EA ยกระดับผลิตภัณฑ์ สร้างมูลค่าเพิ่ม

อมร ทรัพย์ทวีกุล
อมร ทรัพย์ทวีกุล

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) กล่าวในงานสัมมนา ถอดรหัสลงทุน ยุคดอกเบี้ยขาขึ้น จัดโดยหนังสือพิมพ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การลงทุนควรมองโอกาส และถ้าพูดถึงโอกาสธุรกิจของ EA ครบองค์ประกอบทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น ไบโอดีเซล, โรงไฟฟ้า และพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกวันนี้ถูกขับเคลื่อนด้วยสิ่งแวดล้อม ทุกคนพูดเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน ประเทศไทยประกาศปี 2065 จะเป็นซีโร่คาร์บอน

ดังนั้นธุรกิจของ EA คือโอกาสที่แท้จริง แต่การก้าวไปสู่โอกาสที่ดีสุดนั้น ต้องเร่งยกระดับผลิตภัณฑ์ สร้างจุดแข็ง ความแตกต่าง และเพิ่มมูลค่า ดังนั้นสิ่งต้องทำคือการใส่นวัตกรรม เพื่อสร้างโอกาส และความยั่งยืน

“เราเชื่อว่าทั้งโลกแข่งขันกันด้วยนวัตกรรม”

สำหรับธุรกิจไบโอดีเซล ที่โลว์มาร์จิ้น EA พยามฉีกตัวเองไปหาโปรดักต์ใหม่ อาทิ กรีนดีเซล ทำน้ำมันดีเซลจากน้ำมันปาล์ม รวมถึงการทำไบโอเจ็ตฟิวล์ ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้า EA พยายามมองหาลิเทียมแบตเตอรี่ เพื่อนำแบตเตอรี่ไปใช้ในโรงไฟฟ้า ทดแทนพลังงานอื่นสร้างความเสถียรในการจ่ายไฟฟ้า EA มีโรงงานแบตเตอรี่ ที่ฉะเชิงเทราเปิดดำเนินการเมื่อปีที่แล้ว ขนาด 1 กิกะวัตต์ ถือเป็นแห่งแรกในอาเซียน

ขณะที่ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า EA ยังเร่งสร้าง “อีวี อีโคซิสเต็ม” สถานีชาร์จ EA เริ่มดำเนินการเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ถือเป็นผู้นำมีแชร์สูงสุดในตลาด ราว ๆ 70% ตอนนี้ก็เป็นเรื่องน่ายินดีที่มีหลายหน่วยงานกระโดดเข้ามาในธุรกิจนี้

“สถานีชาร์จ คือแกนหลักที่จะทำให้ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าโตได้เร็วขึ้น มีแล้วอุ่นใจ”

นอกจากนี้ EA ยังมีโรงงานแบตเตอรี่ ที่จะรองรับทั้งรถยนต์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถไฟไฟฟ้า EA มีโรงประกอบรถบัสที่บ้านโพธิ์ ฉะเชิงเทรา ส่งมอบไปแล้วกว่า 180 คัน ถึงสิ้นปีนี้น่าจะถึง 1,000 คัน ที่เห็นเป็นรถเมล์สีน้ำเงินเข้มวิ่งใน กทม. และจังหวัดใกล้เคียง ปีหน้าจะร่วมมือกับพันธมิตร เปลี่ยนรถเมล์ใน กทม.ให้เป็นรถเมล์อีวี 80-90% EA ยังมีรถบรรทุกที่กำลังจะออกสู่ตลาดเพื่อตอบโจทย์ภาคขนส่ง ธุรกิจโลจิสติกส์ ขณะที่รถเล็กเตรียมคลอดรถปิกอัพ

คีย์ที่เป็นจุดแข็งของ EA คือ ระบบการชาร์จ ซึ่งถือเป็นเจ้าแรกที่มีแพลตฟอร์มการชาร์จภายในเวลา 15 นาที ได้กำลังไฟในแบตเตอรี่ 80% ไม่ว่าแบตเตอรี่จะขนาดเท่าไรก็ตาม เช่น เรือขนาด 800 kWh รถบัส 250 kWh หรือรถเล็ก 30-40 kWh สามารถตอบโจทย์รถที่อยู่ในภาคขนส่งแพลตฟอร์มนี้ เกิดขึ้นมาด้วยองค์ประกอบ ทั้งตัวแบตเตอรี่ ชาร์จเจอร์ ทำงานสอดคล้องกันเป็นโนว์ฮาว และ EA จดลิขสิทธิ์ไว้เรียบร้อย เตรียมพร้อมสำหรับประเทศไทยที่จะเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

โอกาสของ EA ถูกไดรฟ์ด้วยสิ่งแวดล้อม ไบโอเจ็ตฟิวล์ในยุโรป ปีหนึ่งมีการใช้ถึง 300 ล้านตัน ถ้าผสมไบโอเข้าไป 50% ก็ได้ 150 ล้านตัน อีกโอกาสคือรัฐบาลผลักดันให้ไทยเป็นอาเซียนอีวีฮับ พยายามสร้างดีมานด์ ทั้งยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ EA ก็ได้อานิสงส์ และที่ EA เน้นคอมเมอร์เชียลฟรีตเพราะมีจุดแข็งฟาสต์ชาร์จ ประเทศไทยมีรถยนต์เชิงพานิชย์ปีหนึ่ง 1.3 ล้านคัน เป็นรถจดทะเบียนใหม่ 8 หมื่นคัน ถ้าแปลงกลับมาเป็นดีมานด์แบตเตอรี่ เชื่อว่าความต้องการจะสูงถึง 400 กิกะวัตต์

“เราอยู่ในคลื่นของกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง หนีไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำคือ เกาะไปให้ได้ มองไกลกว่านั้น นอกจากไทย ภูมิภาคอาเซียน วันนี้มีรถจดทะเบียนใหม่ 3 แสนคัน มูลค่าตลาดประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ถ้าเราทำให้ประเทศไทยเป็น case study เปลี่ยนรถเชิงพาณิชย์ให้เป็นไฟฟ้า และสามารถก้าวข้ามข้อจำกัด เรื่องการชาร์จด้วยประสิทธิภาพแบตเตอรี่ รวมถึงราคา ก็ไม่มีเหตุผลที่ประเทศอื่นจะปฏิเสธเรา”