“สมคิด เลิศไพฑูรย์” เร่งรัดรัฐบาลจัด “เลือกตั้งท้องถิ่น” ภายในปีนี้

“ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์” ปาฐกถาเนื่องในวันสถาปนาธรรมศาสตร์ ชี้รัฐไทยรวมศูนย์มากเกินไป เพราะกลัว-ไม่ไว้วางใจ ชงเพิ่ม “อำนาจ-รายได้-ท้องถิ่นพิเศษ” ให้มากขึ้น เร่งจัดเลือกตั้ง อปท. ภายในปีนี้ ระบุการกระจายอำนาจช่วยให้ประเทศก้าวหน้ากว่าเดิม

ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ ปี 2562 ปาฐกถาพิเศษเนื่องในวันสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หัวข้อ “ความสมดุลในการกระจายอำนาจในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในระดับประเทศ และการกระจายอำนาจให้แก่คณะในระดับมหาวิทยาลัย” 

เนื่องจากรัฐไทยเป็นรัฐที่รวมศูนย์อำนาจ (Centralization) “มากเกินไป” ในขณะที่กระจายอำนาจให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) น้อยเกินไป ทั้งหมดมาจากความกลัวหรือความไม่ไว้วางใจในการกระจายอำนาจ ที่อาจกระทบกับการเมืองระดับประเทศ

ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมี อปท. 5 รูปแบบ คือ เทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) กรุงเทพมหานคร (กทม.) และเมืองพัทยา โดย อปท. ของไทยมีอำนาจหน้าที่น้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศที่เจริญแล้ว เพราะรัฐรวมอำนาจต่างๆ เช่น การศึกษา ตำรวจ ถนน สาธารณูปโภคพื้นฐาน เอาไว้หมด โดยมักจะอ้างเหตุผลว่า อปท. ไม่มีความพร้อมในการดูแล

ศ.ดร.สมคิด กล่าวว่า เทคนิคของรัฐคือการเขียนให้กฎหมาย อปท. อยู่ภายใต้กฎหมายของรัฐ ด้วยการใช้คำว่า “ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย” ขณะเดียวกันรายได้ที่สำคัญ เช่น ภาษีเงินได้ ภาษีรายจ่าย รัฐก็รวบไปทั้งหมดก่อน แล้วค่อยคืนกลับมาให้ท้องถิ่นในรูปแบบของ “เงินอุดหนุน” 

วิธีนี้จะทำให้เกิดความรู้สึกว่ารัฐมีบุญคุณต่อท้องถิ่น ทั้งที่รายได้เป็นของท้องถิ่นอยู่แล้ว โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของ อปท.ต่อรัฐอยู่ที่ 28-29% ขณะที่ประเทศอื่น เช่น สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ อยู่ที่ 30-35% ฝรั่งเศส 50% และญี่ปุ่นที่นับว่าขับเคลื่อนโดยท้องถิ่น อยู่ที่ 110%

สำหรับ อปท.รูปแบบพิเศษ ที่จะทำให้ท้องถิ่นมีอำนาจมากขึ้น มีรายได้มากขึ้น ทุกวันนี้ประเทศไทยกลับมีเพียงแค่ กทม. และพัทยา เท่านั้น นอกจาก 2 แห่งนี้ก็ไม่เคยเกิดขึ้นอีกแม้จะมีข้อเรียกร้องจาก สมุย แม่สอด แหลมฉบัง ภูเก็ต หรือเชียงใหม่ เช่นเดียวกับการเลือกตั้งใน อปท. โดยนับตั้งแต่ที่มีการรัฐประหารใน ปี 2557 ผู้บริหารของ อปท. บางแห่ง เช่น กทม. พัทยา ถูกปลดออกจากตำแหน่งและแต่งตั้งขึ้นใหม่ ส่วน อปท. ที่มาจากการเลือกตั้งส่วนใหญ่ได้อยู่ต่อไป จนขณะนี้ที่ผ่านมาแล้วกว่า 6 ปีก็ยังคงไม่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

ศ.ดร.สมคิด กล่าวว่า หากต้องการให้เกิดความสมดุลระหว่างรัฐกับท้องถิ่น จำเป็นต้องดำเนินการให้ 4 ประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย 1. การเพิ่มอำนาจหน้าที่บางอย่างให้กับท้องถิ่น เช่น รับภาระในการจัดระบบสาธารณะ 2. เพิ่มรายได้ด้านภาษี เช่น ปรับสัดส่วน VAT เพิ่มเรื่องค่าธรรมเนียมต่างๆ 3. ควรมีท้องถิ่นรูปแบบพิเศษเพิ่มมากขึ้น เช่น แม่สอด หรือสมุย ที่มีความพร้อมค่อนข้างมาก 4. จัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นภายใน ปี 2563 หรืออย่างน้อยควรกำหนดวันเลือกตั้งให้ชัดเจนในปี 2564

“รัฐบาลควรจัดการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นให้ได้ภายในปี 2563 ควรกำหนดวันให้ชัดเจนว่าจะเลือกตั้งเมื่อไหร่ ส่วนไหน อย่างไร ทุกวันนี้ปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของเราไม่ดี นอกจากเรื่องวิกฤติโควิด-19 แล้ว ปัญหาเรื่องการกระจายอำนาจก็สำคัญ” ศ.ดร.สมคิด กล่าว

ศ.ดร.สมคิด กล่าวอีกว่า การกระจายอำนาจที่สมดุลมากขึ้น จะทำให้ประเทศก้าวไปในทิศทางที่ดีขึ้นกว่าเดิม เพราะส่วนกลางไม่ได้ทำได้ดีทุกเรื่อง เช่น การจัดการโควิด-19 มีศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) แต่ก็ให้ท้องถิ่นสามารถจัดการแต่ละพื้นที่ได้ ถ้าต้องรอส่วนกลางสั่งการคงไม่มีทางควบคุมสำเร็จได้

“ส่วนกลางไม่ได้ตัดสินใจได้ดีไปหมดทุกเรื่อง บางเรื่องต้องให้ท้องถิ่นจัดการ การกระจายอำนาจเพื่อให้มีสมดุลจะทำให้ประเทศเราก้าวไปได้ดีกว่าเดิม” ศ.ดร.สมคิด ระบุ