มศว. เจ้าภาพจัดแข่งวิทยาศาสตร์โอลิมปิก เด็กไทยสมัครกว่า 1 หมื่นคน

วิทยาศาสตร์ โอลิมปิก
ภาพจาก:คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกนานาชาติ ระดับชั้น ม.ต้น ครั้งที่ 20 มี 55 ประเทศเข้าร่วม เด็กไทยแห่สมัครกว่า 1 หมื่นคน 

วันที่ 11 พฤษภาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประเทศไทย ได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครั้งที่ 20 ระหว่างวันที่ 1-10 ธันวาคม 2566 โดยเป็นความร่วมมือจากหลายภาคส่วนในประเทศ ได้แก่ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (มูลนิธิ สอวน.), สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), ศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), National Coordinator Olympiad Netherlands และคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ

แข่งโอลิมปิกวิชาการเริ่มที่อินโดนีเซียเมื่อ 20 ปีก่อน

รองศาสตราจารย์ ดร.พินิติ รตะนานุกูล กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ และพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ กล่าวว่า เมื่อ 20 ปีก่อนได้มีกลุ่มนักวิชาการที่เล็งเห็นความสำคัญของการกระตุ้นให้นักเรียนมีความสนใจในด้านวิทยาศาสตร์มากขึ้น คิดว่าน่าจะมีเวทีให้นักเรียนเหล่านี้ได้มาแสดงความสามารถในเชิงวิชาการ 

จึงได้จัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในเวทีนานาชาติครั้งแรกที่ประเทศอินโดนีเชีย และในช่วงนั้นประเทศไทยก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการแข่งขันด้วย ตั้งแต่ครั้งนั้นเราจึงได้ส่งทีมนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นไปแข่งขัน ซึ่งการที่มีเวทีลักษณะนี้ ถือเป็นการเปิดโอกาสให้นักเรียนที่มีความสนใจและอยากเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ได้มีแรงผลักดันที่จะสร้างศักยภาพของตนเองให้มากขึ้น เพื่อที่จะก้าวเข้าสู่เวทีการแข่งขันในระดับวิชาการในระดับนานาชาติต่อไป

ไทยเป็นเจ้าภาพครั้งที่ 20

รองศาสตราจารย์ ดร.พินิติกล่าวต่อว่า ในครั้งนี้ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครั้งที่ 20 ประจำปี พ.ศ. 2566 (20th International Junior Science Olympiad) เนื่องจากประเทศไทยเราได้มีส่วนร่วมในการส่งนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นไปร่วมแข่งขันมาตั้งแต่ครั้งแรกตลอด 20 ปีที่ผ่านมา และยังไม่เคยเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน 

“และในปีนี้ พ.ศ. 2566 ถือเป็นการเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวาระครบ 100 ปี วันประสูติสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และการที่ท่านได้รับการรับรองพระนามเป็นบุคคลสำคัญของโลกจากองค์การยูเนสโก และเป็นองค์ประธานมูลนิธิตอนจัดตั้ง ในปี พ.ศ. 2542 ทางมูลนิธิจึงเล็งเห็นว่าน่าจะเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยยินดีจะรับโอกาสเป็นเจ้าภาพการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครั้งที่ 20”

เด็กทั่วประเทศแห่สมัคร 1 หมื่นกว่าคน

รองศาสตราจารย์ ดร.พินิติกล่าวอีกว่า สำหรับการคัดเลือกนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นตัวแทนประเทศไทย ทางมูลนิธิ และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ร่วมกันรับสมัคร ซึ่งในปีนี้มีนักเรียนทั่วประเทศประมาณ 10,500 คนสมัครในรอบแรก หลังจากนั้นมีการสอบเพื่อคัดกรองเพื่อให้เหลือจำนวน 300 คน 

และจะมีการสอบคัดกรองอีกครั้งเพื่อให้เหลือ 30 คน และนำมาเตรียมความพร้อมโดยการเพิ่มทักษะความรู้ความสามารถเพื่อที่จะไปแข่งขันในระดับเวทีนานาชาติต่อไป และในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายที่กำลังคัดสรรหาตัวแทนประเทศไทย

“ในด้านการเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในครั้งนี้ ทางมูลนิธิ และ สสวท. มีการเตรียมการตั้งแต่ยื่นความจำนงที่จะเป็นเจ้าภาพมาในระยะเวลาหลายปี และเห็นว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีความพร้อมในหลายระดับทั้งบุคลากรที่จะมาจัดการแข่งขัน บุคลากรทางด้านวิชาการ และสถานที่ที่เหมาะสม เหมาะที่จะต้อนรับนักเรียนจากทั่วโลกและผู้ที่สนใจหรือเกี่ยวข้องได้”

