยกเกรดตามกลุ่มลูกค้า ถ้าเป็นเกรดดีมากราคา (กล่องละ 6 กก.) 700-800 หยวน ลูกค้าจะแย่งกันซื้อครั้งละ 40-50 กล่อง หรือซื้อยกตู้ เปรียบเทียบกับเกรดพอทานได้กล่องละ 400-600 หยวน

ขณะที่ นายชลธี นุ่มหนู ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) กล่าวว่า ปัญหาทุเรียนอ่อนในรอบ 2 ปีที่ผ่านถือว่าน้อยลงมากเมื่อเทียบจากอดีต โดยเฉพาะตลาดส่งออกที่สามารถตรวจสอบและควบคุมได้บ้างในระดับหนึ่ง ขณะที่ตลาดภายในประเทศยังประสบปัญหานี้อยู่

“ฤดูกาลของทุเรียนมีเพียงปีละครั้ง ชาวสวนก็อยากขายแพงเพื่อให้ได้ราคาที่ดีที่สุด ยิ่งตลาดจีนรับไม่อั้นและเป็นตลาดใหญ่ คนไทยต้องรอจนกว่าจะส่งออกไม่ได้ถึงจะได้กินของถูกของดี แต่ถ้ามีเงินสามารถซื้อผลผลิตคุณภาพได้ก็ สามารถกินของดีเหมือนคนจีนได้เหมือนกัน” นายชลธีกล่าว