ส่งออกชายแดน-ผ่านแดน เม.ย. 65 ลดลง 10.83%

ค้าชายแดน
แฟ้มภาพ

ส่งออกชายแดน-ผ่านแดน เม.ย. 65 ลดลง 10.83% ขณะที่การค้าชายแดนกับ 4 ประเทศเพื่อนบ้าน ขยายตัวต่อเนื่อง 7.86 %

วันที่ 27 พฤษภาคม 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยตัวเลขการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดน เดือนเมษายน 2565 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 127,152 ล้านบาท ลดลง 10.83% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการส่งออก 74,243 ล้านบาท ลดลง
15.68% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

โดยการส่งออกชายแดนยังขยายตัวต่อเนื่อง 7.86% แม้การส่งออกผ่านแดนจะปรับตัวลดลงเนื่องจากผู้ส่งออกหันกลับไปขนส่งสินค้าทางเรือและทางอากาศเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์ปัญหาค่าระวางเรือและตู้คอนเทนเนอร์เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้สัดส่วนการส่งออกผ่านทางชายแดนลดลงเหลือ 9.49% ของการส่งออกโดยรวม

1.การค้าชายแดนและผ่านแดน เดือนเมษายน 2565 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 127,152 ล้านบาท ลดลง 10.83% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 74,243 ล้านบาท ลดลง 15.68% และการนำเข้ามูลค่า 52,909 ล้านบาท ลดลง 2.99% โดยไทยได้ดุลการค้าในเดือนเมษายน 2565 ทั้งสิ้น 21,334 ล้านบาท

1.1 การค้าชายแดนกับ 4 ประเทศ (มาเลเซีย สปป.ลาว เมียนมา และกัมพูชา) เดือนเมษายน 2565 มีมูลค่าการค้ารวม 81,501 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.26% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 47,508 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.86% และการนำเข้ามูลค่า 33,993 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 19.04% โดยมาเลเซียยังคงเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทยต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา ดังนี้

1) มาเลเซีย มูลค่าส่งออก 13,705 ล้านบาท ลดลง 10.32% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ยางพารา รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

2) กัมพูชา มูลค่าส่งออก 12,422 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.36% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และ สินค้าแร่และเชื้อเพลิงอื่น ๆ

3) เมียนมา มูลค่าส่งออก 10,812 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.07% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ และ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์

4) สปป.ลาว มูลค่าส่งออก 10,569 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.77% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดีเซล น้ำมันสำเร็จรูปอื่น ๆ และ น้ำตาลทราย

 

1.2 การค้าผ่านแดนไปประเทศที่สาม (จีน สิงคโปร์ เวียดนาม และประเทศอื่นๆ) เดือนเมษายน 2565 มีมูลค่ารวม 45,651 ล้านบาท ลดลง 34.77% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 26,735 ล้านบาท ลดลง 39.25% และการนำเข้ามูลค่า 18,916 ล้านบาท ลดลง 27.20% โดยจีนยังเป็นตลาดส่งออกหลัก ดังนี้

1) จีน มูลค่าส่งออก 11,965 ล้านบาท ลดลง 45.01% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์ยาง ยางพารา และ ไม้แปรรูป

2) สิงคโปร์ มูลค่าส่งออก 4,226 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.94% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องวิดีโอ เครื่องเสียง อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

3) เวียดนาม มูลค่าส่งออก 3,186 ล้านบาท ลดลง 24.73% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ หม้อแบตเตอรี่และส่วนประกอบ และสินค้าปศุสัตว์อื่น ๆ

4) ประเทศอื่นๆ (เช่น อังกฤษ ฮ่องกง สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ) มูลค่าส่งออก 7,358 ล้านบาท
ลดลง 47.54%

1.3 สัดส่วนการส่งออกผ่านทางชายแดน ในเดือน เม.ย. 2565 ลดลงเหลือ 9.49% ของการส่งออกรวมของประเทศ เมื่อเทียบกับเดือน เม.ย. 2564 ที่มีสัดส่วนถึง 14.43% โดยผู้ส่งออกหันกลับไปใช้การขนส่งทางเรือดังเดิม เนื่องจากสถานการณ์ค่าระวางเรือและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ที่เริ่มคลี่คลาย รวมถึงการขนส่งทางอากาศที่เพิ่มขึ้น

