ตลาดหลักทรัพย์ ดันวิชาผู้ประกอบการทางสังคม สู่มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมปฏฺิรูปการศึกษา

ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมปฏฺิรูปการศึกษา จับมือเครือข่ายการศึกษาทั่วไป กระทรวง อว. ผลักดันวิชา “ผู้ประกอบการทางสังคม” ในมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เริ่มใช้ปี 2566

วันที่ 3 ตุลาคม 2565 ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯมุ่งพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน ภายใต้วิสัยทัศน์ “To Make the Capital Market ‘Work’ for Everyone” โดยในมิติของการพัฒนาและดูแลสังคม ตลาดหลักทรัพย์ฯได้สร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเรียนรู้ทางการเงินสำหรับคนไทยทุกกลุ่ม ควบคู่ไปกับการพัฒนาความรู้และศักยภาพผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก ไม่ว่าจะเป็น startup SMEs รวมถึงผู้ประกอบการทางสังคมหรือ social enterprise สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ SDG4 : Quality Education เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาที่มีคุณภาพ

วิชาผู้ประกอบการทางสังคม

โดยในปี 2564 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ร่วมกับเครือข่ายการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย (Thai GE Network) ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้แทนภาคสังคม ร่วมยกร่างวิชา “ผู้ประกอบการทางสังคม” ภายใต้หลักสูตร SE101 บรรจุให้เป็นหมวดวิชาศึกษาทั่วไป (General Education) ในระดับอุดมศึกษาของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อขยายองค์ความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคมให้กับคนรุ่นใหม่ในระบบการเรียนรู้ สร้างจุดตั้งต้นความคิดในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืน ปลูกฝังทัศนคติให้ความรับผิดชอบต่อสังคมเป็นรากฐานของการประกอบธุรกิจ สร้างศักยภาพการเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงแห่งอนาคต

ตอบโจทย์ อว.พัฒนาคน

ขณะที่ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ภารกิจหลักของ อว. คือ การพัฒนากำลังคนขั้นสูง และการสร้างความเป็นเลิศ ซึ่งโจทย์สำคัญการพัฒนากำลังคนของประเทศ เนื่องจากมีมหาวิทยาลัยในกำกับ อว.ประมาณ 150 แห่ง โดยภารกิจของมหาวิทยาลัย คือการพัฒนาบัณฑิตอย่างเดียวไม่ได้ ต้องส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ดังนั้น มหาวิทยาลัยในอนาคต จะไม่ใช่พื้นที่สำหรับคนอายุ 18-22 ปีเหมือนในอดีต แต่จะเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนทุกช่วงวัยสามารถเข้าถึงมหาวิทยาลัย และได้องค์ความรู้จากมหาวิทยาลัยด้วย

“อีกทั้งเมื่อย้อนกลับไปอดีต ถ้าเราเรียนในมหาวิทยาลัย ก็จะเรียนรู้จากอาจารย์ที่สอน ซึ่งอาจารย์เรียนอะไรมาก็สอนแบบนั้น แต่วันนี้โจทย์ของการเรียนการสอนไม่ใช่แบบเดิมอีกแล้ว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามหาวิทยาลัยจะสอนอะไร แต่ขึ้นอยู่กับว่าหลักสูตรนั้น ๆ ถูกสร้างร่วมกับใครบ้าง เพื่อให้ตอบโจทย์ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ชุมชน นี่คือเป้าหมายที่ตั้งไว้

และในระยะเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา เราก็พยายามออกแบบกลไกเพื่อจะตอบโจทย์ดังกล่าว ด้วยการปลดล็อกข้อจำกัดด้านการศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาหลายด้าน เช่น การจัดทำหลักสูตรแซนด์บอกซ์, การสร้างระบบคลังหน่วยกิตแห่งชาติ ที่เปิดโอกาสให้คนทุกช่วงวัยไปเข้าไปเรียน หรืออบรมอะไรก็ได้ และเมื่อเรียนจบหน่วยกิตจะถูกจัดเก็บไว้ที่ส่วนกลาง ซึ่งตรงนี้อาจต้องใช้ระยะเวลาสักระยะหนึ่งเกี่ยวกับการพัฒนาระบบ และการเข้าถึงของประชาชน

Advertisment

รวมถึงวิชาผู้ประกอบการทางสังคม ของตลาดหลักทรัพย์ฯก็ตอบโจทย์ที่เราตั้งไว้ เพราะเป็นการพัฒนาคน พัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญไม่ใช่แค่มหาวิทยาลัยคิดหลักสูตรเอง แต่เป็นการทำร่วมกันหลายภาคส่วนทั้งเครือข่ายการศึกษา ตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้วก็ผู้ประกอบการ ผมคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาหลักสูตรในปัจจุบัน และคาดว่าจะเกิดการพัฒนาคนที่ตอบโจทย์ของประเทศลำดับต่อไป”

เริ่มใช้ปี 2566 ในมหาวิทยาลัย

ดร.จงรัก วัชรินทร์รัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ประธานเครือข่ายการศึกษาทั่วไปแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วิชาผู้ประกอบการทางสังคม ถือเป็นอีกหนึ่งวิชาสำคัญของการพัฒนาสมรรถนะเยาวชนคนรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21 ซึ่งตรงกับคุณลักษณะของหมวดวิชาศึกษาทั่วไป ที่ส่งเสริมด้านความรู้ ทักษะ เจตคติ และจริยธรรม เนื้อหาวิชาจัดทำเป็น 2 หน่วยกิต 15 สัปดาห์ เน้นการเรียนการสอนแบบ active learning

Advertisment

ประกอบด้วยหัวข้อหลัก ได้แก่ ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับความยั่งยืน ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธุรกิจเพื่อสังคม การออกแบบโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาสังคม การวัดผลลัพธ์ทางสังคมเบื้องต้น และการสร้างแผนธุรกิจเบื้องต้น โดยวิชาผู้ประกอบการเพื่อสังคมจะนำไปเป็นรายวิชาต้นแบบในหมวดวิชาศึกษาทั่วไปให้กับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศได้นำไปใช้หรือปรับใช้ให้เข้ากับอัตลักษณ์ของแต่ละมหาวิทยาลัย ในปีการศึกษา 2566 ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความร่วมมือนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯได้จัดทำคู่มือและสื่อประกอบการสอนในรูปแบบออนไลน์ เพื่อให้มหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชนนำไปปรับใช้และถ่ายทอดความรู้ต่อ รวมทั้งจัดอบรมเนื้อหาวิชาและเทคนิคการถ่ายทอดที่เน้นการสอนแบบลงมือปฏิบัติ ให้นักศึกษาได้คิดและนำเสนอในรูปแบบกลุ่มหรือ Team base teaching แก่อาจารย์ เพื่อนำความรู้ไปถ่ายทอดต่อ ในโครงการ Train the Trainer เป็นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนนี้ด้วย โดยมีแผนร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเดินสายให้การส่งเสริมการออกแบบหลักสูตร และเรียนรู้เนื้อหาที่เกี่ยวข้องตลอดปี 2566