CUD Hackathon เยาวชน 30 ทีมแข่งออกแบบนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ

โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม จัดแข่งขัน CUD Hackathon 2023 เยาวชน 30 ทีมจากโรงเรียนทั่วประเทศ แข่งออกแบบนวัตกรรมเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ชิงรางวัลชนะเลิศมูลค่า 50,000 บาท

วันที่ 28 มกราคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยฝ่ายมัธยม จัดการแข่งขันและประกวดออกแบบนวัตกรรมภายใต้ชื่อ “CUD Hackathon 2023” เป็นครั้งแรก โดยเป็นการแข่งขันการประกวดออกแบบนวัตกรรมเพื่อสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี ของเยาวชนจากโรงเรียนทั่วประเทศกว่า 150 ทีม คัดเลือกจนเหลือ 30 ทีมเข้าชิงรางวัลชนะเลิศ ซึ่งได้เริ่มจัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศตั้งแต่วันที่ 28-29 มกราคม 2566 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานกล่าวเปิดงานว่า งานครั้งนี้เป็นสิ่งสำคัญของประเทศ  เพราะเอาเด็กรุ่นใหม่มามีส่วนร่วมในการคิดนวัตกรรม เพื่อเป็นคำตอบให้กับประเทศ

คีย์เวิร์ดสำคัญคือคำว่า “นวัตกรรม” ซึ่งเป็นคำที่ไม่ได้มีอะไรลึกซึ้ง แค่เอาความคิดมาพัฒนาเป็นคำตอบ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับ stakeholder ไม่ได้มีคำว่าโปรแกรมเมอร์ หรือเทคโนโลยีอะไร เป็นเรื่องง่าย ๆ เบสิกที่เปลี่ยนชีวิตคนได้ สมมติเราพูดเรื่องเฮลท์แคร์ คำว่า stakeholder จะไม่ใช่แค่คนไข้ แต่อาจจะเป็นหมอ พยาบาล ซัพพลายเออร์ผู้ผลิตยา มีมิติที่ครอบคลุมหลากหลาย

“ความสำเร็จของนวัตกรรม คืออะไร ผมมองว่ามันมีอยู่ 3 มิติคือ มิติแรกวงต้องเป็นคำตอบที่คนเอาไปใช้ได้ ต้องเน้นที่คน มิติที่สองเทคโนโลยีต้องเป็นไปได้ มิติที่สามต้องเป็นไปได้ในแง่ธุรกิจ ถามว่าทำไมสตาร์ทอัพ 99% ถึงเจ๊ง ก็เพราะว่าทำแบบเทคนิคเกินไป ไม่ได้ตอบโจทย์คน ไม่ได้ตอบโจทย์เชิงธุรกิจ

ดังนั้นงานวันนี้จึงต้องบ่มเพาะเยาวชนให้ออกแบบนวัตกรรมครบทั้งสามมิติดังที่กล่าวมา เยาวชน 1 ทีมไม่ได้มีแค่โปรแกรมเมอร์ หรือคนประดิษฐ์เก่ง ต้องมีคนที่เข้าใจทุกมิติว่าคนต้องการอะไร ต้องมีผลตอบแทนที่เป็นไปได้ด้วย ไม่ใช่ออกแบบมาอย่างเดียว ซึ่งงานวันนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของเยาวชนที่จะพาตนเองเดินไปสู่หนทางที่ยังอีกยาวไกล เพื่อให้เกิดผลดีต่อประเทศต่อไป 

ด้านอาจารย์พรพรหม ชัยฉัตรพรสุข ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายมัธยม และรองคณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การแข่งขัน CUD Hackathon 2023 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้คิดสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสุขภาพ และความเป็นอยู่ที่ดี เพื่อสังคมไทยอย่างยั่งยืน

โดยกิจกรรมครั้งนี้ได้มีการบูรณาการเทคโนโลยีมาใช้พัฒนานวัตกรรม เช่น IoT, AI,Robotics,Software on Devices หรือ แอปลิเคชันซอฟท์แวร์ต่าง ๆ เป็นต้น รวมถึงเปิดโอกาสได้เสนอโมเดลธุรกิจด้วยการ Pitching ที่จะช่วยส่งเสริมให้เยาวชนไทยได้ฝึกการเป็นผู้ประกอบการด้วย 

