เสถียร นำทัพ CBG ลงทุน เมินดอกเบี้ยขาขึ้น-มั่นใจเศรษฐกิจดีดกลับ

เสถียร เสถียรธรรมะ

วิกฤตเศรษฐกิจทั้งเงินเฟ้อและดอกเบี้ยขาขึ้นที่ลากยาวเข้าสู่ครึ่งหลังของปี 2565 ทำให้ทุกฝ่ายทั้งประชาชนและภาคธุรกิจต่างชะลอการรับจ่ายและลงทุนโครงการต่าง ๆ ด้วยความกังวลกับกำลังซื้อของลูกค้าและดอกเบี้ยเงินกู้ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นโดยไม่ทีท่าจะคลี่คลาย

สำหรับ “เสถียร เสถียรธรรมะ” หัวเรือใหญ่ของ “คาราบาว กรุ๊ป” ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลังและผู้บริหาร 3 เชนร้านค้าปลีก ซีเจ ซูเปอร์มาร์เก็ต, ซีเจ มอร์ และร้านถูกดีมีมาตรฐาน เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ยังเดินหน้าลงทุนขยายธุรกิจทั้งเครื่องดื่มที่เป็นธุรกิจหลัก เชนร้านค้าปลีก และเครือข่ายโลจิสติกส์ ทั้งเพื่อรองรับการขยายตัวในอนาคต และเป็นส่วนหนึ่งของแผนเกษียณตัวเองในอีก 3-4 ปีข้างหน้าอีกด้วย

โดย “เสถียร เสถียรธรรมะ” กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CBG ได้อธิบายถึงที่มาที่ไปและเป้าหมายของการตัดสินใจลงทุนแบบสวนกระแสเศรษฐกิจนี้ภายในงาน “ถอดรหัสลงทุน ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น” ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ”

เห็นสัญญาณเศรษฐกิจดีดกลับ

หัวเรือใหญ่ของคาราบาว กรุ๊ป กล่าวว่า แม้ครึ่งแรกของปี 2565 ภาวะเงินเฟ้อและต้นทุนจะหนักหนาจนกำไรของบริษัทต่ำกว่าที่คาดไว้ แต่ช่วงไตรมาสสามนี้เริ่มเห็นสัญญาณบวกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นราคาวัตถุดิบอย่างอะลูมิเนียมที่ลดลงมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วงพีก เช่นเดียวกับสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ ที่ราคาเป็นขาลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการเปิดประเทศทำให้ธุรกิจขยายตัว ผู้คนมีกำลังซื้อมากขึ้น ส่วนสถานการณ์สงครามในยุโรปแม้จะยืดเยื้อ คงไม่ส่งกระทบกับไทยมากนักเพราะระยะทางที่ห่างไกล

ทำให้เชื่อว่า ช่วงที่เหลือของปี 2565 เศรษฐกิจไทยจะดีกว่าครึ่งปีแรก เช่นเดียวกับผลประกอบการของบริษัทที่น่าจะเพิ่มขึ้นได้ จึงเดินหน้าขยายธุรกิจแบบรอบด้าน ตามยุทธศาสตร์เชื่อมโยงทุกสาขาธุรกิจในคาราบาวกรุ๊ปเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นภาคการผลิตที่มีเครื่องดื่มของคาราบาวตะวันแดง และสินค้าอุปโภคบริโภคอีกกว่า 200 รายการของสหมิตร การจัดจำหน่ายด้วยทัพรถเงินสดมากกว่า 300 คัน ศูนย์กระจายสินค้า 31 แห่ง ที่ส่งสินค้าให้กว่า 1.7 แสนร้านค้า รวมถึงเครือข่ายร้านซีเจฯ 800 สาขา และร้านถูกดีฯ 5,000 สาขา ด้วยเทคโนโลยี เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

พร้อมเน้นความยืดหยุ่นในการตัดสินใจดำเนินการต่าง ๆ ให้มากขึ้น เพื่อรับมือความเปลี่ยนที่อาจเกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งเป็นการถอดบทเรียนจากการรับมือโควิด-19 และผลกระทบจากสงครามในยุโรปในช่วงที่ผ่านมา

“การทำธุรกิจในยุคนี้ เรื่องไหนที่ตัดสินใจไปแล้ว แต่ถ้าสถานการณ์เปลี่ยนก็ต้องนำมาทบทวนใหม่ได้ตลอด เพราะแม้ตอนแรกจะมั่นใจว่าตัดสินใจถูก แต่จะยึดติดว่ามันจะถูกตลอดไปไม่ได้ ซึ่งสอดคล้องกับคอร์แวลูของบริษัท คือ รู้แจ้งทำจริง ถูกต้องแม่นยำ ปรับเปลี่ยนเรียนรู้ ยืดหยุ่นพลิกแพลง”

ย้ำ “ค้าปลีก” กุญแจสำคัญ

“เสถียร” กล่าวต่อไปว่า ธุรกิจค้าปลีกถือเป็นกระดูกสันหลังของยุทธศาสตร์นี้ ด้วยการมีซีเจฯ เจาะระดับตำบล-อำเภอ ส่วนร้านถูกดีฯ เจาะลึกถึงระดับหมู่บ้าน พร้อมใช้เทคโนโลยีมาเสริมศักยภาพจากจุดขายสินค้า (point of sale) เป็นจุดให้บริการ (point of service) ก่อนจะต่อยอดให้เป็นศูนย์กลางชุมชน (point of everything) โดยเปิดโมเดลพรีออร์เดอร์สินค้า “ถูกดีสั่งได้” ให้ลูกค้าร้านถูกดีฯ ซึ่งเป็นโชห่วยและมีสินค้าประมาณ 2 พัน-3 พันรายการ สามารถสั่งสินค้า 1.2 หมื่นรายการจากพอร์ตของบริษัทได้ และเริ่มทดลองบริการให้สินเชื่อรายย่อยด้วยความร่วมมือกับธนาคารกสิกรไทย เพื่อขยายฐานลูกค้าและสร้างโอกาสเพิ่มรายได้

รวมถึงยืดหยุ่นให้ร้านสามารถซื้อสินค้าบางชนิด เช่น น้ำดื่ม น้ำแข็ง ไข่ไก่จากซัพพลายเออร์ท้องถิ่นได้ในกรณีที่ซื้อจากบริษัทไปขายแล้วกำไรน้อยกว่า โดยบริษัทได้เข้าไปคุยกับซัพพลายเออร์ท้องทิ่น เช่น ผู้ผลิตน้ำดื่ม โรงสี เพื่อให้ส่งสินค้ามาขายในร้านถูกดีฯ อีกด้วย

หลังจากที่ผ่านมาการสนับสนุนอย่างสินค้า เทคโนโลยี และจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ทำให้หลายร้านมียอดขายเพิ่มจากระดับ 2-5 พันบาท เป็นเฉลี่ย 1.3 หมื่นบาท โดยมั่นใจว่าสิ้นปีนี้จะขยายร้านถูกดีฯให้ได้ 8 พัน-1 หมื่นร้าน และอนาคตอีก 3-4 ปีจะมีได้ถึง 30,000-40,000 ร้านค้า

“หลังจากเข้ามาทำร้านถูกดีฯ ทำให้รู้ว่า พลังของความเป็นเจ้าของนั้นเป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายมาก สะท้อนจากความทุ่มเทของเจ้าของร้านถูกดีฯที่แข็งขันมาก ต่างจากร้านซีเจฯ ที่แค่ตามพนักงานมาเปิดร้านตอนเช้าให้ได้ก็ทำให้ปวดหัวแล้ว”

ลงทุนเปิดสาขา-คลังสินค้า

ส่วนเชน ซีเจฯ ก็ไปในทิศทางเดียวกันคือใช้แนวคิด “morethan supermarket morethan anyone” โดยมุ่งขยายโมเดล ซีเจมอร์ (CJ More) ในพื้นที่ต่างจังหวัดวางโพซิชั่นให้เป็นศูนย์การค้าย่อม ๆ โดยเปิดให้ผู้ค้าท้องถิ่น เช่น ร้านอาหารเข้ามาใช้พื้นที่ขายได้ฟรี ซึ่งการทำแบบนี้ไม่ใช่เพราะเราใจดี แต่เป็นกลยุทธ์วิน-วิน คือ ผู้ค้ามาช่วยสร้างทราฟฟิก ให้คนเข้ามาทานอาหารแล้วก็ซื้อสินค้าของเราไปด้วย สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนต่างจังหวัด

จากนี้จะรุกภาคอีสาน เช่น ขอนแก่น ชัยภูมิ ตามแผนขยาย 250-300 สาขาต่อปี หลังตอนนี้โคราชมีประมาณ 60 สาขา

ส่วนทั่วประเทศแบ่งเป็น กทม.ปริมณฑล 200 สาขา จังหวัดอื่น ๆ 600 สาขา ส่วนยอดขายปีนี้น่าจะ 3 หมื่นล้านบาท ปลาย ๆ หลังปี 2564 มียอดขาย 2.9 หมื่นล้านบาทแล้ว ก่อนที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯในปี 2566 เพราะค้าปลีกเป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก พร้อมกันนี้จะขยายคลังสินค้าขนาด 5 หมื่นตารางเมตรเพิ่มอีก 10 แห่ง เพื่อรองรับการขยายสาขาของทั้ง 2 แบรนด์ โดยเริ่มก่อสร้างไปแล้ว 2-3 แห่ง

สำหรับธุรกิจผลิตสินค้าจะเปิดตัวสินค้าใหม่ต่อเนื่องทั้งเครื่องดื่มและสินค้าอุปโภคบริโภค ประเดิมด้วยเครื่องดื่มชูกำลัง คันโซX2 ชูเรื่องบำรุงตับ ที่เปิดตัวเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตามด้วยเครื่องดื่มใหม่อีกตัวช่วงปลายปี รวมถึงเตรียมเปิดตัวเบียร์ในช่วงปลายปีเช่นกัน ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคโอว์นแบรนด์ของบริษัทสหมิตร จะเพิ่มความหลากหลายให้มากขึ้นอีกตามเป้าเป็น king of product ที่มีสินค้าอุปโภคบริโภคพื้นฐานครบครันเพื่อเป็นตัวเลือกของผู้บริโภค และหนุนธุรกิจร้านซีเจฯ และถูกดีฯ ไปพร้อมกัน

นอกจากนี้ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร คาราบาวกรุ๊ป ยังได้เผยถึงแผนเกษียณที่วางกำหนดการไว้ในอีก 3-4 ปีว่า จากประสบการณ์ทำธุรกิจมาตลอดชีวิต การวางแผนเกษียณนั้นเป็นเรื่องยากที่สุด เพราะเมื่อกำหนดวันแล้ว วันมันลดน้อยลงไปเรื่อย ๆ ในขณะที่เราต้องทำองค์กรให้มารองรับเรา

“งานสร้างองค์กรหรือก็คืองานสร้างคน นั้นมีปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้เยอะมาก จึงเป็นงานที่ยากที่สุดในชีวิต ไม่ใช่ทำให้คาราบาวแดงเติบโต หรือ CJ เปิดได้ 250 สาขาต่อปี อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องที่ต้องทำ และต้องทำให้สำเร็จจึงจะเกษียณได้ โดยยังวางแผนอย่างมั่นคงแน่วแน่ที่จะเกษียณใน 3-4 ปีข้างหน้าแน่นอน” แม่ทัพใหญ่ คาราบาว กรุ๊ป ย้ำในตอนท้าย