ศธ.จัดงานวันการศึกษาเอกชน รำลึก “โรงเรียนราษฎร์” สู่ “โรงเรียนเอกชน”

นายมณฑล ภาคสุวรรณ์
นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.)

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน กระทรวงศึกษาฯ เตรียมจัดงานวันการศึกษาเอกชน 5 ภูมิภาค ในปี 2566 รำลึกประวัติศาสตร์ จาก “โรงเรียนราษฎร์” สู่ “โรงเรียนเอกชน”

วันที่ 19 ธันวาคม 2565 นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (เลขาธิการ กช.) เปิดเผยว่าสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ร่วมกับสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษา ได้กำหนดให้มีการจัดงานวันการศึกษาเอกชน ประจำปี 2566 ขึ้น โดยมีการแข่งขันทางวิชาการ และกิจกรรมนำเสนอผลงานของครู และนักเรียน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน และได้แบ่งให้มีการจัดงานใน 5 ภาค ดังนี้

ภาคตะวันออก (ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว) จัดที่จังหวัดปราจีนบุรี วันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ 2566 

ภาคกลาง (กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร ชัยนาท พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี) จัดที่จังหวัดลพบุรี วันที่ 17-18 กุมภาพันธ์ 2566

ภาคเหนือ (เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร อุทัยธานี เชียงราย น่าน พะเยา แพร่) จัดที่จังหวัดลำพูน วันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2566 และมีจังหวัดนครสวรรค์ เจ้าภาพจัดแข่งขันทักษะทางวิชาการของนักเรียน รูปแบบ Online 6-8 ม.ค. 65

ภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี ยะลา กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต ระนอง สตูล ชุมพร นครศรีธรรมราช พัทลุง สุราษฎร์ธานี สงขลา) จัดที่จังหวัดสงขลา วันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2566

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี กาฬสินธุ์ ขอนแก่น  มหาสารคาม ร้อยเอ็ด นครพนม มุกดาหาร สกลนคร ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์) จัดที่จังหวัดหนองบัวลำภู วันที่ 24-25 กุมภาพันธ์ 2566 

จาก “โรงเรียนราษฎร์” สู่ “โรงเรียนเอกชน”

นายมณฑลกล่าวต่อว่า สำหรับการศึกษาเอกชนนับเป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยล้านนาไทยและสุโขทัย มีวัง วัด และบ้านเป็นสถานที่ให้การศึกษา ครั้นถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีการกำหนดนโยบายการจัดการศึกษาเอกชนขึ้นเป็นครั้งแรกในโครงการศึกษา ร.ศ. 117 หรือ ปีพุทธศักราช 2441 โดยมีคณะมิชชันนารีชาวอเมริกันจัดตั้งโรงเรียนเชลยศักดิ์ขึ้น แบ่งออกเป็นโรงเรียนเชลยศักดิ์ในบำรุงและนอกบำรุง 

หลังจากนั้น จึงเปลี่ยนจากโรงเรียนเชลยศักดิ์เป็นโรงเรียนบุคคล ตามระเบียบการศึกษาสำหรับประเทศสยาม พุทธศักราช 2454 แบ่งออกเป็นโรงเรียนที่สอนวิชาสามัญกับโรงเรียนที่สอนเฉพาะทาง ต่อมาในปีพุทธศักราช 2461 รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาเอกชน โดยประกาศพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2461 เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2461 และกระทรวงศึกษาธิการ ได้ถือเอาวันดังกล่าวเป็น “วันการศึกษาเอกชน”

เนื่องจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์เป็นต้นมา การศึกษาเอกชนก็เป็นที่นิยมและเพิ่มจำนวนมากขึ้น ในช่วงนั้นมีโรงเรียนราษฎร์ที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับของรัฐและผู้ปกครอง เช่น โรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย (จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2413) โรงเรียนอัสสัมชัญ (จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2420) โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน (จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2431) โรงเรียนราชินี (จัดตั้งเมื่อ พ.ศ. 2446 ที่ตำบลปากคลองตลาด) เป็นต้น 

หลังจากนั้นได้มีการแก้ไขและปรับปรุงพระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ ให้สอดคล้องกับสภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนเอกชนที่เปลี่ยนแปลงไป ได้แก่ พระราชบัญญัติโรงเรียนราษฎร์ พ.ศ. 2479 

จนกระทั่งเป็นพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2525 และเปลี่ยนมาเป็นพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ. 2550 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2554 ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมาเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า การศึกษาเอกชนเป็นผู้บุกเบิกการศึกษาในระบบของเมืองไทย มีบทบาทในการจัดการศึกษาควบคู่กับการศึกษาภาครัฐช่วยสนองตอบความต้องการของผู้ปกครองและนักเรียนได้เป็นอย่างดี