วิธีประเมินผลงานอาจารย์มหา’ลัยยุคใหม่ บีบขอตำแหน่งวิชาการทางลัด

อาจารย์ ผลงานวิจัย ผลงานวิชาการ

การขอตำแหน่งวิชาการ และผลงานวิจัย เมื่อสิ่งเหล่านี้กลายเป็นเครื่องชี้วัดหลักความมั่นคงและก้าวหน้าของตำแหน่ง “อาจารย์”

ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นร้อนในวงการการศึกษาถึง 2 ประเด็นใหญ่ และทั้ง 2 ประเด็นนี้เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่ “อาจารย์” ในมหาวิทยาลัยอย่างมาก นั่นคือ “การขอตำแหน่งทางวิชาการ” และ “การซื้องานวิจัยที่สำเร็จแล้ว เพื่อนำมาใส่ชื่อของตนเอง”

ทั้ง 2 ประเด็นที่เกิดขึ้นนี้ เป็นประเด็นที่ทำให้ผู้คนในวงการการศึกษา โดยเฉพาะอาจารย์และนักวิชาการต่างตั้งคำถามอย่างมากถึงสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น

“ตำแหน่งวิชาการ” จุดชี้เป็น-ชี้ตาย การต่อสัญญา

ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุถึงการเปลี่ยนแปลงเรื่องการต่อสัญญาของอาจารย์ในมหาวิทยาลัย โดยระบุว่า “ปีนี้เป็นปีแรกที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะเอาจริงเรื่องการไม่ต่อสัญญาอาจารย์ที่ไม่สามารถขอตำแหน่งทางวิชาการตามเกณฑ์ระยะเวลาที่กำหนดได้ ในขณะที่หลายมหาวิทยาลัยดำเนินการดังกล่าวมาหลายปีแล้ว

น่าเสียดายที่ทุกวันนี้คุณค่าและความมั่นคงของวิชาชีพอาจารย์ถูกผูกติดอยู่กับสถานะที่มาจากการถูกประเมินด้วยคนเพียงไม่กี่คน

การกระเสือกกระสนเอาตัวรอด ทำให้หลายคนเสาะแสวงหาหนทางลัด ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินเพื่อจ้างเขียนบทความ/หนังสือ การจ่ายใต้โต๊ะเพื่อให้ได้ตีพิมพ์ผลงานเร็วขึ้น หรือแม้กระทั่งการช่วยเหลือพวกพ้องให้ได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในสังกัดของตนเอง

เมื่อวิธีการที่ไม่ปกติถูกทำให้เป็นเรื่องปกติ เพราะระเบียบกฎเกณฑ์บังคับให้คนต้องหนีตายเช่นนั้น สุดท้ายเราคงต้องหันกลับมาตั้งคำถามว่า เรายังสามารถภาคภูมิใจในวิชาชีพของเราท่ามกลางความเน่าเฟะของระบบแบบที่เป็นอยู่ได้จริงหรือ”

โดยโพสต์ดังกล่าวมีอาจารย์เข้ามาแสดงความคิดเห็นเป็นจำนวนมากถึงประเด็นดังกล่าว หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจคือ การที่ตำแหน่งทางวิชาการ ถูกผูกกับการตีพิมพ์และประเมินผลงานวิจัย ผลงานวิชาการ มากกว่าการสอนในชั้นเรียน

ขณะเดียวกัน ศาสตราจารย์ ดร.โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสมาคมปรัชญาและศาสนาแห่งประเทศไทย ได้รวบรวมสเตตัสของเหล่าอาจารย์ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นเหล่านี้ไว้ด้วย

นอกจากนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจว่า ระบบการประเมินอาจารย์มหาวิทยาลัยเพื่อต่อสัญญาจ้างนั้น ในประเทศไทยมีการประเมินลักษณะดังกล่าวมานานแล้ว และในบางประเทศ มีการประเมินอาจารย์เพื่อต่อสัญญาจ้างด้วยเช่นกัน

แต่ระบบการประเมินเพื่อต่อสัญญาจ้างในต่างประเทศ ไม่ได้มีลักษณะแบบเดียวกับประเทศไทย อาทิ ฝรั่งเศส ที่กำหนดให้ต้องมีการตีพิมพ์ผลงานวิชาการอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้กำหนดรูปแบบว่าต้องทำงานวิจัยเพียงอย่างเดียว สามารถตีพิมพ์บทความวิชาการ หนังสือ หรือตำราก็ได้

ขณะที่บางประเทศเอง ไม่มีการใช้ตำแหน่งทางวิชาการ ในการประเมินต่อสัญญาจ้างอาจารย์แต่อย่างใด

