
บทบรรณาธิการ
ในที่สุดค่าเงินบาทไทยไหลอ่อนค่าไปถึง 38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ แม้มีบางจังหวะเด้งกลับมาที่ 37 บาทปลาย ๆ บ้าง แต่หลัก ๆ ต้องถือว่าอยู่ในช่วง 38 บาท บวกกับเงินดอลลาร์มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้กูรูบางส่วนห่วงว่าระดับ 39 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จะต้านอยู่หรือไม่ จากข้อมูลพบว่าตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เงินบาทอ่อนค่าลงประมาณ 12% อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่าอยู่ระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศอื่น
ธปท.ยืนยันว่าพร้อมดูแลค่าเงินบาทในช่วงที่ผันผวนผิดปกติ เพราะไม่อยากให้กระทบต่อการนำเข้าและส่งออก รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ประเทศไทยถือว่ามีแนวโน้มดีขึ้น เห็นได้จากตัวเลขเดือน ส.ค.ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ภาคการท่องเที่ยวและภาคการส่งออก ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน การบริโภคในหมวดสินค้าคงทน เช่นยอดจำหน่ายรถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน 62.7% รถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันปีก่อน 67%
- จับตาธุรกิจเลิกจ้าง ปิดกิจการ ส่งออกสะดุด-บริษัทยักษ์ย้ายฐาน
- เช็กเงื่อนไขกู้ “ออมสิน” ปลดหนี้นอกระบบ คุณสมบัติผู้กู้ต้องมีอะไรบ้าง ?
- หุ้นกู้ออกใหม่เดือน ธ.ค. บริษัทแห่ระดมทุน จูงใจจ่ายดอกเบี้ยสูง 7%
ถึงกระนั้น ธปท.ไม่ได้กำหนดกรอบว่าเงินบาทควรอยู่ในระดับใดจึงเหมาะสม และแสดงชัดเจนว่าไม่ฝ่าฝืนตลาด เพราะการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐคราวนี้ กระทบกับสกุลเงินต่าง ๆ ทั่วโลก จึงทำเพียงประคองหรือแทรกแซงบ้างในบางจังหวะ เพื่อไม่ให้เงินบาทผันผวนมากเกินไป แต่คงไม่ถึงขั้นกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน เพราะบทเรียนจากวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ทำให้ประเทศไทยย่ำแย่ครั้งใหญ่
จากท่าทีต่าง ๆ จึงมั่นใจได้ว่าวิกฤตค่าเงินครั้งนี้ไม่ซ้ำรอยปี 2540 เพราะประเทศไทยกู้เงินจากต่างประเทศในระดับต่ำ โดยเฉพาะภาคเอกชนระมัดระวังและมีเครื่องไม้เครื่องมือป้องกันอยู่มากพอสมควร บวกกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 2.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 3 เท่าของหนี้ระยะสั้น ทำให้การออกมาของ ธปท.พอทำให้คนไทยใจชื้นขึ้นว่าจะไม่เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
อย่างไรก็ตาม ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า ยิ่งหากสหรัฐปรับขึ้นดอกเบี้ยระดับ 0.75% ต่ออีก 1-2 ครั้ง เงินบาทและสกุลอื่น ๆ น่าจะอ่อนลงไปอีก เท่ากับยิ่งซ้ำเติมปัญหาเงินเฟ้อในประเทศ จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลและ ธปท.ต้องหามาตรการรองรับเข้มข้นกว่าที่เป็นอยู่ เพราะประชาชนกลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบมากที่สุดเกี่ยวกับค่าครองชีพ
แม้ค่าแรงขั้นต่ำใหม่จะประกาศใช้ ทว่าหากเทียบกับราคาสินค้าบริการที่ปรับสูงต่อเนื่อง กลุ่มชนชั้นกลางลงมายังอยู่ในห้วงวิกฤตทั้งการดำรงชีพในปัจจุบันและอนาคต สะท้อนจากตัวเลขบัญชีเงินฝากธนาคารเมื่อเดือน พ.ค.มีทั้งสิ้น 116.55 ล้านบัญชี ในจำนวนนี้มีมากถึง 102.15 ล้านบัญชี ที่มีเงินฝากไม่ถึง 5 หมื่นบาท โดยตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่เพียง 4,240 บาท/บัญชี กลุ่มเหล่านี้ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากค่าเงินอ่อน และปัญหาเงินเฟ้อทรงตัวในระดับสูง