ทั้งนี้ภายในงานมีการแจกรางวัลให้กับผู้เข้าแข่งขันรวมมูลค่ามากกว่า 50,000 บาท โดยทีมที่ชนะเลิศจะได้รับโล่และเหรียญรางวัลพ้อมเกียรติบัตรและเงินรางวัล 25,000 บาท พร้อมบัตรเข้าชมงาน Techsauce Special Award Glbal Summit 2023

รางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้รับโล่และเหรียญรางวัลพร้อมเกียรติบัตรและเงินรางวัล 15,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับสองได้รับโล่และเหรียญรางวัลพร้อมเกียรติบัตรและเงินรางวัล 10,000 บาท 

สาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยมคว้าที่ 1

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลการแข่งขันในช่วงวันที่ 28-29 มกราคมที่ผ่านมาปรากฏว่าทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Narcolepsycue จากโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม ภายใต้ผลงานประเภท Application&Product “แก้ไขปัญหาการหลับในบนท้องถนน”

สมาชิกในทีมประกอบด้วย น.ส.ปริณ จุลนวล  น.ส.ชุติรดา ศานติวรพงษ์ นายวีรวิน ไวฑูรเกียรติ และนายยสินทร ปุญญวานิช ได้รับโล่และเหรียญรางวัลพร้อมเกียรติบัตรและเงินรางวัล 25,000 บาท พร้อมบัตรเข้าชมงาน Techsauce Special Award Global Summit 2023 และแพคเกจ LICENSE อาษาเฟรมเวิร์ค 1 ปี จากบริษัทอาษา โปรดักชั่น จำกัด มูลค่า USD 499.99

สาธิตจุฬา

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม RECiSE  โรงเรียนปรินซ์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ จากผลงาน “แอปพลิเคชันและอุปกรณ์ตรวจจอประสาทตาด้วยเครื่องส่องดูตาเพื่อการตรวจสอบโรคต้อกระจกในผู้สูงอายุด้วยปัญญาประดิษฐ์” รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Hedthong  โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี จากผลงาน “แอปพลิเคชันเพื่อสังคมผู้สูงอายุ…shine..sky”

รางวัลชมเชยมี 3 ทีมได้แก่ ทีม Stand up โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง จากผลงาน “เครื่องช่วยลดการออกแรงบริเวณหัวเข่าที่ควบคุมด้วยสัญญาณไฟฟ้าจากกล้ามเนื้อ” ทีม EIPCA โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จ.เชียงใหม่ จากผลงาน “โปรแกรมเพื่อช่วยวิเคราะห์โรคหัวใจและหลอดเลือดผ่านกราฟของคลื่นไฟฟ้าหัวใจด้วยปัญญาประดิษฐ์” และทีม Wbrain โรงเรียนสาธิตจุฬาฯ ฝ่ายมัธยม จากผลงาน “การแก้ปัญหาโรคสมองเสื่อมและโรคสมาธิสั้นเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี”

ปริณ จุลนวล ชุติรดา ศานติวรพงษ์ วีรวิน ไวฑูรเกียรติ และยสินทร ปุญญวานิช สมาชิกทีม Narcolepsycue เปิดเผยว่า รู้สึกภูมิใจและดีใจมากที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ เพื่อนๆ ในทีมร่วมมือร่วมใจกันเต็มที่ตลอดทั้งสองวันเพื่อแก้ไขโจทย์ที่กำหนดให้ กิจกรรมในครั้งนี้ได้ทั้งประสบการณ์และความรู้เกี่ยวกับการออกแบบนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความยั่งยืน ช่วยพัฒนาให้เราเป็นนวัตกรและผู้ประกอบการในการคิดออกแบบปัญหาที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม เป็นงานที่ประทับใจมาก ขอบคุณโอกาสดีๆ ที่ได้รับจากงานนี้

 

CUD Hackaton