2. การค้าชายแดนและผ่านแดน 4 เดือนแรกของปี 2565 มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 546,418 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.85% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 313,882 ล้านบาท ลดลง
0.04% และการนำเข้ามูลค่า 232,536 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.60% โดยไทยได้ดุลการค้าทั้งสิ้น 81,345 ล้านบาท

 

3. ปัจจัยสนับสนุนการส่งออก

3.1 การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยล่าสุด ศบค. อนุญาตให้ชาวต่างชาติ/ประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ที่กำหนด สามารถเดินทางเข้าไทยทางจุดผ่านแดนถาวร (ทางบก) ได้โดยไม่ต้องกักตัว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป

ขณะที่มาเลเซีย สปป.ลาว และกัมพูชาก็ผ่อนคลายมาตรการโดยเปิดให้ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบเกณฑ์สามารถเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัวเช่นกัน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าในพื้นที่ชายแดนของไทยและประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวต้องขึ้นกับความพร้อมของแต่ละจังหวัดและประเทศเพื่อนบ้านด้วย

3.2 เงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า ช่วยให้สินค้าไทยสามารถแข่งขันด้านราคาได้มากขึ้น โดยค่าเงินบาทเฉลี่ยเดือนเมษายน 2565 เท่ากับ 33.80 บาท/เหรียญสหรัฐ และล่าสุด ณ สิ้นเดือนเมษายน 2565 ค่าเงินบาทอ่อนค่าที่ระดับ 34.34 บาท/เหรียญสหรัฐ

4. การดำเนินงานของกระทรวงพาณิชย์เพื่อสนับสนุนการค้าชายแดน โดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อาทิ

4.1 การผลักดันเปิดจุดผ่านแดนเพื่อขนส่งสินค้าภายใต้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดย ณ วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 มีจุดผ่านแดนฝั่งไทยเปิด 58 แห่ง จากทั้งหมด 97 แห่ง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเปิด 50 แห่ง

4.2 การดำเนินโครงการ “จับคู่กู้เงิน” สถาบันการเงินกับ SMEs ส่งออก โดยร่วมมือกับ EXIM Bank และ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในการปล่อยสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่อยู่ในห่วงโซ่การส่งออก รวมถึงผู้ประกอบการค้าชายแดน ซึ่ง ณ วันที่ 29 เมษายน 2565 มีผู้ประกอบการยื่นขอสินเชื่อ 905 ราย วงเงินรวม 5,184.2 ล้านบาท อนุมัติวงเงินแล้ว 863 ราย วงเงินรวม 5,020.9 ล้านบาท

 

4.3 การแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ โดยทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และภาคเอกชน ในการแก้ไขปัญหาและสนับสนุนการส่งออกผลไม้โดยเฉพาะการส่งออกไปจีน ซึ่งได้มีการประชุมติดตามความคืบหน้ามาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2565 และการแก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้ทำแผนส่งออกผลไม้สดไปจีนแล้วตามเป้าหมาย 530,000 ตัน เป็นการขนส่งทางเรือ 3.9 แสนตัน (83%) ทางอากาศ 36,000 ตัน (6.5%) และ ทางบก 49,706 ตัน (10.5%) เพื่อกระจายความเสี่ยงการขนส่งทางบกที่อาจประสบปัญหากรณีจีนปิดด่านเนื่องจากมาตรการควบคุมโควิด-19

4.4 การกิจกรรมส่งเสริมการค้าชายแดน โดยในปี 2565 กรมการค้าต่างประเทศมีแผนจัดงานมหกรรมการค้าชายแดนใน 8 จังหวัดเป้าหมาย ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว 3 จังหวัด คือ จังหวัดนครพนม แม่ฮ่องสอน และ ยะลา คงเหลืออีก 5 จังหวัด คือ สงขลา จันทบุรี มุกดาหาร สระแก้ว และเชียงราย ซึ่งกิจกรรมภายในงานจะประกอบด้วย การแสดงและจำหน่ายสินค้าส่งออกชั้นนำ การเจรจาจับคู่ธุรกิจ การอบรม/สัมมนา และการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชน