หุ้นเมกะเทรนด์ BEM เติบโตแข็งแกร่งบนธุรกิจทางด่วน-รถไฟฟ้า

ปาหนัน โตสุวรรณถาวร
ปาหนัน โตสุวรรณถาวร

งานสัมมนาแห่งปีต้อนรับครึ่งปีหลัง 2565 หัวข้อ “ถอดรหัสลงทุน ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น” จัดโดยหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ณ แกรนด์ฮอลล์ แอทธินี โฮเทล แบงค็อก (เพลินจิต) มีแขกรับเชิญพิเศษ “ปาหนัน โตสุวรรณถาวร” รองกรรมการผู้จัดการ บัญชีและการเงิน บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ร่วมเสวนาหัวข้อ “หุ้นเมกะเทรนด์ …ไม่กลัวเงินเฟ้อ” มีสาระสำคัญ ดังนี้่

อัพเดตธุรกิจทางด่วน-รถไฟฟ้า

CFO บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ เปิดประเด็นด้วยการอัพเดตแผนธุรกิจองค์กร โดย BEM เกิดจากการควบรวม 2 บริษัท คือ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ กับบริษัท ทางด่วนกรุงเทพ เมื่อปลายปี 2558

สถานะปัจจุบันสำหรับ “ธุรกิจทางด่วน” เป็นผู้รับสัมปทานกับ “กทพ.-การทางพิเศษแห่งประเทศไทย” จำนวน 3 สัมปทาน และมี 4 เส้นทางด้วยกัน ประกอบด้วย สัมปทานที่ 1 ทางด่วนในเมืองหรือที่เราเรียกว่า “ทางด่วนขั้นที่ 2 ศรีรัช” กับทางด่วนนอกเมือง “ทางด่วนศรีรัช” เหมือนกัน แบ่งแยกกันเรื่องการแบ่งรายได้ระหว่าง กทพ. กับ BEM โดยมี “ทางด่วนขั้นที่ 1” ซึ่งรัฐลงทุนและบริหารเอง

ในภาพใหญ่ ทางด่วนขั้นที่ 1 และทางด่วนขั้นที่ 2 เชื่อมเป็นเครือข่ายเดียวกัน ดังนั้นจึงมีการนำรายได้ทั้ง 2 เส้นทางมารวมกันแล้วแบ่งตามส่วน โดย BEM มีรายได้สัดส่วน 40% กทพ.มีรายได้ 60% กำหนดสัญญาสัมปทานหมดอายุในปี 2578

ถัดมา สัมปทานที่ 2 “ทางด่วนสายอุดรรัถยา” หรือ “ทางด่วนบางปะอิน-ปากเกร็ด” คู่สัญญากับรัฐในนามบริษัทย่อย “บริษัท ทางด่วนกรุงเทพเหนือ” ซึ่ง BEM ถือหุ้น 100% รายได้จึงเป็นของ BEM ทั้งหมด กำหนดสัญญาสัมปทานหมดอายุในปี 2578 เช่นเดียวกัน และสัมปทานที่ 3 “ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอก” แนวเส้นทางมุ่งไปทางเหนือ ผ่านสถานีกลางบางซื่อ แล้วจะมีทางด่วนแยกออกไปอีก ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปทาง EGAT (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) ไปจบที่ถนนวงแหวนรอบนอกกาญจนาภิเษก สัญญากำหนดสิ้นสุดในปี 2585 โดยรายได้เป็นของ BEM ทั้งหมด

พาร์ตของธุรกิจทางด่วนที่ BEM ดูแลอยู่ สร้างรายได้ในสัดส่วน 60% ของรายได้รวมของบริษัท

ปาหนัน โตสุวรรณถาวร

ต่อจิ๊กซอว์สร้างรายได้ยั่งยืน

ธุรกิจหลักควบคู่ทางด่วนคือรถไฟฟ้า โดย BEM มีสัมปทาน 2 สายทาง 2 สัญญา ได้แก่ 1.“รถไฟฟ้าสีน้ำเงิน” เป็นรถไฟฟ้าใต้ดินสายแรกของประเทศไทย เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2547 เส้นทาง “บางซื่อ-หัวลำโพง” แนวเส้นทางมีเพียงครึ่งวงกลมของปัจจุบัน และวิ่งรับส่งผู้โดยสารเป็นเวลา 15 ปีมาแล้ว ต่อมาเริ่มมีการลงทุน “สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย” เปิดให้บริการจริง ๆ ปี 2563 เจอกับโรคระบาดโควิดพอดี จึงยังไม่ได้ใช้ประโยชน์เท่าไหร่นัก

