เศรษฐกิจไทยขี่หลังเสือรับจุดเสี่ยง เตือนปีหน้าส่งออกหมดแรง

อมรเทพ จาวะลา

ดร.อมรเทพ จาวะลา ชี้ “เศรษฐกิจไทยขี่หลังเสือ” แนวโน้มจีดีพีครึ่งปีหลัง-ปีหน้าโต 4% เผยจุดอ่อนฟื้นเฉพาะภาคท่องเที่ยวกลุ่มกลางและบน เศรษฐกิจระดับล่าง-เอสเอ็มอียังอ่อนแอ “ส่งออก” พระเอกแห่งปี’65 เจอมรสุมเศรษฐกิจโลกชะลอฉุดปีหน้าโตแผ่ว แถมปัจจัยการเมืองฉุด “เอกชน-ต่างชาติ” Wait & See บล.ไทยพาณิชย์ หวั่นผลประกอบการ บจ. ไตรมาส 3-4 กำไรลดลง เจอแรงกดดันเงินเฟ้อ

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัยและที่ปรึกษาการลงทุน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวบรรยายพิเศษ “Perfect Storm เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย” ในงานสัมมนา “ถอดรหัสลงทุน ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น” จัดโดยประชาชาติธุรกิจเมื่อ 17 สิงหาคม 2565

ระบุว่า โดยภาพรวมปีนี้ค่อนข้างกังวลเพราะมีความไม่แน่นอนตั้งแต่ต้นปี ทั้งเรื่องรัสเซีย-ยูเครน เรื่องสหรัฐ จีน และหลายปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามาต่อเนื่อง และช่วงครึ่งปีหลัง และปีหน้าจะเกิดอะไรขึ้น

ดร.อมรเทพ จาวะลา
ดร.อมรเทพ จาวะลา

6 เสี่ยงโหมพายุเศรษฐกิจ

“วันนี้เราอยู่กลางเดือนสิงหาคม ตั้งแต่ช่วงต้นไตรมาสที่ 3 เราเริ่มมองเห็นภาพความเสี่ยงมากขึ้น แต่ก็เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์ที่กำลังฟื้น การท่องเที่ยวกำลังกลับมา ความสดใสกับเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มเติบโตได้ดีขึ้น แต่ก็ต้องเตือนว่าพายุเพิ่งจะหายไป หรืออาจจะมาอีกลูกสองลูกก็ได้”

เพราะฉะนั้น ต้องเตรียมตั้งรับ 6 ความเสี่ยง 1.เงินเฟ้อสูง 2.ค่าเงินบาทอ่อน ซึ่งดีสำหรับผู้ส่งออก แต่ผู้นำเข้า ครัวเรือนก็มีต้นทุนสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าปลายปีนี้ถึงปีหน้า เงินบาทจะมีทิศทางแข็งค่าขึ้น 3.ปัจจัยเรื่องการเมืองไทยที่ใกล้จะมีการเลือกตั้ง ซึ่งอาจทำให้เกิดการชะลอการลงทุน 4.ความขัดแย้งในต่างประเทศ 5.เศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงถดถอย และ 6.การล็อกดาวน์ของจีน

ดร.อมรเทพกล่าวว่า ที่ผ่านมากองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) มีการปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจลงเรื่อย ๆ ทั้งปีนี้และปี 2566 มุมมองที่มีต่อเศรษฐกิจหลายประเทศค่อนข้างจะอ่อนแอ อย่างสหรัฐปีที่แล้วโต 5% ปีนี้คาดการณ์โตไม่ถึง 2% และปีหน้าอาจไม่ถึง 1%

ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่าเศรษฐกิจโลกโตช้า ซึ่งอาจเป็นพายุอีกลูกที่ทำให้เศรษฐกิจชะลอ แต่ข้อดีคือยังไม่มองถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอย (recession)

คืออย่างน้อยสหรัฐน่าจะประคอง คือการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องสามารถลดเงินเฟ้อได้ แต่ต้องแลกมาด้วยเศรษฐกิจชะลอ แต่ถึงจุดหนึ่งมองว่าจะฟื้นตัวได้ แปลว่า “เจ็บแล้วจบ” คือต้องยอมเจ็บด้วยการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้เศรษฐกิจชะลอ แต่ราคาสินค้าก็จะมีเสถียรภาพที่ดีขึ้น

