กสิกร-เอสซีบี เอกซ์ กำไรสูง ระบบแบงก์ตั้งสำรองลด-โกยดอกเบี้ย

กำไร

เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวมากขึ้น หลังจากวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย หนุนให้ผลประกอบการธนาคารพาณิชย์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ออกมาดูดีมากขึ้น โดย 9 แบงก์ (รวบรวมเฉพาะที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ภายในเวลา 13.00 น. วันที่ 21 ต.ค. 2565)

ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL), บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB), ธนาคารกสิกรไทย (KBANK), ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY), ธนาคารทหารไทยธนชาต (ttb), ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP), ธนาคารทิสโก้ (TISCO) ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย (CIMB T) และธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ (L H BANK) มีกำไรรวมกัน 134,020 ล้านบาท เพิ่มจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YOY) 8.17%

ขณะที่เฉพาะในงวดไตรมาส 3/2565 กำไรรวมกันอยู่ที่ 45,364 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.69% YOY แต่กำไรใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) (ดูตาราง)

“กสิกรฯ-ยานแม่” กำไรมากสุด

ทั้งนี้ แบงก์ที่ทำกำไรได้สูงสุด ในงวดไตรมาส 3 คือ กสิกรไทยที่มีกำไรสุทธิ 10,794 ล้านบาท (แต่ลดลงจาก Q2 ที่มีกำไร 10,794 ล้านบาท) รองลงมาคือ เอสซีบี เอกซ์ 10,309 ล้านบาท (เพิ่มจาก Q2 ที่ 10,051 ล้านบาท) ตามมาด้วย กรุงศรี 8,070 ล้านบาท (เพิ่มจาก Q2 ที่ 7,834 ล้านบาท) และแบงก์กรุงเทพ 7,657 ล้านบาท (เพิ่มจาก Q2 ที่ 6,961 ล้านบาท หรือเพิ่ม 10%)

ขณะที่งวด 9 เดือน แบงก์ที่มีกำไรสุทธิสูงสุด คือ กสิกรไทยอยู่ที่ 32,579 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 15.73% YOY) รองลงมา เอสซีบี เอกซ์ 30,403 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 9.68% YOY) ตามมาด้วย กรุงศรี 23,322 ล้านบาท (แต่ลดลง 14.91% YOY) และแบงก์กรุงเทพ 21,736 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 7.66% YOY)

โดย “ขัตติยา อินทรวิชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า กำไรสุทธิที่เกิดขึ้น หลัก ๆ เกิดจากรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เป็นไปตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อใหม่ในกลุ่มลูกค้าบุคคล และเอสเอ็มอี

โดยเน้นการนำเสนอผลิตภัณฑ์สินเชื่อผ่านช่องทางดิจิทัลเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในการปล่อยสินเชื่อซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของธนาคาร โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (NIM) อยู่ที่ระดับ 3.26%

ขณะที่ “อาทิตย์ นันทวิทยา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอสซีบี เอกซ์ กล่าวว่า ธุรกิจของกลุ่ม ยังขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง สะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม ควบคู่กับการสนับสนุนการฟื้นตัวของลูกค้าในกลุ่มต่าง ๆ

ตาราง ผลประกอบการแบงก์ไทย งวด 9 เดือน

ขณะเดียวกันการจัดตั้งธุรกิจใหม่ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ยานแม่” มีความก้าวหน้าหลายประการ อาทิ การบุกตลาดธุรกิจจำนำทะเบียนรถ ของบริษัท ออโต้ เอกซ์ (เงินไชโย) ที่ขยายฐานลูกค้าและสินเชื่อมากกว่า 3,000 ล้านบาท ในไตรมาสเดียว

นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ ได้เปิดตัวซูเปอร์แอป ด้านการลงทุนแห่งแรกของไทยที่รวบรวมการซื้อขายสินทรัพย์ดั้งเดิมและสินทรัพย์ดิจิทัลไว้ในแพลตฟอร์มเดียว อีกทั้งแพลตฟอร์มโรบินฮู้ดได้ผันตัวไปเป็นซูเปอร์แอป อย่างเต็มรูปแบ

“ในไตรมาสนี้ บริษัท เอสซีบี เอกซ์ ได้รับเงินปันผลพิเศษจากธนาคารเพื่อใช้ดำเนินงานตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ เพื่อนำพาองค์กรก้าวสู่การเป็นกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีทางการเงินชั้นนำในระดับภูมิภาคต่อไป”

หนี้เสียภาพรวมลด-BBL ขยับขึ้น

ขณะที่ภาพรวมหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) 9 แบงก์ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2565 อยู่ที่ 410,337 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 434,763 ล้านบาท และลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ที่ 449,565 ล้านบาท

และใน 8 แบงก์ดังกล่าว แบงก์ที่มีเอ็นพีแอล สูงสุด คือ แบงก์กรุงเทพ 107,023 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากสิ้นไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 105,046 ล้านบาท แต่ลดจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ที่ 112,433 ล้านบาท รองลงมาคือ เอสซีบี เอกซ์ มีเอ็นพีแอล 92,131 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 102,538 ล้านบาท และลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ที่ 107,071 ล้านบาท

ต่อมา กสิกรไทย มีเอ็นพีแอล 87,682 ล้านบาท ลดลงจากสิ้นไตรมาสก่อนที่อยู่ที่ 109,972 ล้านบาท และลดจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ที่ 105,930 ล้านบาท

แบงก์ตั้งสำรองลดลงทั้งระบบ

โดย ณ สิ้นไตรมาส 3/2565 แบงก์ไทยตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญลดลง โดยภาพรวม Q3 ตั้งสำรอง ที่ 40,860 ล้านบาท ลดจากไตรมาสก่อนที่ตั้ง 41,520 ล้านบาท หรือลดลง 1.59% QOQ ส่วนงวด 9 เดือนตั้งสำรอง ที่ 120,572 ล้านบาท ลดจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ตั้ง 126,490 ล้านบาท หรือลดลง 4.68% YOY

อย่างไรก็ดี แบงก์ที่ตั้งสำรอง มากสุดในช่วง 9 เดือนแรก ได้แก่ กสิกรไทย 29,135 ล้านบาท ซึ่งลดลง 5.26% YOY แต่ใน Q3 ตั้งสำรอง ที่ 9,948 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.97% QOQ ขณะที่เอสซีบี เอกซ์ ตั้งสำรอง 9 เดือนที่ 26,750 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33.51% YOY

แต่ในไตรมาส 3 ตั้งสำรอง แค่ 7,750 ล้านบาท ลดลง 24.39% QOQ ตามมาด้วยแบงก์กรุงเทพ ตั้งสำรอง 9 เดือนแรกที่ 24,733 ล้านบาท ลดลง 4.90% YOY แต่ในไตรมาส 3 ตั้งที่ 9,889 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.37% QOQ

ขึ้นดอกเบี้ยหนุน NIM

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า อัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์จะยังคงทยอยขยับขึ้นตามจังหวะของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะช่วยหนุนให้ NIM แบงก์ไทยขยับขึ้นต่อเนื่องในไตรมาสสุดท้ายปีนี้ไปอยู่ที่ 2.80-2.84%

ขณะที่ช่วงรอยต่อไตรมาสสุดท้ายปี 2565 และต้นปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังมีสัญญาณฟื้นตัวจะเอื้อให้มีการเบิกใช้สินเชื่ออย่างต่อเนื่อง ประกอบกับทิศทางดอกเบี้ยในประเทศที่เริ่มขยับขึ้น ก็น่าจะช่วยหนุนการเติบโตของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และ NIM

อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของแนวโน้มเศรษฐกิจไทย ที่อาจเป็นข้อจำกัดในการฟื้นตัวของรายได้จากธุรกิจหลักของธนาคาร โดยเฉพาะโจทย์ด้านกำลังซื้อและการใช้จ่ายภายในประเทศที่ยังน่าจะเผชิญแรงกดดันจากการขยับสูงขึ้นของต้นทุนและอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ตลาดเงินตลาดทุนมีความผันผวน ก็อาจส่งผลต่อรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย

นอกจากนี้ แบงก์ยังคงต้องติดตามสถานการณ์และเร่งปรับโครงสร้างหนี้ระยะยาวให้กับลูกหนี้ ควบคู่ไปกับการปรับระดับการกันสำรอง ให้มีความเหมาะสมตามสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