กูรูอีเลิร์นนิ่งระดับโลก ชี้ 3 เมกะเทรนด์ ปฏิวัติการเรียนรู้ยุคโควิด

ศ.ดร.เคิร์ท บองก์ สาขาจิตวิทยาและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา

กูรูด้านอีเลิร์นนิ่งระดับโลก จากสหรัฐอเมริกา ชี้ 3 เมกะเทรนด์ ปฏิวัติการเรียนรู้ พลิกโฉมการศึกษายุคโซเชียลครองโลก

วันที่ 22 กันยายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กูรูด้านอี-เลิร์นนิ่งระดับโลก ศ.ดร.เคิร์ท บองก์ ศาสตราจารย์สาขาจิตวิทยาและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอินเดียน่า สหรัฐอเมริกา และประธาน CourseShare.com ได้กล่าวถึงอิทธิพลของเทคโนโลยีว่า จะนำไปสู่การปฏิวัติการเรียนรู้ และจะมี 3 เมกะเทรนด์ขับเคลื่อนโลกการเรียนยุคใหม่ โดยเขาพูดถึงเรื่องนี้ในงานสัมมนาดิจิทัลคอนเทนต์ Bangkok International Digital Content Festival (BIDC2021) ภายใต้หัวข้อ Technology Today, Technology Tomorrow: Learning Evolutions

ศ.ดร.เคิร์ทกล่าวว่า ผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เทคโนโลยีด้านการจัดการเรียนการสอนได้กลายเป็นหัวข้อที่ถูกพูดถึงมากขึ้น เพราะสถานที่จัดการเรียนการสอนต้องเปลี่ยนจากห้องเรียน เป็นทางไกล (remote teaching) และต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วย ทำให้นักเรียนยุคนี้มีทักษะดิจิทัล ซึ่งคนยุคก่อนไม่มี เราเรียกว่า digital student

“รูปแบบการเรียนรู้เปลี่ยนแปลงไปมาก และเปิดกว้างมากขึ้น นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ทางดิจิทัล และจากโลกความเป็นจริงตามหัวข้อที่สนใจได้จากออนไลน์ มีความเป็นสากล มีส่วนร่วม เป็น social มากขึ้น”

นอกจากนั้น ศ.ดร.เคิร์ทคาดการณ์ถึง 3 เมกะเทรนด์ ที่จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดการปฏิวัติการเรียนการสอนภายใน 10 ปีนับจากนี้ ประกอบด้วย

1.เทคโนโลยีสำหรับการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (learning engagement) โดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง มีการใช้เกมเข้ามาเป็นเครื่องมือสร้างการเรียนรู้ (game-based) สร้างประสบการณ์ผ่านเทคโนโลยีเสมือน อย่างเช่น AI, AR, VR และมีการใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ดิจิทัลมากขึ้น เช่น แท็บเล็ต ซึ่งผลสัมฤทธิ์ที่ตามมาก็คือ สร้างให้เกิดการทำงานร่วมกัน การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ แม้ไม่ได้นั่งเรียนอยู่ในสถานที่จริง

2.เทคโนโลยีเพื่อการเข้าถึงอย่างทั่วถึง (pervasive access) มีแนวโน้มการจัดการเรียนการสอนจากแหล่งความรู้ทางออนไลน์ ทั้งแบบเปิดและฟรีเพิ่มขึ้น ผู้เรียนจากที่ต่าง ๆ เรียนพร้อมกันได้ผ่านอินเทอร์เน็ต ถือเป็นเมกะเทรนด์ที่เปิดประตูแห่งโลกการศึกษา ทำให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาสสามารถเข้าถึงความรู้จากผู้เชี่ยวชาญโดยตรงกับคนทั่วโลกได้ อีกทั้งมีแหล่งความรู้ทางเลือกอื่น ๆ ได้แก่ ข่าวออนไลน์ สารานุกรมในรูปแบบวิดีโอออนไลน์ (videopedia) เป็นต้น

3.เทคโนโลยีสำหรับการปรับให้เป็นส่วนตัวและปรับแต่งการเรียนรู้ (customization) ที่อาจเรียกได้ว่า “ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง” จะเริ่มเห็นวิธีจัดการเรียนการสอนที่เป็นส่วนผสมระหว่างออนไลน์และออฟไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ และนำไปสู่การประเมินการเรียนรู้ในรูปแบบผสมด้วยเช่นกัน หัวใจสำคัญในเรื่องนี้คือ ผู้เรียนสามารถเลือกได้ว่าจะเรียนในห้องเรียน หรือนอกห้องเรียน เด็กได้รับโอกาสมากขึ้นในการกำหนดจุดประสงค์ของตัวเอง เลือกคอร์สที่เรียนแล้วมีความสุข

“ดังนั้น ทั้งผู้สอนและผู้บริหารสถาบันการศึกษาต้องตีโจทย์ให้ออกว่า จะมีวิธีการผสมผสานกันอย่างไร อีกทั้งความท้าทายสำคัญคือ เทคโนโลยีอี-เลิร์นนิ่ง ต้องสร้างให้เกิดความมีส่วนร่วมมากขึ้น ให้คนเข้าถึงได้มากขึ้น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่ทรงพลัง” ศ.ดร.เคิร์ทกล่าว