ทั้งนี้ สายสีน้ำเงินเดิมกับส่วนต่อขยายเมื่อเปิดให้บริการครบทั้งสายทางแล้ว สามารถเดินทางจากหัวลำโพงผ่านไปทางเยาวราช ไปจบที่หลักสองบริเวณท่าพระ อีกด้านหนึ่งเส้นทางจากบางซื่อไปจบที่ท่าพระ เมื่อดูจากแผนที่แนวเส้นทางจะสังเกตได้ว่าเป็นเส้นทางรถไฟฟ้าที่มีการ form ตัวเป็นวงกลมของกรุงเทพฯ เชื่อมทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก ข้ามแม่น้ำทั้งฝั่งธนบุรีและฝั่งพระนคร รูปแบบอาจจะคล้าย ๆ เลข 9 โดยมีติ่งอยู่ที่สถานีหลักสอง สัญญาสัมปทานกำหนดหมดอายุในปี 2593

และสัมปทานที่ 2 “รถไฟฟ้าสายสีม่วง” ซึ่ง BEM รับจ้างบริหารและเดินรถ ภาครัฐลงทุนส่วนงานโยธา และ BEM ลงทุนให้ก่อนในส่วนงานระบบ “สายสีม่วงเรียกว่า advance งานระบบแล้วก็ซื้อขบวนรถไฟฟ้า จากนั้น ภาครัฐจะทยอยชำระคืนใน 10 ปี แล้วก็จ้างเราบริหารและเดินรถ สัญญาสัมปทานหมดอายุในปี 2586 เราได้รับเป็นค่าจ้างเดินรถ ไม่มีความเสี่ยงในส่วน ridership หรือตัวรายได้”

สรุปว่าธุรกิจรถไฟฟ้าสร้างรายได้ให้องค์กรสัดส่วน 35% โดยมีจิ๊กซอว์ธุรกิจตัวที่ 3 มาจาก “การพัฒนาเชิงพาณิชย์” ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีภายใต้แบรนด์ “เมโทรมอลล์” โดยพื้นที่ยังอยู่ในสัญญาสัมปทานของ BEM ทำรายได้ให้องค์กรสัดส่วน 5% และรายได้ที่เหลืออีก 10% มาจากเงินปันผลจากการลงทุนในกลุ่มบริษัท TTW และบริษัท CKP เฉลี่ยปีละ 500 กว่าล้านบาท ถือเป็น cash flow ที่นอนมาของ BEM

หลังยุคโควิดเริ่มฟื้นตัวทั้งรถ-คน

อัพเดตผลกระทบจากสถานการณ์โควิดพบว่า ยุคก่อนโควิด ธุรกิจทางด่วนมีปริมาณรถ 1.2 ล้านเที่ยวคัน/วัน ปี 2563-2564 ปริมาณรถหายไป 30-35% ต้นปี 2565 เจอผลกระทบโอมิครอนแต่ก็ยังมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเริ่มเห็นปริมาณรถแตะ 1.1 ล้านเที่ยวคัน/วัน หรือยอดใช้ทางด่วนกลับคืนมา 90% แล้ว

ฟันธงว่าธุรกิจทางด่วนเริ่มฟื้นตัวกลับมาเป็นรูปแบบ V-shape

ขณะที่ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าผลกระทบหนักกว่า เพราะมีมาตรการ social distancing ทำให้ปี 2563-2564 ปริมาณผู้โดยสารลดลง 20% และ 40% ตามลำดับ จากยุคก่อนโควิดที่มีปริมาณผู้โดยสารเกิน 3 แสนเที่ยวคน/วัน พบว่า ในวันที่เลวร้ายยอดหล่นเหลือหลักหมื่นเที่ยวคน/วัน โดยปี 2564 อยู่ที่หลัก 1 แสนกว่าเที่ยวคน/วัน ล่าสุด ครึ่งปีแรก 2565 ตัวเลขเฉลี่ยที่ 2 แสนกว่าเที่ยวคน/วัน

“ตอนนี้เริ่มเดือน 8 พอสถานศึกษาเปิดเรียนออนไซต์ ประชาชนรับวัคซีนกันแล้วทั้งเข็มพื้นฐาน ทั้งเข็มกระตุ้น เราเห็นตัวเลข 3.5 แสนเที่ยวคนแล้ว และวันศุกร์ 12 สิงหาคมที่ผ่านมา เราเพิ่งเห็นตัวเลข 3.8 แสนเที่ยวคน/วัน ใครอยากดูว่าเศรษฐกิจเป็นยังไง ให้ดูตัวเลขรถไฟฟ้ากับทางด่วนได้ เป็น indicators ให้เห็นชัดเจนว่าฟื้นหรือยัง โดยเฉพาะสถานีที่เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวมีปริมาณฟื้นตัวกลับมาแล้ว 80-90%”

