เรียนออนไลน์ช่วงโควิด ส่งผลเด็กหลุดจากระบบ 24 ล้านคนทั่วโลก

ที่มาภาพ: UNICEF

ความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยี กับการเรียนออนไลน์ช่วงโควิด-19 ระบาด ส่งผลเด็กหลุดจากระบบ 24 ล้านคนทั่วโลก

มาตรการเร่งด่วนที่รัฐบาลหลายประเทศใช้เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสคือ เว้นระยะห่างทางสังคม (social distancing) และกึ่งปิดเมือง (semi-lockdown) ที่กำหนดสถานที่บางแห่งต้องปิด-เปิด ตามวันและเวลาที่กำหนด นอกจากนั้น หลาย ๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยมีมาตรการปิดโรงเรียนเพื่อความปลอดภัยของเด็ก และใช้วิธีจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์แทน

แม้ว่าจะมีหลักฐานมากมายที่ชี้ให้เห็นถึงผลเสียของการปิดโรงเรียน และหลักฐานต่าง ๆ จะแสดงให้เห็นว่าโรงเรียนไม่ใช่สถานที่หลักของการแพร่เชื้อ แต่ประเทศต่าง ๆ ก็ยังคงเลือกที่จะปิดโรงเรียนและสถานศึกษา ซึ่งบางแห่งได้ปิดมาแล้วเกือบหนึ่งปี

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมความท้าทาย ปัญหา และความคิดเห็นเกี่ยวกับการเรียนออนไลน์ช่วงโควิด-19 ระบาด ดังนี้

เด็กเน็ตหมดเรียนหนังสือไม่ได้

วันที่ 19 ม.ค. 2564 ในโลกโซเชียลมีเดีย มีการแชร์ภาพแชตในไลน์ลงบนเฟซบุ๊กชื่อว่า Kammalat Seansano ซึ่งเป็นของนายกมลาสน์ แสนเสนาะ หรือครูโก้ ครูสอนวิชาศิลปะโรงเรียนแห่งหนึ่งย่านบางกอกน้อย กรุงเทพฯ โดยครูที่สนทนากับนักเรียนเพื่อถามเด็ก ๆ ว่า สามารถเรียนออนไลน์ได้ทุกวิชาหรือเปล่า ถ้าไม่ได้ช่วยแจ้งมาด้วย และบอกเหตุผลมาว่าเป็นเพราะอะไร

ต่อมามีนักเรียนคนหนึ่งเข้ามาตอบว่า วันนี้หนูเรียนได้ แต่พรุ่งนี้ไม่ได้แล้ว เนื่องจากเน็ตไม่พอ ถ้าหากมีการบ้าน หนูจะให้เพื่อนส่งให้แทน

ที่มาภาพ: เฟสบุ๊ค Kammalat Seansano

ทั้งนี้ นายกมลาสน์ ได้เขียนแคปชั่นว่า สามารถเป็นไปได้หรือไม่ที่กระทรวงฯจะดีลกับสัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์ ให้นักเรียนได้ใช้อินเตอร์เน็ตแบบไม่จำกัดในช่วงนี้ ควรเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของภาครัฐที่ต้องออกมารับผิดชอบอนาคตของนักเรียน และไม่ต้องกังวลว่านักเรียนจะนำไปใช้ในผิดทาง เพราะเชื่อว่าเด็ก ๆ สามารถรับผิดชอบหน้าที่อนาคตของเขาได้ดีพอ

หลังจากนั้นมีหลายคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นว่า อยากให้รัฐบาลมีนโยบายที่สอดคล้องกับการเรียนออนไลน์ เช่น การแจกซิม เป็นต้น จนโพสต์นี้ถูกแชร์ไปแล้วเกือบ 7 พันครั้ง

ผลสำรวจโชว์ ความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงเทคโนโลยี

จากข้อมูลการสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของครัวเรือนปี 2562 ซึ่งเป็นผลสำรวจที่เผยแพร่ล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุจำนวนผู้ใช้คอมพิวเตอร์เป็นรายภาค สูงที่สุดคือกรุงเทพมหานคร มีผู้ใช้ร้อยละ 43.0 รองลงมาคือภาคกลาง ร้อยละ 24.7 ภาคเหนือร้อยละ 23.1 ภาคใต้ร้อยละ 22.5 และต่ำที่สุดภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 20.1

สำหรับการใช้อินเทอร์เน็ตพบว่า กรุงเทพมหานครมีผู้ใช้สูงที่สุดเช่นเดียวกันคือ ร้อยละ 85.3 รองลงมาคือภาคกลางร้อยละ 72.0 ภาคใต้ร้อยละ 65.2 ภาคเหนือร้อยละ 59.6 และต่ำที่สุดคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 56.8

