กฟผ.-มศว ดันหลักสูตร STEM² สู่ 200 โรงเรียน เข้าใจเรื่องไฟฟ้า

กฟผ สะเต็มกำลังสอง

กฟผ.-มศว ผลักดันหลักสูตร STEM² “ถ้าพรุ่งนี้…ไม่มีไฟฟ้า” แก่นักเรียนชั้น ม.ต้น ในโรงเรียน 200 แห่ง หวังให้เด็กรุ่นใหม่ เข้าใจสถานการณ์ปัญหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย ทั้งข้อดี ข้อจำกัด และปริมาณการปล่อยคาร์บอนของเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแต่ละชนิด

วันที่ 11 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตรศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) จัดการประกวดผลงานนักเรียน หลักสูตรสะเต็มกำลังสอง (STEM²) ถ้าพรุ่งนี้…ไม่มีไฟฟ้า การพูดเชิงสร้างสรรค์ ElectricTalk ในหัวข้อ “เราจะมีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร” เมื่อวันที่ 10 เมษายนที่ผ่านมา

ซึ่งเป็นการพูดสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักเกี่ยวกับสถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย และแนวทางการแก้ปัญหาพลังงานไฟฟ้าในประเทศอย่างยั่งยืน โดยกิจกรรมพูดเชิงสร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมในหลักสูตรและนักเรียนที่เข้าแข่งขันเป็นนักเรียนที่เรียนรู้โดยใช้หลักสูตรบูรณาการสะเต็มกำลังสอง เรื่อง ถ้าพรุ่งนี้…ไม่มีไฟฟ้า ในปีการศึกษา 2565

กฟผ.สะเต็มกำลังสอง1

หลักสูตรสะเต็มกำลัง เรื่อง “ถ้าพรุ่งนี้…ไม่มีไฟฟ้า” เป็นการเรียนรู้บูรณาการมาตรฐานและตัวชี้วัดของ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ในระดับชั้นมัธยมตอนต้น มุ่งให้ผู้เรียนเข้าใจสถานการณ์ปัญหาพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย ข้อดี ข้อจำกัดและปริมาณการปล่อยคาร์บอนของเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าแต่ละชนิด

ส่งเสริมสมรรถนะในการบูรณาการความรู้ และข้อมูลที่ได้จากการเรียนรู้มาออกแบบแผนการผลิตพลังงานไฟฟ้าของประเทศเพื่อให้มีพลังงานไฟฟ้าใช้อย่างมั่นคง ราคาเหมาะสม ลดการปล่อยคาร์บอนสู่สิ่งแวดล้อม และสามารถสื่อสารนำเสนอได้อย่างสร้างสรรค์

ADVERTISMENT

ภายใต้คำถามสำคัญ “เราจะมีพลังงานไฟฟ้าใช้ให้ยั่งยืนได้อย่างไร” โดยโรงเรียนสามารถประยุกต์ใช้หลักสูตรกับระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นได้ตามความสอดคล้องกับหลักสูตรสถานศึกษา

ผศ.ดร.นลินา ประไพรักษ์สิทธิ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่า หลักสูตรสะเต็มกำลังสอง เป็นนวัตกรรมหลักสูตรบูรณาการ ที่เน้นบูรณาการสาระการเรียนรู้ตามตัวชี้วัดแกนกลาง 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาแล้วในบริบทจริง โดยหลักสูตรสะเต็มกำลังสอง เรื่องถ้าพรุ่งนี้ไม่มีไฟฟ้า ได้เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปี 2559 ผ่านการพัฒนาและปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้แกนกลางที่มีการเปลี่ยนแปลง ในปัจจุบันได้มีการปรับกิจกรรมการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับการเรียนรู้ฐานสมรรถนะ เพื่อเป็นต้นแบบของการจัดการเรียนรู้ฐานสมรรถนะในอนาคต