หุ้นกู้หกพันล้านดีมานด์ 3 หมื่นล้าน

สำหรับเรื่องของสถานการณ์ความเสี่ยงทางเศรษฐกิจมีผลกระทบต่อ BEM มากน้อยแค่ไหน มีคำตอบเซอร์ไพรส์ประเมินจากผลตอบรับเรื่องการออกหุ้นกู้ในปี 2564

“ต้องบอกว่า BEM คือบริษัทที่ใช้เงินลงทุนสูงในช่วงแรก ก็จะมีหนี้เยอะ เราเป็นแบบนี้มาตั้งนานแล้ว เราก็รู้แล้วว่าเราจะจัดการกับมันอย่างไร ในช่วงระหว่างก่อสร้าง เราก็จะใช้เงินกู้อัตราดอกเบี้ยลอยตัว พอสร้างเสร็จจะเปลี่ยนเป็นดอกเบี้ยคงที่ ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เราปรับพอร์ตเรื่องการกู้พอสมควรจากการกู้ดอกเบี้ยลอยตัวเป็นหุ้นกู้อัตราดอกเบี้ยคงที่ บางส่วนทำสวอป เหลือสัดส่วนที่เป็นดอกเบี้ยลอยตัว 20% นิด ๆ”

และ “ปี 2564 เราออกหุ้นกู้ยั่งยืนเป็นดีลแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในพาร์ตของหมวดธุรกิจขนส่ง วงเงิน 6 พันล้านบาท ตอนนั้นมี demand ถึง 2.8 หมื่นล้านบาท ได้รับผลตอบรับค่อนข้างมาก ต้องขอขอบคุณนักลงทุนด้วยที่สนับสนุนบริษัท สำหรับปีนี้จะมีออกหุ้นกู้ยั่งยืนอีกครั้งหนึ่งช่วงเดือนกันยายน วงเงิน 3-4 พันล้านบาท ก็ขอฝากด้วยอีกครั้งหนึ่ง”

ส่วนประเด็นปัญหาเงินเฟ้อ กลับกลายเป็นผลประโยชน์ของผู้ใช้ทางด่วน เพราะผลของการเป็นคู่สัญญาสัมปทานรัฐทำให้ค่าผ่านทางถูกกำหนดไว้หมดแล้ว “…ในภาวะเงินเฟ้อก็จะเป็นข่าวดีสำหรับผู้ใช้ทางด่วน เพราะจะขึ้นค่าผ่านทางอีกครั้งหนึ่งตามสัญญาต้องรอไปถึงปี 2571 อีกสักพักหนึ่งเลย”

แข็งแกร่งจากโมเดลธุรกิจ

สิ่งที่คนอยากรู้มากที่สุดคือ อะไรคือความแข็งแกร่งของ BEM ที่ทำให้ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจที่ถือว่าหนักที่สุดในรอบร้อยปี (โรคระบาดโควิด)

“ความแข็งแกร่งของเราต้องบอกว่ามันเริ่มจากโมเดลธุรกิจมากกว่า จะเห็นได้ว่า BEM ไม่ได้ลงทุน diversify มากมายอะไร พอเราเลือกธุรกิจที่เราชำนาญ เราก็รู้ว่าจะทำยังไงกับมัน และอีกเรื่องหนึ่งที่อยู่มาได้ก็คือเราดูแลทุกคน เราไม่ได้มองตัวเองเป็นหลัก ไม่ว่าจะวิกฤตไหนมีหนี้ธนาคารก็จ่ายคืนครบ เราจ่ายดอกเบี้ยครบไม่มีเบี้ยวหนี้ พนักงานก็เช่นเดียวกัน ผู้ถือหุ้นก็ยังมีเงินปันผลอยู่อย่างสม่ำเสมอ อาจจะมากบ้างน้อยบ้างตามภาวะเศรษฐกิจ อีกอันหนึ่งคือผู้ใช้ทาง ผู้ใช้บริการ และผู้ที่อยู่รอบสายทางเรา จะเห็นว่า BEM ดูแลทั้งหมด”

คำกล่าวที่เป็นเสมือนพันธสัญญาก็คือ “BEM ไม่ได้มีนโยบายที่จะมีกำไรสูงสุด เรามีกำไรในอัตราเหมาะสมแล้วก็อยู่ในสังคมได้อย่างภาคภูมิใจ”