SCBS…หุ้นไทยผ่านจุดต่ำสุด ? ชี้โอกาสลงทุนฝ่า “วิกฤตซ้อนวิกฤต”

สุกิจ อุดมศิริกุล

จากวิกฤตโควิด-19 มาจนถึงวิกฤตเงินเฟ้อที่เขย่าโลกจนปั่นป่วน แม้ปัจจุบันปัญหาโรคระบาดจะทุเลาลงไปได้บ้าง แต่ก็ยังไม่จบ ขณะที่เงินเฟ้อกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้โลกเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง ซึ่งท่ามกลางความผันผวนเหล่านี้ ในมุมการลงทุนนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย

ในโอกาสนี้ “ประชาชาติธุรกิจ” ได้รับเกียรติจาก “สุกิจ อุดมศิริกุล” กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBS มาฉายภาพในหัวข้อ “ส่องเทรนด์ลงทุน…ฝ่าวิกฤตซ้อนวิกฤต” ในงานสัมมนา “ถอดรหัสลงทุน ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น” ที่จัดขึ้นล่าสุด

หุ้นถึงจุดต่ำสุด-เศรษฐกิจยัง?

โดย “สุกิจ” กล่าวว่า วันนี้วิกฤตยังไม่จบ เศรษฐกิจปีนี้มีการเติบโต แต่ปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะโตน้อยกว่าปีนี้ ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ได้อานิสงส์จากการเปิดเมือง การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว และ เงินออมของประชาชนที่ถูกปลดปล่อยออกมา

แต่จากนี้ไปเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ทำให้กำลังซื้อของประชาชนลดลง อย่างไรก็ดี ในมุมการลงทุนนั้น ในช่วงครึ่งปีหลังตลาดจะสดใสขึ้น

“ต้องเข้าใจว่าตลาดหุ้นจะเป็นอีกภาพที่ไม่ได้เหมือนภาพเศรษฐกิจ คือถ้าเป็นประชาชนจะได้ผลกระทบจากเศรษฐกิจ แต่ในมุมนักลงทุนจะทราบดีว่า ทุกวิกฤตจะมีบริษัทที่มีความเข้มแข็ง สามารถต่อสู้กับภาวะเศรษฐกิจได้ นั่นคือเสน่ห์ของการลงทุน”

โดยผลตอบแทนการลงทุนที่ผ่านมา อาจจะรู้สึกไม่ค่อยสบายใจกัน เพราะขาดทุนเป็นส่วนใหญ่ หุ้นก็มีแต่กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานที่ปรับตัวขึ้น เซ็กเตอร์อื่นตกลงกันหมด แต่นั่นแปลว่าวันนี้ราคาสินทรัพย์ สะท้อนปัจจัยเสี่ยงไปแล้ว

นอกจากนี้ เป็นธรรมชาติสินทรัพย์ทางการเงินที่จังหวะจะเร็วกว่าเศรษฐกิจที่แท้จริงเสมอ และวันนี้ราคาสินทรัพย์ตกลงไปมากกว่าเศรษฐกิจแล้ว ถ้าเป็นนักลงทุน ตรงนี้คือโอกาส เริ่มเห็นโอกาสในการเข้าลงทุนได้ ในการเลือกของที่ดีมีคุณภาพได้ เพราะตอนนี้อัตราส่วนราคาต่อกำไร (PE) ของตลาดหุ้นต่าง ๆ ปรับตัวลงมาอยู่ในโซนที่ไม่แพง

“คือตลาดหุ้นตกลงมารอว่าเศรษฐกิจจะตก เพราะตลาดหุ้นมักจะเป็นดัชนีตัวแปรชี้ภาวะเศรษฐกิจล่วงหน้า วันนี้เราอยู่ในสภาวะที่เรียกว่าสินทรัพย์ส่วนใหญ่ราคาปรับตัวลงมารอว่าเศรษฐกิจจะเอาไง โดยค่อนข้างอยู่ในระดับที่ไม่แพง แต่ไม่ใช่ถูกที่สุด เพราะยังมีการปรับประมาณการกำไรลงทุกไตรมาส”

กำไร บจ.ฟื้น-แนะจังหวะลงทุน

“สุกิจ” กล่าวว่า จากคาดการณ์กำไรต่อหุ้น (EPS) ของบริษัทจดทะเบียนไทย พบว่าในปีนี้เริ่มกลับไปเท่ากับช่วงปี 2561แล้ว โดยหุ้นไทยไม่เหมือนเศรษฐกิจ เพราะองค์ประกอบใหญ่ของตลาดหุ้นไทย คือธุรกิจธนาคาร, พลังงาน, ค้าปลีก และอสังหาริมทรัพย์ แต่ภาพเศรษฐกิจไทยพึ่งพาส่งออกเป็นหลัก

“ตลาดหุ้นมักลงไปถึงจุดต่ำสุดก่อนที่เศรษฐกิจจะต่ำสุด ซึ่งวันนี้ผมยังไม่คิดว่าเศรษฐกิจจะต่ำสุด แต่ตลาดหุ้นมีโอกาสจะต่ำสุดก่อน โดยเศรษฐกิจไทยปีหน้าก็ยังอาจฟื้นตัวต่อ เพราะเพิ่งฟื้นตัว”

ขณะที่ตั้งแต่ปลายปีก่อนจนถึงปัจจุบัน ตลาดกลัวความเสี่ยงเรื่องดอกเบี้ย หรือตลาดการเงินตึงตัว แต่ตอนนี้เริ่มมากังวลความเสี่ยงเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งปัจจุบันนักลงทุนกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยประมาณ 40% ว่าจะเกิดในปี 2566

“เหมือนเจอฝนตกแดดออก จะป่วยง่าย ซึ่งสถานการณ์ที่ดอกเบี้ยขึ้น เศรษฐกิจก็จะถดถอย นี่คือสองวิกฤตที่ตลาดการเงินไม่ชอบ”

อย่างไรก็ดี มีมุมมองว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะขึ้นดอกเบี้ยช้าลง ซึ่งจะสร้างบรรยากาศในการลงทุนให้ดีขึ้น โดยในการประชุมครั้งหน้า (20 ก.ย.) ถ้าเฟดขึ้นดอกเบี้ยแค่ 0.50% จะถือว่าเป็นข่าวดีต่อการลงทุน จะเป็นสัญญาณบวกต่อตลาดหุ้นในไตรมาส 3

“ปีนี้ประเมินเป้า SET Index ที่เหมาะสมอยู่ที่ 1,650 จุด เคลื่อนไหวในกรอบ 1,500-1,750 จุด ซึ่งจากการทดสอบภาวะวิกฤตในหลาย ๆ เรื่อง ไม่คิดว่าดัชนีจะแย่ลงไปต่ำกว่าระดับ 1,500 จุดแล้ว”

หุ้นสดใสขึ้น-ปัจจัยลบคลี่คลาย

โดยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ คาดว่าไตรมาส 3/2565 มีโอกาสเป็นไตรมาสที่ต่ำสุด ซึ่งถ้าดูดัชนีหุ้นไทยในเดือน ก.ค. จากที่หล่นลงไปที่ระดับ 1,500 จุด แต่ปัจจุบันเด้งกลับขึ้นมาบริเวณ 1,600 จุดแล้ว

ถ้าเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 20 ก.ย. แค่ 0.50% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐและราคาน้ำมันทรงตัว ก็เป็นได้มากว่าดัชนีหุ้นไทยที่บริเวณ 1,500 จุด จะเป็นระดับต่ำสุดไปแล้ว และไตรมาส 4 จะเป็นไตรมาสที่ดีขึ้น

“ผมคิดว่าครึ่งหลังตลาดการเงินสดใสขึ้น เงินเฟ้อแรงกดดันลดลงจากดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น โควิดก็เริ่มคลี่คลาย ส่วนปี 2566 คาดการณ์อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกคงจะเริ่มทรงตัว เพราะว่าเศรษฐกิจอาจจะรับไม่ไหว เงินเฟ้อก็น่าจะเริ่มเข้าสู่ระดับที่ลดลง แต่ยังสูงกว่าในอดีต

ดังนั้น ปีหน้ายังไม่ใช่ปีที่วางใจเงินเฟ้อได้ ส่วนฟันด์โฟลว์มีโอกาสไหลเข้ามาในตลาดเกิดใหม่มากขึ้น แต่ยังมีความเสี่ยงด้านนโยบายและความขัดแย้งระหว่างจีนกับไต้หวัน และรัสเซียกับยูเครน ซึ่งคาดการณ์ไม่ได้ จึงเป็นปัจจัยลบที่เข้ามากดดันได้ตลอดเวลา”

จากภาพทั้งหมดนี้นักลงทุนคงต้องติดตามสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิดและ ประเมินความเสี่ยงที่รับได้ก่อนตัดสินใจลงทุน