เศรษฐกิจไทยขี่หลังเสือ

ดร.อมรเทพกล่าวว่า ส่วนเศรษฐกิจไทยปีนี้ก็ขยายตัวลดลง โตได้ 3% ปีหน้าโต 4% มีสัญญาณสามารถเติบโตได้ โดยไตรมาส 2/65 โตได้ 2.5% ซึ่งต่ำกว่านักวิเคราะห์คาด และในช่วงครึ่งปีหลังและปีหน้าเศรษฐกิจไทยน่าจะโตเฉียด 4% ได้ เป็นมุมมองที่ดี แต่เคยมองว่าจะดีกว่านี้

เพราะความไม่แน่นอนในตลาดโลก ทั้งเรื่องของเงินเฟ้อ และหลาย ๆ ปัจจัย ข้อดีคือเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยบวกบาง ๆ

ส่วนเงินเฟ้อปีนี้เร่งแรงมาก แต่ปีหน้ายังเห็นขยับขึ้นก็จริง แต่ระดับไม่ได้สูงรุนแรงเท่าในปีนี้ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกรายงานล่าสุดว่า แม้จะขึ้นดอกเบี้ยไป 0.25% มองว่าปลายปีนี้โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะยืนเหนือโควิด-19 ได้ หรือต้นปีหน้าเศรษฐกิจไทยน่าจะยืนได้เหนือระดับก่อนช่วงโควิด-19 ครึ่งหลังของปีนี้จะเริ่มเห็นสัญญาณของการฟื้นตัว

“เศรษฐกิจไทยตอนนี้กำลังขี่หลังเสือ อยู่กลางทางแล้ว สุดท้ายมีปัจจัยทั้งโอกาสและความไม่แน่นอน คือเศรษฐกิจกำลังฟื้น แต่ก็มีความไม่แน่นอนต่าง ๆ และที่สำคัญเป็นการฟื้นตัวเฉพาะกลุ่มบน”

ท่องเที่ยวฟื้นเฉพาะตลาดบน

ดร.อมรเทพกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยขี่หลังเสือ สะท้อนผ่านคำว่า “TIGER” คือ T : tourism การท่องเที่ยว เป็นหัวใจหลักที่ทำให้ปีนี้ปรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยขึ้น เพราะเปิดเมืองเร็วกว่าที่คาด นักท่องเที่ยวก็มาเยอะกว่าที่คิด ปีนี้คาดว่าจะถึง 10 ล้านคน และปีหน้ามีโอกาสที่จะถึง 20 ล้านคน

อย่างไรก็ดี พบว่าเป็นการท่องเที่ยวระดับบน กลุ่มที่ได้ประโยชน์คือโรงแรมระดับ 4 ดาว 5 ดาว ขณะที่โรงแรมระดับ 3 ดาวลงมายังพบว่าฟื้นตัวช้า นอกจากนี้ยังพบว่า 10 ล้านคน แต่ใช้จ่ายต่อหัวหายไปประมาณ 20% คนมาท่องเที่ยวระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น

ดังนั้นจะหวังแต่ตัวเลขไม่ได้ เพราะการใช้จ่ายก็ลดลง และภาพการท่องเที่ยวที่ฟื้นอาจเป็นจังหวัดใหญ่ ๆ กรุงเทพฯ ภูเก็ต หรือบางเมืองในภาคใต้ แต่เมืองรอง หรือเมืองที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวก็ไม่ได้รู้สึกว่าเศรษฐกิจฟื้น ดังนั้นการท่องเที่ยวที่ฟื้นเป็นตัวกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้มีการกระจายมากนัก

ห่วงปัญหาส่งผ่านดอกเบี้ย

ตัวที่สอง I : inflation หรือ “เงินเฟ้อ” เป็นตัวสำคัญที่กดดันเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นตัวช้า การบริโภคชะลอ ขณะที่สินค้าบางอย่างต้นทุนขึ้นมา 40% แต่ผลักภาระให้ผู้บริโภคไม่ได้ ต้องอั้นราคาสินค้าไว้ มาร์จิ้นก็ลดลง แต่ก็จะเห็นการส่งผ่านเงินเฟ้อไปสู่ผู้บริโภคได้มากขึ้น เพราะมีโอกาสที่จะมีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงปลายปี ซึ่งก็อาจจะกระทบกับเอสเอ็มอีบางกลุ่มที่จะเติบโตช้าเพราะค่าแรงที่เพิ่มขึ้น

ดร.อมรเทพกล่าวว่า มองว่า ธปท.จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ครั้งละ 0.25% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.75% สิ้นปีไปอยู่ที่ 1.25% เพราะฉะนั้น ดอกเบี้ยไทยก็ไม่ได้ขึ้นเร็วแรง ส่วนสหรัฐปีหน้าเศรษฐกิจชะลอตัว ก็มีโอกาสที่สหรัฐจะลดดอกเบี้ยก็ได้

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นห่วงคือการส่งผ่านดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อส่งสัญญาณการชะลอเงินเฟ้อ แต่ตอนนี้ทั้ง ธปท.และกระทรวงการคลัง ก็ส่งสัญญาณให้สถาบันการเงินตรึงดอกเบี้ยไว้หลัง กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

เข้าใจว่าต้องการดูแลคนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบ แต่จะทำให้การส่งผ่านนโยบายการเงินไม่เป็นผล และถ้าเป็นแบบนี้ที่คิดว่าเงินเฟ้อจะชะลอปีหน้า
ก็อาจจะไม่ได้ลงเร็วอย่างที่คิด

“นี่อาจเป็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยที่เกิดจากความหวังดี ทำให้สถานการณ์มีความเปราะบางได้ในปีหน้า เพราะถ้าส่งผ่านดอกเบี้ยไม่ได้ และปีหน้ามาตรการลดเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จะครบอีก ก็ทำให้ปีหน้าต้องขึ้นดอกเบี้ยทั้งจากต้นทุน FIDF และดอกเบี้ยที่อั้นไว้ไม่ให้ขึ้น ต้องขึ้นอีก นี่คือระเบิดเวลาของการชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งอาจต้องระวังความเสี่ยงของต้นปีหน้า”

ลงทุนรัฐชะลอ-การเมืองเขย่า

ตัวที่ 3 G : government คือ การใช้จ่ายภาครัฐ อาจจะไม่ใช่พระเอก เพราะภาครัฐค่อนข้างระมัดระวังการใช้จ่าย โดยจะเห็นการใช้จ่ายในลักษณะเงินโอนช่วยเหลือคนจน แต่ไม่ใช่เรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่การลงทุนภาครัฐค่อนข้างชะลอ ซึ่งต้องมาดูว่าจะสามารถฟื้นความเชื่อมั่นของเอกชนให้ลงทุนตามได้หรือไม่

นอกจากนี้ยังมีประเด็นความไม่แน่นอนทางการเมือง เพราะภายใน 6 เดือนอาจจะมีการเลือกตั้งใหม่ อาจต้องมาดูว่าหากเป็นรัฐบาลรักษาการ และโครงการใหม่ ๆ สามารถเดินหน้าได้หรือไม่ เอกชนและต่างชาติอาจจะ wait & see รอดูรัฐบาลชุดใหม่ นโยบายใหม่ ก่อนกลับเข้ามาลงทุน ตรงนั้นจะทำให้ไทยเสียโอกาส

โจทย์ปีหน้า “ส่งออก” โตต่ำ

ดร.อมรเทพกล่าวว่า ตัวที่ 4 E : export แม้ว่าปีนี้ “ส่งออก” เป็นพระเอก เพราะเติบโตค่อนข้างดีไตรมาส 1 โต 14% และไตรมาส 2 โต 10% และคาดว่าทั้งปีจะโต 7% แต่ประเด็นคือปีหน้าส่งออกจะโตได้แค่ 2-3% เพราะความไม่แน่นอนของต่างประเทศ เรื่องการขาดแคลนวัตถุดิบอย่าง เซมิคอนดักเตอร์ และความไม่แน่นอนของตลาดโลกที่จะชะลอตัว ตรงนี้จะเป็นปัจจัยเสี่ยงทางด้านการส่งออกของประเทศไทย

อีกปัจจัยคือส่งออกช่วงที่ผ่านมาได้อานิสงส์จาก “บาทอ่อน” แต่มองว่าช่วงครึ่งหลังถึงปีหน้า เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าเทียบดอลลาร์ คาดว่าจะอยู่ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ช่วงปลายปีนี้ จากรายได้ท่องเที่ยวที่กลับมา ราคาน้ำมันเริ่มมีเสถียรภาพ ประกอบกับความเชื่อมั่นของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นได้ดีขึ้น และ ธปท.ขึ้นดอกเบี้ยทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยไทยและสหรัฐลดลง

“ปีหน้าส่งออกไม่ได้เป็นพระเอก เพราะปีหน้าจะมีเรื่องของความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจโลกชะลอ มูลค่าการส่งออกก็ลดลงตาม”

หางเสือ…ดึงการลงทุน

ตัวสุดท้ายสำคัญมาก เป็นหางของเสือ tiger ที่โบกสะบัดและเปลี่ยนทิศทางเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกได้ คือ R : reverse globalization คือ เรื่องกระแสโลกาภิวัตน์ตีกลับ ที่วันนี้จีนอาจมีปัญหากับไต้หวัน และรัสเซียมีปัญหากับยูเครน เราไม่ต้องเลือกข้าง

แต่ต้องรักษาความสัมพันธ์กับทั้งคู่ เน้นเรื่องการค้าและการลงทุน แต่เพราะมีความไม่แน่นอนแบบนี้ อาจจะทำให้ต้นทุนการส่งออก ต้นทุนการใช้เทคโนโลยีอาจจะสูงขึ้น โดยเฉพาะเรื่อง 5G ระหว่างสหรัฐกับจีน

ความไม่แน่นอนในจีน อาจทำให้เห็นการย้ายฐานออกจีนเพิ่มเติม แต่คือไม่ได้มาเมืองไทย แต่ไปเวียดนาม เพราะเรื่องตัวเลขสิทธิประโยชน์บีโอไอ ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่อีอีซี หรือนอกอีอีซี ซึ่งเป็นโอกาสประเทศไทยต้องการแต่ยังไม่เจอ ก็ต้องพยายามในจุดนี้ เชื่อว่าการเร่งการเจรจาการค้าและการลงทุนกับต่างประเทศน่าจะช่วยให้เรื่องของการลงทุนได้ดีขึ้น

ศก.ไทยระดับล่างยังไม่ฟื้น

ดร.อมรเทพกล่าวด้วยว่า ตอนนี้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่ได้เปลี่ยนไปจากหลายปีก่อนช่วงโควิด ที่ตนเรียกว่า “โมเดลทุเรียน” คือ กรอบนอกนุ่มใน คือเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังที่จะโตได้ 4% ยังมาจากกำลังซื้อนอกประเทศ คือ “ส่งออกและท่องเที่ยว”

ส่วนภายในประเทศยังไม่ค่อยแข็งแรง ที่พูดกันว่าเศรษฐกิจฟื้น แต่คนต่างจังหวัดยังไม่รู้สึกว่าฟื้น รวมถึงเอสเอ็มอี เรียกว่าเศรษฐกิจระดับล่างยังไม่กลับมาระดับก่อนโควิด ภาคเกษตรก็แย่ แม้ว่าราคาผลผลิตดี แต่ต้นทุนสูงขึ้น รายรับที่เหลือก็ลดลง

หลายคนอาจจะบอกว่าหลายธุรกิจฟื้นไปแล้วเทียบก่อนโควิด-19 แต่นั่นคือกำลังซื้อระดับกลางและบน แต่ถ้ากำลังซื้อระดับล่าง นิ่มจริง ๆ เป็นด้านในของทุเรียน และที่สำคัญ เงินเฟ้อก็ยังเร่งแรงอยู่ และปีหน้าอาจเห็นการกระจายตัวของเงินเฟ้อ ไม่ใช่แค่เรื่องของพลังงาน อาหาร แต่กระจายไปสู่ตัวอื่น ๆ มากขึ้น

“แม้ว่าเศรษฐกิจจะโต 4% แต่ก็ไม่ได้พาทุกคนไป กลุ่มเปราะบางกลุ่มรายได้น้อยต้องดูแลกันต่อไป ขณะที่รัฐบาลตั้งงบประมาณปีหน้าขาดดุลมากขึ้น แปลว่าการใช้จ่ายภาครัฐจะน้อยลง ต้อง target มากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถผ่านความไม่แน่นอนจาก “perfect storm” ปีนี้ไปสู่ปีหน้าที่สดใสมากขึ้น หวังว่าจะเห็นสายรุ้ง หรืออย่างน้อยก็เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ปีหน้า

สุกิจ อุดมศิริกุล
สุกิจ อุดมศิริกุล

กำไรธุรกิจครึ่งปีหลังแผ่ว

นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCBS กล่าวในหัวข้อ “ส่องเทรนด์ลงทุน…ฝ่าวิกฤตซ้อนวิกฤต” ว่า วันนี้วิกฤตยังไม่จบ เศรษฐกิจปีนี้มีการเติบโต แต่ปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะโตน้อยกว่าปีนี้

ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปีนี้ต้องบอกว่าได้อานิสงส์จากการเปิดเมือง และช่วงโควิด 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้ประชาชนมีสัดส่วนการออมสูงมาก เงินเหล่านั้นที่ถูกปลดปล่อยออกมาในช่วงที่ผ่านมา แต่จากนี้ไป 2 เรื่องนี้จะมีบทบาทลดลง และกลับเข้าสู่ปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

มุมมองในช่วงครึ่งปีหลัง ตลาดการลงทุนจะสดใสขึ้น แต่ภาพเศรษฐกิจและธุรกิจยังคงมีแนวโน้มชะลอตัว โดยในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนดีขึ้นจากอานิสงส์เปิดเมือง แต่ในช่วงไตรมาส 3 คาดว่าผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนหลาย ๆ บริษัทจะต่ำกว่าคาดการณ์มากขึ้น เพราะแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อซึ่งคาดว่าจะพุ่งสูงสุดในไตรมาส 3 ค่าครองชีพที่สูงขึ้นทำให้กำลังซื้อลดลง

ดัชนีหุ้นชี้ภาวะ ศก.ล่วงหน้า

นายสุกิจกล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจว่า “ตลาดหุ้น” จะเป็นอีกภาพที่ไม่ได้เหมือนภาพเศรษฐกิจ วันนี้ราคาสินทรัพย์ตกไปมากกว่าเศรษฐกิจแล้ว ถ้าเป็นนักลงทุนตรงนี้คือโอกาส แต่ก็ยังไม่ใช่วันที่จะมองโลกในแง่ดีมาก แต่เริ่มเห็นโอกาสในการเข้าลงทุนได้

ตอนนี้อัตราส่วนราคาต่อกำไร (P/E) ของตลาดหุ้นต่าง ๆ ปรับตัวลงมาอยู่ในโซนที่ไม่แพง คือตลาดหุ้นตกลงมารอว่าเศรษฐกิจจะตก เพราะตลาดหุ้นมักจะเป็นดัชนีตัวแปรชี้ภาวะเศรษฐกิจล่วงหน้า

“ตลาดหุ้นมักลงไปถึงจุดต่ำสุดก่อนที่เศรษฐกิจจะต่ำสุด วันนี้ผมยังไม่คิดว่าเศรษฐกิจจะต่ำสุด แต่ตลาดหุ้นมีโอกาสจะต่ำสุดก่อน โดยเศรษฐกิจโลกจริง ๆ ปีหน้าจะดูแย่กว่าปีนี้ ยกเว้นไทยที่ปีหน้าก็อาจฟื้นตัวต่อ เพราะเศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัวและโตต่ำ”