ม.อ. เปิดยุทธศาสตร์ new normal เรียนแบบไฮบริด ตอบโจทย์หลังโควิด-19

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดแผนยุทธศาสตร์การศึกษารับยุค new normal ยกระดับการศึกษาทั้ง 5 วิทยาเขตสู่การเรียนการสอนแบบไฮบริด ผสมผสานการเรียนการสอนในห้องเรียนเน้นปฏิบัติจริงควบคู่กับออนไลน์ ปั้นแรงงานคุณภาพตอบโจทย์ความต้องการในศตวรรษที่ 21 พร้อมใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางในการรับคำปรึกษาและพัฒนาองค์ความรู้ในการประกอบอาชีพ เพื่อพลิกฟื้นสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจในภาคใต้

“ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ” อธิการบดี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า มหาวิทยาลัยมีแผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานของมหาวิทยาลัยที่ต้องการยกระดับสู่การเป็นมหาวิทยาลัยนานาชาติ มีเป้าหมายต้องการเป็น 1 ใน 5 มหาวิทยาลัยชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน โดยอาศัยองค์ความรู้ด้านการศึกษา ตลอดจนนักวิจัยและบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพและเป็นเสาหลักด้านการศึกษาให้แก่พี่น้องประชาชนในเขตพื้นที่ภาคใต้ ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อเป็นฐานราก เน้นในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ ศึกษาศาสตร์ มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์

ที่สำคัญต้องสร้างบัณฑิตที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงาน สอดคล้องกับพลวัตการเปลี่ยนแปลงเชิงเศรษฐกิจและสังคม หลังการแพร่ระบาดของ COVID-19 จึงได้มอบหมายให้ทั้ง 5 วิทยาเขต ได้แก่ วิทยาเขตปัตตานี หาดใหญ่ ภูเก็ต สุราษฎร์ธานีและตรัง ปรับภูมิทัศน์การเรียนการสอนให้สอดคล้องกับวิถีการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบ Learning Platform Online ใช้ความเข้มแข็งทางด้านเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ของนักศึกษา เน้นให้เกิดการปฎิบัติจริงควบคู่กับไปการใช้ระบบออนไลน์ในการเรียนการสอน เพื่อยกระดับการศึกษาสู่รูปแบบ PSU Education Transformation ทำให้บัณฑิตที่สำเร็จการศึกษา สามารถนำความรู้ไปใช้ในการทำงานในชีวิตจริงและเน้นทำประโยชน์เพื่อสังคมและการทำงานได้ทั่วโลก

“เราได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีคุณภาพเพื่อตอบโจทย์สังคมในยุค new normal โดยยังคงยึดโยงเป้าหมายที่ต้องการสร้างสรรค์บุคลากรที่มีคุณภาพเข้าสู่ตลาดแรงงานให้สอดรับกับยุทธศาสตร์ของชาติและให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก เพื่อให้บัณฑิตทุกคนสามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงของความต้องการแรงงานในยุคศตวรรษที่ 21 ควบคู่กับการสร้างองค์ความรู้ผ่านงานวิจัยระดับภูมิภาคของนักวิชาการ ม.อ. ที่นำไปต่อยอดและสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่จังหวัดภาคใต้และประเทศไทย ส่งผลให้ ณ ปัจจุบัน ม.อ.ได้รับการยอมรับให้เป็นมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติที่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก”


ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยยังมีนโยบายใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยทั้ง 5 วิทยาเขต ให้เป็นแหล่งพัฒนาและรวบรวมข้อมูลตลอดจนทรัพยากรบุคคล ช่วยให้คนเข้ามาได้รับการปรึกษาในการประกอบอาชีพและพัฒนาตนเอง โดยเชื่อมโยงกับบริบทของพื้นที่เพื่อพัฒนาชุมชนสู่ความยั่งยืน เช่น ถ่ายทอดความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เกิดมูลค่าเพิ่ม เพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจพื้นที่ภาคใต้