แข่งวิชาเคมี ชีวะ ฟิสิกส์ ทั้งทฤษฎี ปฏิบัติ

รองศาสตราจารย์ ดร.พินิติกล่าวด้วยว่า มูลนิธิ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้จัดตั้งคณะทำงานหลากหลายส่วน โดยเฉพาะคณะกรรมการวิชาการที่จะทำหน้าที่ในการออกข้อสอบสำหรับการแข่งขันในครั้งนี้ เนื่องจากการแข่งขันในครั้งนี้เป็นการสอบในราย 3 วิชา คือ วิชาเคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์ ในการแข่งขันจะประกอบไปด้วยภาคทฤษฎีและภาคภาคปฏิบัติ ซึ่งในด้านการปฏิบัติจะเป็นการประยุกต์นำทั้ง 3 วิชาเข้าด้วยกัน และมีการตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข้อสอบ มาตรฐานของข้อสอบ 

จึงกล่าวได้ว่า ประเทศไทยมีความพร้อมแล้วที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในครั้งที่ 20 นี้ และมั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถจัดการแข่งขันได้อย่างดีที่สุด

ทางด้าน ดร.อาทิตยา ปัญญา ผู้อำนวยการศูนย์บริหารงานการพัฒนาศักยภาพบุคคลเพื่อความเป็นเลิศ กล่าวว่า การดูแลนักเรียนที่เข้าร่วมการแข่งขันวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ครั้งที่ 20 ประจำปี พ.ศ. 2566 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษาในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) และสถาบันอุดมศึกษา ดูแลนักเรียนที่ผ่านการคัดเลือกเข้าค่าย 

โดยการให้การสนับสนุนงบประมาณด้านอาหาร และที่พักรวมทั้งการดูแลนักเรียนที่อยู่ในค่ายเน้นการพัฒนาในทุกมิติรวมทั้งด้านความปลอดภัยโดยอำนวยความสะดวกในด้านต่าง ๆ ให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติการเติมเต็มประสบการณ์ด้านต่าง ๆ ให้นักเรียนแต่ละคนได้พัฒนาเต็มศักยภาพ

รวมทั้งการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข มุ่งเน้นคุณธรรมและจริยธรรมสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ยังคงมุ่งมั่นพัฒนานักเรียนและครูทั่วทุกภูมิภาค เพื่อยกระดับมาตรฐานการจัดการศึกษาด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและลดความเหลื่อมล้ำในการจัดการศึกษาให้แก่เด็กที่อยู่ในภูมิภาคที่มีความแตกต่างกัน

มศว.พร้อมต้อนรับ 55 ประเทศ-ไทยออกข้อสอบเอง

ศาสตราจารย์ ดร.ปรินทร์ ชัยวิสุทธางกูร คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ได้กล่าวถึงความพร้อมของสถานที่ในการจัดการแข่งขันว่า มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มีความพร้อมในการต้อนรับผู้เข้าร่วมแข่งขันจากทั้ง 55 ประเทศ โดยแต่ละประเทศส่งนักเรียนเข้าร่วมการแข่งขัน 6 คน รวมทั้งมีครูผู้คุมทีมประเทศละ 3 คน รวมเป็น 9 คนจากแต่ละประเทศ 

และในเบื้องต้นข้อสอบปฏิบัติการ ทางคณาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ถือเป็นผู้ออกข้อสอบหลัก ตอนนี้ได้ทำการออกข้อสอบไปถึง 80% แล้ว ทั้งนี้เพื่อให้มั่นใจว่า ข้อสอบมีมาตรฐานในระดับนานาชาติ และในเรื่องของห้องปฏิบัติการตอนนี้มีการเตรียมความพร้อมโดยทำการปรับปรุงห้อง lab ให้มีมาตรฐานในระดับนานาชาติ ได้รับการสนับสนุนจากท่านอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล รวมทั้งท่านรองอธิการบดีอีกหลายท่านที่ได้ร่วมผลักดันสนับสนุนจนกระทั่งได้ห้องปฏิบัติการที่มีความพร้อมในการจัดการแข่งขัน เพื่อให้มีความพร้อมที่จะจัดการแข่งขัน 

แต่ในส่วนของข้อสอบบรรยาย นอกจากทางมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒที่เป็นผู้ออกข้อสอบแล้ว ยังได้รับความอนุเคราะห์จากมหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการร่วมกันออกข้อสอบ มีความพร้อมได้ถึง 80% แล้วเช่นเดียวกัน และนี่คือความพร้อมทางฝั่งของการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันในครั้งนี้