ADVERTISMENT

ศิริวัฒน์ เจ็ดสี ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมโรงไฟฟ้า กฟผ. กล่าวว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เล็งเห็นว่าการเรียนรู้แบบบูรณาการช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจอย่างรอบด้าน และเกิดสมรรถนะในการเรียนรู้ ตัดสินใจและแก้ปัญหาหาด้วยตนเองอย่างสร้างสรรค์ ดังนั้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกับศูนย์วิทยาศาสตรศึกษา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้เริ่มพัฒนาหลักสูตรสะเต็มกำลังสอง เรื่อง “ถ้าพรุ่งนี้ไม่มีไฟฟ้า” ขึ้น

โดยมุ่งหวังว่าผู้เรียนที่ได้เรียนในหลักสูตรนี้ จะสามารถแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจเกี่ยวกับแนวทางการใช้และจัดหาพลังงานไฟฟ้า เพื่อให้ประเทศไทยมีไฟฟ้าใช้อย่างมั่นคง เพียงพอต่อความต้องการ ราคาต่อหน่วยที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม บนพื้นฐานความเข้าใจและข้อมูลที่ถูกต้อง น่าเชื่อถือ

การประกวดผลงานนักเรียนครั้งนี้  เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่สะท้อนผลลัพธ์ของหลักสูตร โดยโรงเรียนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้ ได้แก่ ทีม Electric Girls จากโรงเรียนหางดงรัฐราษฎร์อุปถัมภ์ สมาชิกประกอบด้วย เด็กหญิงชนิกานต์ ณ สกุล เด็กหญิงพัชราภรณ์ ป๊อกนันตา และเด็กหญิงศิวปรียา สร้อยคำ

ทีม Electric Girls จากโรงเรียนหางดงรัฐราษฎร์อุปถัม

โดยครูจักรพงศ์ จันทวงศ์ และครูภัตติมา วงศ์สุวรรณ์ ครูที่ปรึกษานักเรียนกล่าวว่า ดีใจและภูมิใจกับความสำเร็จของนักเรียนมากที่ได้นำความรู้ในทุกกลุ่มสาระวิชาที่เรียนมาใช้ประยุกต์กับเรื่องของการรู้จักพลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นการบูรณาการวิชาความรู้ในหลายศาสตร์สาขา ทำให้นักเรียนเข้าใจความรู้ที่เป็นประโยชน์กับชีวิตจริงได้และสามารถนำเสนอ สื่อสารทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างน่าสนใจและเข้าใจได้โดยง่าย

นอกจากนี้เด็กหญิงชนิกานต์ ณ สกุล หัวหน้าทีมกล่าวว่า เราทั้ง 3 คนในทีมช่วยกันคิดรูปแบบการนำเสนอและฝึกซ้อมการพูดสื่อสาร โดยใช้ความรู้ในหลักสูตรสะเต็มกำลังสอง ถ้าพรุ่งนี้…ไม่มีไฟฟ้า กันอย่างเต็มที่เพราะเราตระหนักว่าพลังงานไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตคนเรา จากการเรียนและประสบการณ์จริงในชีวิต ทำให้เราเข้าใจว่าการเริ่มต้นประหยัดพลังงานไฟฟ้าจากการเริ่มต้นที่ตัวเรา จะเป็นเครื่องมือที่ง่ายที่สุดและส่งผลให้เรามีไฟฟ้าใช้อย่างยั่งยืนค่ะ

อย่างไรก็ตาม หลักสูตรสะเต็มกำลังสอง “ถ้าพรุ่งนี้…ไม่มีไฟฟ้าใช้” เป็นหลักสูตรสำเร็จรูป ที่เปิดให้ครูผู้สอนสามารถนำไปใช้ได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ในปีการศึกษา 2565 มีโรงเรียนลงทะเบียนใช้หลักสูตรแล้วกว่า 200 โรงเรียน สามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://stem2.science.swu.ac.th/