ภาพที่จะเกิดขึ้นกับอาจารย์ในมหาวิทยาลัยประเทศไทย อาจเป็นภาพที่เราเห็นไม่ค่อยบ่อย แต่ถ้ามองภาพกว้างในวงการการศึกษาของประเทศไทย ภาพเหล่านี้มีความคล้ายคลึงกับเหล่าครูและอาจารย์ในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ต้องทุ่มเวลาส่วนใหญ่ใน 1 วันของการทำงาน ไปกับการที่ครูต้องทำผลงานเพื่อเลื่อนวิทยฐานะและการทำงานอื่น ๆ มากกว่าการเตรียมและพัฒนาการสอน

และสุดท้าย เมื่อต้องทุ่มเวลาไปกับการทำผลงานต่าง ๆ เพื่อความก้าวหน้าและเงื่อนไขที่แต่ละสถานศึกษากำหนด ก็ย่อมกระทบต่อคุณภาพการสอน จนอาจทำให้คุณภาพลดลง ทั้งการเรียนรู้ของเด็กและคุณภาพของสถานศึกษา

“ช็อปงานวิจัย” อีกหนึ่งปัญหาใหญ่วงการอาจารย์

อีกหนึ่งประเด็นที่ผู้คนให้ความสนใจคือ ประเด็นที่อาจารย์มหาวิทยาลัย ซื้องานวิจัยเพื่อให้มีชื่อของตนเองอยู่ในงานวิจัย

เริ่มต้นจาก ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค สวทช. โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า มีนักวิจัยที่ซื้องานวิจัยที่ไม่ได้ทำขึ้นเอง เพื่อให้มีชื่อในผลงานนั้น และนำไปขอตำแหน่งทางวิชาการ ขอทุนวิจัยได้

จากนั้น ศาสตราจารย์ นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ ศูนย์จีโนมิกส์ศิริราช เปิดเผยผ่านทวิตเตอร์เช่นกันว่า ผู้คนในวงการวิจัยและมหาวิทยาลัย ขุดพบการมีชื่ออ้างอิง และค่า H-index ซึ่งเป็นค่าดัชนีที่พยายามวัดทั้งผลิตภาพ (productivity) และผลกระทบ (impact) ของผลงานของนักวิจัย ในระดับที่สูง จากการไปซื้อสิทธิ์การเป็นเจ้าของผลงานวิจัย

นอกจากนี้ รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะเลขาธิการ ศูนย์ประสานงานบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า

“มีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่คนหนึ่งไปตีพิมพ์ในเรื่องของวัสดุนาโนเป็นชื่อที่หนึ่ง โดยจ่ายค่าตีพิมพ์ไป 30,000 บาท โดยที่สายงานอยู่เทคนิคการแพทย์ ไม่ใช่วัสดุศาสตร์ แล้วนำบทความที่ตีพิมพ์นั้นมาเบิกกับมหาวิทยาลัยจำนวน 120,000 บาท

เรื่องนี้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต้องสืบสวนสอบสวนครับ เพราะตอนนี้มีเว็บไซต์ที่ขายการเอาชื่อไปแปะในวารสารวิชาการ กำลังเป็นประเด็นอยู่”

หากสรุปประเด็นที่เกิดขึ้นจากสเตตัสของนักวิชาการ 3 ท่านข้างต้น ไม่ใช่แค่การจ่ายเงินซื้อสิทธิ์ในการมีชื่อในงานวิจัยเท่านั้น แต่ยังพบว่างานวิจัยที่มีชื่ออยู่นั้น ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยที่ข้ามศาสตร์ความชำนาญของอาจารย์คนดังกล่าว รวมถึงมีการนำบทความซึ่งซื้อสิทธิ์การมีชื่อในงานชิ้นดังกล่าวมาเบิกค่าใช้จ่ายกับมหาวิทยาลัยอีกด้วย

รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก ตั้งคำถามถึงคณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย และคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย ว่าจะจัดการกับเรื่องดังกล่าวอย่างไร?

จาก 2 ประเด็นที่เกิดขึ้น กลายเป็นคำถามของสังคมอยู่ไม่น้อย ถึงระบบการศึกษาในปัจจุบัน ที่กำหนดให้อาจารย์ต้องทำผลงานอย่างหนักหน่วง เพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่นคงในอาชีพการงาน ความก้าวหน้า ทั้งที่หน้าที่ที่แท้จริงของการเป็นอาจารย์คือการสอน และการให้ความรู้แก่ลูกศิษย์

ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นใหญ่อีกครั้งที่คนในสังคมเริ่มตั้งคำถามและร่วมกันคิด เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของประเทศไทยอย่างจริงจังอีกครั้ง เพื่อให้การศึกษาของประเทศเดินหน้าไปได้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน