ขุนคลังตีโจทย์ “เศรษฐกิจ” รับมือ ดอกเบี้ยขาขึ้น-หนุนเอกชนลงทุน

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ

ท่ามกลางโลกกำลังเผชิญวิกฤตเงินเฟ้อที่ทำสถิติพุ่งสูงในรอบหลายปี ส่งผลให้ธนาคารกลางหลายประเทศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วและแรงกว่าคาด ขณะเดียวกันความกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะถดถอยเริ่มทวีมากขึ้น หันมามองเศรษฐกิจไทย เพิ่งเริ่มทยอยฟื้น ยังไม่ทันสร่างไข้ “โควิด-19” ก็ต้องมาเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งแน่นอนว่าตามมาด้วยแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้น

สิ่งเหล่านี้จะส่งผลอย่างไรต่อไป ในงานสัมมนา “ถอดรหัสลงทุน ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น” จัดโดยประชาชาติธุรกิจ ได้รับเกียรติจาก “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง มากล่าวปาฐกถาพิเศษ “ทิศทางลงทุนไทย วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้น” มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ปลดล็อกโควิดหนุนเศรษฐกิจฟื้น

“อาคม” กล่าวว่า ขณะนี้ชัดเจนว่าในปี 2565 เศรษฐกิจดีขึ้น ล่าสุด สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประกาศว่าในไตรมาส 2 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2.5% จากไตรมาส 1 ขยายตัว 2.1% ถือว่าดี ส่วนไตรมาสต่อไตรมาส ก็ยังโตที่ 0.7%

โดยการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชัดเจน มาจากการปลดล็อกมาตรการโควิด การท่องเที่ยวเริ่มกลับมา ซึ่งขณะนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยราว 1 ล้านคนต่อเดือน ทั้งปีคาดว่าอาจจะถึง 10 ล้านคน

ส่วนภาคการส่งออกปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 10% โดยในช่วง 6-7 เดือนแรกยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะการส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน ในขณะที่การบริโภคภายในประเทศ ในไตรมาส 2 ขยายตัวได้กว่า 4% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง เพราะรายได้ของตลาดแรงงานเริ่มกลับมา และส่วนหนึ่งก็เป็นรายได้ภาคเกษตร ที่ราคาสินค้าเกษตรดีขึ้นเกือบทุกตัว ทำให้กำลังซื้อของประชาชนเพิ่มขึ้น

“ยังต้องระมัดระวังเรื่องหนี้ครัวเรือน เนื่องจากรายได้โตไม่ทันรายจ่าย โดยรายจ่ายเพิ่มขึ้นจากราคาพลังงาน และค่าอาหารที่ค่อนข้างสูง ก็ต้องแก้ปัญหากันต่อไป ซึ่งมีทั้งสิ่งที่ควบคุมได้ และควบคุมไม่ได้”

ดอกเบี้ยขาขึ้น-นโยบายสู่โหมดปกติ

สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นนั้น เห็นชัดเจนว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายมา 2 ครั้งแล้ว ส่วนไทยเองเพิ่งปรับดอกเบี้ยนโยบาย เมื่อวันที่ 10 ส.ค. โดยปรับขึ้น 0.25% ถือว่าไม่มาก แต่ก็มีสัญญาณว่าอาจปรับเพิ่มเป็น 0.50% แสดงให้เห็นว่าเป็นช่วงที่ดอกเบี้ยขาขึ้น เป็นการใช้นโยบายการเงินในช่วงที่เศรษฐกิจอยู่ในภาวะปกติ

โดยหากมองย้อนกลับไปในปี 2562 ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 1.25% และในปี 2563 ก็ปรับลดลง เพื่อผ่อนคลายให้กระทรวงการคลังใช้จ่ายเงินช่วงโควิด ที่ต้องมีการออกกฎหมายกู้เงิน รวม 1.5 ล้านล้านบาท

“ช่วงวิกฤตโควิด ต้องใช้นโยบายทางการคลัง การใช้จ่ายเงินของรัฐบาลในการแก้ปัญหา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะประเทศเรา ทุกประเทศก็ทำ เมื่อต้องมีการใช้จ่ายของรัฐ ก็ต้องกู้เงิน แน่นอนว่าในอนาคตจะต้องสร้างอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ

ฉะนั้น การเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของรัฐในช่วงที่มีปัญหา เป็นสิ่งยอมรับได้ โดยนโยบายการเงินก็ผ่อนคลายให้ แต่เมื่อเหตุการณ์คลี่คลาย ทุกอย่างต้องกลับมาสู่การใช้เครื่องมือทางเศรษฐกิจ นโยบาย ให้มีประสิทธิภาพต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินไม่ได้ดูเฉพาะเรื่องการไหลออกของเงินทุน แต่ต้องชั่งน้ำหนักถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจด้วย”

รับมือดอกเบี้ยขาขึ้นทุกภาคส่วน

ทั้งนี้ ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดยการเตรียมพร้อมรับมือ ต้องมอง 3 กลุ่มหลัก ได้แก่

