อุตสาหกรรมการบินฟื้นตัว ต้องการแรงงานสูง DPU เร่งผลิตคนป้อนตลาด

คณบดี วิทยาลัยการบิน มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ชี้หลังอุตสาหกรรมการบินฟื้นตัว ความต้องการแรงงานพุ่งสูง เร่งเตรียมนักศึกษาป้อนตลาดแรงงานเพิ่ม 

วันที่ 7 มีนาคม 2566 นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนา มานนท์ คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน (CADT: College of Aviation Development and Training ) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) เปิดเผยว่า ภายหลังการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ประกอบกับนโยบายภาครัฐที่ประกาศเปิดประตูรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการบินที่เริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด

สังเกตเห็นได้ว่า ปี 2566 สถานการณ์ด้านการบินคึกคักมากขึ้น โดยข้อมูลเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เฉพาะที่สนามบินสุวรรณภูมิมีเที่ยวบินจำนวนกว่า 800 เที่ยวต่อวัน และเมื่อรวมทั้งประเทศจะมีเที่ยวบินกว่า 2,000 เที่ยวต่อวัน

ในส่วนของนักท่องเที่ยวประมาณการไว้ว่าจะมีจำนวนกว่า 3 แสนคนต่อวัน ซึ่งสอดรับกับรัฐบาลที่ประกาศตัวเลขนักท่องเที่ยวจากเดิม 20 ล้านคน เพิ่มขึ้นมาเป็น 25  ล้านคนต่อปี จากตัวเลขดังกล่าวคาดว่าจำนวนเที่ยวบินและจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนา มานนท์ คณบดีวิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน

อุตสาหกรรมการบินฟื้นตัวแต่ขาดแรงงาน

ขณะที่อุตสาหกรรมการบินเริ่มฟื้นตัว แต่แรงงานด้านการบินกลับขาดแคลน สืบเนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 เมื่อปลายปี 2562 ที่ทำให้ทั่วโลกวิกฤตหนัก อุตสาหกรรมการบินก็เช่นกัน โดยอุตสาหกรรมการบินในประเทศไทย มีการปลดพนักงานทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายปฏิบัติการ ซึ่งในปี 2563 พบว่ามีบุคลากรโดยตรงในสายการบินเหลือเพียง 8 หมื่นกว่าคน จากเดิมที่มีจำนวนกว่า 2 แสนคน

นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนากล่าวต่อว่า ความต้องการแรงงานที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมการบินยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ตามแนวโน้มการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการบิน ซึ่งไม่ได้มีเพียงแค่อาชีพพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน หรืออาชีพนักบิน ช่างเครื่อง หรือผู้ควบคุมการจราจรทางอากาศเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ในอุตสาหกรรมการบินมีอาชีพและตำแหน่งงานที่รองรับมากกว่า 69 สายงานอาชีพ

นอกจากนี้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมการบินจะกลับมาเป็นปกติในปี 2567 ซึ่งคาดว่าแรงงานด้านนี้จะขาดแคลน เนื่องจากบุคลากรด้านการบินที่ออกไปประกอบอาชีพอื่น ๆ หลายคนก็ไม่กลับมาประกอบอาชีพเดิมแล้ว

DPU เร่งผลิตบุคลากรรองรับ

ทั้งนี้วิทยาลัยการพัฒนาและฝึกอบรมด้านการบิน มธบ. หรือ CADT DPU ในฐานะสถาบันการศึกษา ที่มุ่งมั่น สร้างมืออาชีพด้านธุรกิจการบิน ที่ต้องมีทั้งความรู้ ทักษะและประสบการณ์ และมีใจรักในงานบริการ โดยวิทยาลัยฯ มีความพร้อมทั้งหลักสูตรการเรียน การสอน บุคลากร และสิ่งอำนวยความสะดวก

โดยเปิดการสอนในระดับปริญญาตรี 2 หลักสูตร คือ ศิลปศาสตรบัณฑิต (ศศ.บ.) สาขาธุรกิจการบิน และ สาขาการจัดการเทคโนโลยีการบิน (วิชาเอกการจัดการอำนวยการบิน)  และยังมีหลักสูตรฝึกอบรมด้านการบินสำหรับบุคคลทั่วไป ตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization: ICAO) และสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (International Air Transport Association: IATA)

ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะสั้นด้านการบินต่างๆ ที่เป็นหลักสูตรมาตรฐานสากล นอกจากนี้ DPU Aviation Academy (DAA) ของ CADT DPU ยังเป็นศูนย์ฝึกอบรมด้านการบินครบวงจรที่สำคัญของประเทศ และเป็นมหาวิทยาลัยเดียวในประเทศไทยที่ได้รับการรับรองจาก IATA ถึง 6 ปีซ้อน ตอบสนองนโยบายของรัฐในการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินของอาเซียน

“สำหรับสาขาการจัดการเทคโนโลยีการบินเป็นหลักสูตร 2 ภาษา ซึ่งเป็นหลักสูตรปริญญาตรีสาขาแรกในประเทศไทยที่สร้างหขึ้นมาเพื่อให้น้อง ๆ ที่สนใจและมีความต้องการทำงานด้านการอำนวยการบิน หรือ สนใจอยากจะต่อยอดไปเป็นนักบินก็สามารถทำได้ โดยวิทยาลัยฯ มีเครื่องช่วยฝึกบินจำลอง (Flight Simulators) ถึง 3 เครื่องด้วยกัน คือเครื่องแบบ Boeing 737-800NG จำนวน 1 เครื่อง และแบบ Cessna 172-G1000 จำนวน 2 เครื่อง

โดยน้อง ๆ จะได้สัมผัสประสบการณ์เสมือนจริงด้านการบิน ผู้ที่สนใจอยากเป็นนักบินเราก็มีโรงเรียนการบินที่เป็นพันธมิตรโดยล่าสุดได้ลงนามความร่วมมือกับบางกอกแอร์เวย์ โรงเรียนการบิน Thai Inter Flying และ Thai Flying Service แต่หากนอกเหนือจากเครือข่ายพันธมิตรของวิทยาลัยฯ เราก็สามารถประสานให้ได้”

การบิน DPU

นาวาอากาศตรี ดร.วัฒนากล่าวเพิ่มเติมว่า CADT DPU พัฒนาการเรียนการสอน เพิ่มทักษะและประสบการณ์ให้กับนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดลงนามความร่วมมือทางวิชาการกับบริษัทในเครือของการบินไทยประกอบด้วย บริษัท ไทยไฟลท์เทรนนิ่ง จำกัด และ บริษัท วิงสแปน เซอร์วิสเซส จำกัด

ทั้งนี้เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เข้าปฏิบัติงานสหกิจศึกษาในรูปแบบการศึกษาเชิงบูรณาการกับการทำงาน (Cooperative and Work-Integrate Education : CWIE) รวมถึงโอกาสในการพัฒนาให้มีความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ อนาคตสำหรับนักศึกษาที่มีศักยภาพ นับเป็นความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนให้มีทักษะวิชาชีพสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและความต้องการของสถานประกอบการ

“CADT DPU ยังเป็นองค์กรรับรองโดยเป็นศูนย์ทดสอบเพื่อรับใบประกาศนียบัตรของสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) สาขาพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน ทางเรามีการจัดสอบให้นักศึกษาชั้นปีที่ 4 โดยจะได้รับประกาศนียบัตรจากสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพฯ เมื่อสอบผ่าน ที่สำคัญเป็นการสอบโดยรัฐบาลให้เงินสนับสนุน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดี เมื่อเรียนจบจากที่นี่ใครอยากเป็นนักบินเราก็สานฝันให้ ใครอยากเรียนหลักสูตรสากล IATA หรือสอบใบประกอบวิชาชีพเพื่อเป็น Portfolio นำไปสมัครงาน เราก็จัดให้ได้”

“สำหรับน้อง ๆ ที่เรียนดีทางวิทยาลัยฯ ก็มีทุนให้ด้วย และยังมีหลากหลายทุน ทั้งทุน 100% 50% ทุนสำหรับ influencer และทุนสำหรับน้อง ๆ ที่อยู่ในครอบครัวการบินด้วย”