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เท่ากับว่าเด็กแต่ละพื้นมีครอบครัวที่มีกำลังและความสามารถในการสนับสนุนพวกเขาให้เข้าถึงเทคโนโลยีได้ต่างกัน

เด็กนักเรียน 1 ใน 3 ไม่สามารถเรียนทางไกล

องค์กรระหว่างประเทศด้านการศึกษาและประเทศต่าง ๆ เห็นว่าผลกระทบที่ร้ายแรงจากโควิด-19 ต่อเด็กและเยาวชนทั่วโลกไม่ใช่การติดเชื้อหรือป่วยด้วยโรคนี้ แต่เป็นการเสียโอกาสในการศึกษา และเด็กหลายคนไม่มีโอกาสเข้าถึงระบบพื้นฐานอินเตอร์เน็ตต่างกัน

วันที่ 20 ม.ค. 2564 องค์การยูนิเซฟได้แถลงการณ์คำกล่าวของนางเฮนเรียตตา โฟร์ ผู้อำนวยการบริหาร องค์การยูนิเซฟ ถึงการศึกษาในช่วงโควิด-19 ว่า ทุกฝ่ายต้องพยายามทุกวิถีทางเพื่อให้โรงเรียนสามารถเปิดได้อย่างต่อเนื่อง หรือจัดให้เป็นสถานที่ที่เปิดได้ในลำดับต้น ๆ

เฮนเรียตตา โฟร์ ผู้อำนวยการบริหาร องค์การยูนิเซฟ

“การปิดโรงเรียนส่งผลกระทบต่อนักเรียนร้อยละ 90 ทั่วโลก โดยเด็กนักเรียนกว่า 1 ใน 3 ไม่สามารถเรียนทางไกลได้ มีการประมาณการณ์ว่า เด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาจะเพิ่มขึ้นถึง 24 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และเป็นปัญหาที่เราพยายามทุ่มเทแก้ไขมาโดยตลอด”

นอกจากนั้น ทักษะการอ่านออกเขียนได้และการคำนวณของเด็กกำลังได้รับผลกระทบ อีกทั้งทักษะที่จำเป็นสำหรับการใช้ชีวิตท่ามกลางเศรษฐกิจโลกในศตวรรษที่ 21 ก็กำลังถดถอย รวมถึงสุขภาพ พัฒนาการ ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ ก็กำลังตกอยู่ในความเสี่ยง เด็กกลุ่มเปราะบางที่สุดกำลังเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด

นางเฮนเรียตตา กล่าวด้วยว่า การที่เด็กไม่ได้กินอาหารที่โรงเรียน ทำให้เด็กจำนวนมากในหลายประเทศหิวโหยและมีภาวะโภชนาการที่แย่ลง การขาดปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ และการไม่ค่อยได้เคลื่อนไหวในแต่ละวัน ทำให้เด็ก ๆ ต้องสูญเสียสมรรถภาพทางกายและเกิดความเครียด และเมื่อขาดการสนับสนุนต่าง ๆ จากโรงเรียน ส่งผลให้เด็ก ๆ มีความเสี่ยงมากขึ้นต่อการถูกทำร้าย การถูกบังคับให้แต่งงาน และการถูกใช้แรงงาน

“นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมการปิดโรงเรียนจึงควรเป็นทางเลือกสุดท้าย หลังจากได้พิจารณาทางเลือกอื่น ๆ ทั้งหมดแล้ว การตัดสินใจเรื่องการเปิดปิดโรงเรียนควรประเมินจากความเสี่ยงของการแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่ การปิดโรงเรียนทั่วประเทศนั้นเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดรุนแรงและระบบสาธารณสุขกำลังแบกรับภาระอย่างหนัก ซึ่งอาจจำเป็นต้องปิดโรงเรียน ก็ควรมีมาตรการคุ้มครองและช่วยเหลือเพื่อให้เด็กบางกลุ่มสามารถเรียนต่อได้ในห้องเรียน เช่น กลุ่มเด็กที่เสี่ยงต่อความรุนแรงในบ้าน หรือเด็กที่ต้องพึ่งพิงอาหารที่โรงเรียน หรือเด็กที่พ่อแม่จำเป็นต้องออกไปทำงานนอกบ้าน

ในพื้นที่ ๆ มีการล็อคดาวน์ โรงเรียนต้องเป็นสถานที่แรก ๆ ที่เปิดก่อนเมื่อรัฐบาลเริ่มผ่อนปรนมาตรการ นอกจากนี้ ควรจัดชั้นเรียนพิเศษเพื่อช่วยให้เด็กที่ไม่สามารถเรียนทางไกล สามารถเรียนตามทันได้ เพื่อไม่ให้พวกเขาต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

“หากเด็ก ๆ ต้องเผชิญกับการปิดโรงเรียนต่อไปอีก 1 ปี ก็จะส่งผลกระทบต่อไปอีกหลายรุ่นอายุทีเดียว”

ที่มาภาพ: UNICEF