1.ภาคประชาชน หากมีการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ทันที ภาระหนี้ก็จะเพิ่มขึ้น เพราะรายได้โตไม่ทันรายจ่าย และเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นฟื้น ฉะนั้น มาตรการต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสียงที่ออกมาจากสถาบันการเงินนั้น ค่อนข้างชัดเจนว่า จะยังช่วยดูแลลูกค้าและประชาชนอยู่ หมายถึง การชะลอปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ให้ช้าลง ขณะที่ดอกเบี้ยเงินฝากก็จะปรับเร็วขึ้น ซึ่งสถาบันการเงินของรัฐก็จะดูแลลูกค้าอย่างน้อยที่สุดถึงปลายปี 2565

2.ภาคธุรกิจ ก็ทำนองเดียวกัน แบงก์ก็มีการปรับโครงสร้างหนี้ให้มาต่อเนื่อง และ 3.ภาครัฐ ยอมรับว่าเมื่อดอกเบี้ยในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ในส่วนเงินกู้ต่างประเทศ ภาระดอกเบี้ยก็คงจะเพิ่มขึ้น แต่ก็คงจะไม่เพิ่มขึ้นเร็ว เพราะกระทรวงการคลังมีการปรับโครงสร้างหนี้ตลอด เพื่อลดความเสี่ยง

รัฐหนุนเอกชนลงทุนเพื่ออนาคต

“ในช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น ก็ยังมีโอกาส โดยภาครัฐกับเอกชนต้องร่วมมือกัน ส่วนที่จะสร้างโอกาสให้ ก็คือ การสร้างระบบนิเวศ อย่างที่รัฐรับผิดชอบ เช่น การใช้นโยบายภาษีในการสนับสนุนทิศทางลงทุนอุตสาหกรรมในภาคเอกชน อย่างอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่เป็นหนึ่งในทิศทางการลงทุนในอนาคต

ซึ่งไม่ใช่เฉพาะผู้ผลิตรถยนต์อีวี ยังรวมถึงผู้ผลิตแบตเตอรี่และผู้ผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน กระทรวงการคลังก็พิจารณาเรื่องภาษีให้ ทั้งในส่วนของกรมสรรพสามิตและศุลกากร รวมทั้งจะต่อไปยังเรื่องแบตเตอรี่ด้วย อยู่ระหว่างดำเนินการ”

ยังมีในกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ภาครัฐจัดทรัพยากรเข้าไปช่วยสนับสนุน ทั้งเอสเอ็มอีส่งออก ที่ยังไม่รู้จักตลาดดีเพียงพอ หรือต้องการขยายธุรกิจไปสู่ตลาดต่างประเทศ ภาครัฐก็มีธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยที่คอยให้ความช่วยเหลือ และยังมีวงเงินซอฟต์โลนที่ขออนุมัติจากรัฐบาล ที่วงเงินเหลืออยู่ 6 หมื่นล้านบาทในการดูแลภาคธุรกิจ

รมว.คลังกล่าวว่า หากถามว่าทิศทางในอนาคตจะไปด้านใดนั้น ชัดเจนว่าเป็นเรื่องของโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่จะเป็นเครื่องยนต์ใหม่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยมุ่งส่งเสริม 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่สอดรับกับ 3 เทรนด์ของโลก

ได้แก่ 1.การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ อย่างอุตฯอีวีก็เป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองลดการปล่อยก๊าชคาร์บอนไดออกไซด์ และเรื่องอื่น ๆ

2.สุขภาพ เพราะอนาคตจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ฉะนั้น เทรนด์ในการบริการสุขภาพ จะเป็นอีกเทรนด์ในอนาคต และมาตรการต่าง ๆ ที่รัฐจะเข้าไปสนับสนุน ก็ยินดีที่จะดูแลเรื่องนี้ และ 3.เทคโนโลยี ซึ่งเป็นเรื่องเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นเรื่องของสตาร์ตอัพ ที่จะมาใช้ประโยชน์จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 5G ให้เป็นประโยชน์มากขึ้น

จัดงบฯ ขาดดุล 6.95 แสนล้าน

นอกจากนี้ ในเรื่องของนโยบายการคลังก็ต้องมีความยั่งยืน ต้องทำให้การดำเนินนโยบายการคลังมีความมั่นคง ซึ่งตอนนี้ฐานะการคลังมั่นคง และการจัดเก็บรายได้ก็ไม่มีปัญหา

โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างจัดทำงบประมาณปี 2566 คาดว่าจะแล้วเสร็จวันที่ 19 ส.ค.นี้ ซึ่งยังคงเป็นงบประมาณขาดดุลอยู่ที่ 6.95 แสนล้านบาท ขาดดุลลดลงจากปี 2565 จำนวน 5,000 ล้านบาท ถือเป็นสัญญาณว่า ในอนาคตข้างหน้าจะต้องลดการขาดดุลลงไปอีก ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ขณะที่การจัดทำงบประมาณดังกล่าว ประมาณการว่าเศรษฐกิจปี 2566 จะขยายตัวอยู่ที่ 4-5%


นับเป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการบริหารนโยบายเศรษฐกิจในช่วงที่ต้องเผชิญ “วิกฤตซ้อนวิกฤต” เช่นนี้