อว. เผย โควิดทั่วโลกยังเป็นขาขึ้น ไทยยังรับมือได้ อัตราเสียชีวิตน้อย

อว.ชี้ไทยตายน้อย
ภาพจากเฟซบุ๊ก กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์

ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาฯ เผย การประมวลผลข้อมูลโดยละเอียดของ อว. พบ ระบบการแพทย์และสาธารณสุขไทยยังสามารถรับมือได้ ผู้เสียชีวิตค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อ หรือเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร

วันที่ 11 สิงหาคม 2564 ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เผยว่า กระทรวง อว. ได้ติดตามสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก ซึ่งในขณะนี้ยังมีการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังเป็นแนวโน้มขาขึ้น โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้น 19% เมื่อเทียบกับเมื่อสองสัปดาห์ก่อน

การระบาดในระลอกปัจจุบันของโรคโควิด-19 จากสายพันธุ์เดลต้าเห็นชัดเจนตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา ในช่วงต้นเริ่มจากในประเทศอินเดียและภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งมีการระบาดหนักมากประมาณ 3 เดือนแล้วจึงค่อยๆ ดีขึ้น แล้วสายพันธุ์เดลต้าได้กระจายไปทำให้เกิดการระบาดทั่วโลกจนกลายเป็นสายพันธุ์หลักแล้ว ซึ่งขณะนี้จะเห็นการระบาดขึ้นใหม่ในเกือบทุกประเทศ รวมทั้งประเทศที่ได้ฉีดวัคซีนจำนวนมากแล้ว

ADVERTISMENT

เนื่องจากสายพันธุ์เดลต้านี้สามารถจะแพร่กระจายติดต่อได้ง่าย และภูมิคุ้มกันของประชากรลดลงจากวัคซีนที่ได้ฉีดมานานแล้วโดยเฉพาะในประเทศที่ได้ฉีดวัคซีนจำนวนมากตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2564 ซึ่งภูมิคุ้มกันในประชากรกลุ่มนี้ได้ค่อยๆ ลดลงตามเวลาในขณะที่หลายประเทศได้ผ่อนคลายมาตรการลงในเวลาเดียวกับที่สายพันธ์เดลต้าได้กลายเป็นสายพันธุ์หลัก ทำให้การแพร่เชื้อเกิดได้ง่ายขึ้น จึงเกิดการระบาดขึ้นใหม่ได้ในเกือบทุกประเทศ

การระบาดระลอกใหม่นี้ทำให้ประเทศส่วนใหญ่ต้องกลับมายกระดับมาตรการในการควบคุมให้เข้มงวดขึ้นอีก รวมทั้งพิจารณาให้วัคซีนกระตุ้นเพิ่มเติมอีก

ADVERTISMENT

ADVERTISMENT

จากการประมวลผลข้อมูลโดยละเอียดของ อว. พบว่าตั้งแต่ในระลอกการระบาดล่าสุดในเดือนเมษายนจนถึงปัจจุบันนั้น ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อระลอกใหม่รวม 11,590 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน และผู้เสียชีวิต 98 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน ซึ่งในช่วงนี้มีผู้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลและมีผู้ป่วยหนักเพิ่มขึ้นมาก ถึงแม้ว่ามีความตึงตัวของจำนวนเตียงที่จะดูแลทั้งผู้ป่วยโดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีอาการปานกลางและผู้ป่วยหนัก แต่ระบบการแพทย์และสาธารณสุขไทยยังสามารถจะรับมือได้ มีจำนวนผู้เสียชีวิตค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ติดเชื้อ หรือเมื่อเทียบกับจำนวนประชากร

ทั้งนี้ประเทศมาเลเซียมีผู้ติดเชื้อในช่วงเวลาเดียวกันนี้รวม 27,983 คนและผู้เสียชีวิต 289 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน, ประเทศอินโดนีเซียมีผู้ติดเชื้อ 7,860 คน ผู้เสียชีวิต 245 คน, ประเทศฟิลิปปินส์ มีผู้ติดเชื้อ 8,254 คน มีผู้เสียชีวิต 143 คน, ประเทศกัมพูชา มีผู้ติดเชื้อ 4,681 คน มีผู้เสียชีวิต 91 คน, ประเทศพม่า มีผู้ติดเชื้อ 3,479 คน มีผู้เสียชีวิต 161 คน

ประเทศเวียดนาม มีผู้ติดเชื้อ 2,166 คน มีผู้เสียชีวิต 34 คน, ประเทศลาว มีผู้ติดเชื้อ 1,129 คน มีผู้เสียชีวิต 1 คน, ประเทศสิงคโปร์ มีผู้ติดเชื้อ 916 คน มีผู้เสียชีวิต 2 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน ส่วนประเทศบรูไน มีผู้ติดเชื้อ 348 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน ไม่มีผู้เสียชีวิต

ด้านประเทศหลักๆ ที่มีสัดส่วนการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มเกินร้อยละ 50 ของประชากรแล้วนั้น ก็พบว่าในช่วงการระบาดตั้งแต่เมษายน 2564 เป็นต้นมานั้น อัตราการติดเชื้อและอัตราการเสียชีวิตก็ยังคงอยู่ในระดับสูง

อาทิ สหราชอาณาจักร มีผู้ติดเชื้อตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 จำนวน 25,353 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน มีผู้เสียชีวิต 53 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน, สหรัฐอเมริกา มีผู้ติดเชื้อ 16,645 คน มีผู้เสียชีวิต 191 คน, บราซิล มีผู้ติดเชื้อ 35,378 คน มีผู้เสียชีวิต 1,162 คน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีผู้ติดเชื้อ 23,312 คน เสียชีวิต 48 คน เป็นต้น