จับตาดีลร่วมทุน AISCB ล่ม แผน “ยานแม่” ผนึกยักษ์สื่อสารสะดุด

ดีลร่วมทุน AIS-SCB

จับตาดีลร่วมทุน 2 ยักษ์ “AIS-SCB” ล่ม แผนผนึกกำลังขยายแนวรบ “สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล” ไปไม่ถึงฝัน เผยตุลาคมนี้ครบรอบ 1 ปีจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท “AISCB” ทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท ทุกอย่างยังนิ่งสนิท-ไม่มีข้อมูลยื่นขออนุญาตแบงก์ชาติ เผยดีลใหญ่ที่ 2 ของยานแม่ที่สะดุด หลังเพิ่งประกาศล้มดีลซื้อหุ้น “บิทคับ” วงในเชื่อเอไอเอสยังไม่เลิกสนใจบริการสินเชื่อดิจิทัล คาดทบทวนแผนและพันธมิตรใหม่

แหล่งข่าวจากแวดวงสถาบันการเงินเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ดีลร่วมทุนของ 2 บริษัทยักษ์ใหญ่จาก 2 วงการคือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ที่ได้ประกาศจัดตั้งบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อบริษัท เอไอเอสซีบี จำกัด (AISCB) เพื่อดำเนินธุรกิจให้บริการ “สินเชื่อ” ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Lending) ขณะนี้ได้รับการยืนยันว่า โครงการร่วมทุนดังกล่าวมีอันต้องยุติ และคาดว่าจะมีการแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในเร็ว ๆ นี้

โดยบริษัทร่วมทุน “AISCB” ถือเป็นหนึ่งเรือธงใหม่ของเอสซีบีเอ็กซ์ หลังการประกาศปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ภายใต้ยุทธศาสตร์ “ยานแม่” เมื่อ 22 กันยายน 2564 พร้อมการประกาศเปิดตัวบริษัทลูกใหม่พร้อมกันอย่างบริษัท SCB TechX, Alpha X, Data X และ Card X เป็นต้น ขณะที่ได้ประกาศตั้งนายกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร ผู้บริหารจากบริษัท เอสซีบี เท็นเอกซ์ จำกัด มานั่งเป็นซีอีโอคนแรกของบริษัท AISCB

อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเหตุผลที่ทำให้ยกเลิกดีลนี้มาจากสาเหตุอะไร ขณะที่ทั้งสองบริษัทได้มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเรียบร้อยแล้วเมื่อ 25 ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ด้วยทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท ถือหุ้นในสัดส่วน 50:50 ลงทุนฝ่ายละ 300 ล้านบาท ซึ่งเดิมคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในไตรมาส 1/2565 อย่างไรก็ตามจนเข้าถึงไตรมาส 4 ก็ยังไม่มีความเคลื่อนไหวใด ๆ

สำหรับบริษัทร่วมทุน AISCB มีกรรมการ 6 คน ประกอบด้วยนายอาทิตย์ นันทวิทยา, นายอนุชา เหล่าขวัญสถิตย์, นายกวีวุฒิ เต็มภูวภัทร, นายธีร์ ลีอัมพรโรจน์, นายปรัธนา ลีลพนัง และนายสุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท

เอไอเอสไม่เลิกสินเชื่อดิจิทัล

แหล่งข่าวกล่าวว่า การยกเลิกดีลร่วมทุนระหว่างเอไอเอสกับเอสซีบีไม่ได้หมายความว่าเอไอเอสจะยกเลิกแผนหรือเป้าหมายในการขยายสู่บริการทางการเงิน แต่คาดว่าจะมีการพิจารณาทบทวนแผนงาน รวมถึงพันธมิตรใหม่

เพราะเมื่อครั้งแจ้งการทำสัญญาร่วมทุนกับธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อ 21 กันยายน 2564 นายธีร์ ลีอัมพรโรจน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านการเงิน บริษัทเอไอเอส ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯว่า การเข้าร่วมทุนในธุรกิจให้บริการสินเชื่อดิจิทัลนี้ สอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจของ AIS ในการเป็นผู้ให้บริการด้านดิจิทัลไลฟ์ โดยเป็นการต่อยอดสนับสนุนธุรกิจหลักของบริษัทเพื่อสร้างประสบการณ์ในการเข้าถึงบริการด้านการเงินให้กับฐานลูกค้าของบริษัท อันจะเป็นแหล่งรายได้ใหม่ในอนาคต

แหล่งข่าวกล่าวว่า การให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล เป็นการใช้ข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาปล่อยสินเชื่อให้คนตัวเล็กแทนการใช้เอกสารหลักฐานรายได้ ขอหลักทรัพย์ค้ำประกัน ซึ่งในส่วนของบริษัทเอไอเอสถือว่ามีฐานข้อมูลธุรกรรมต่าง ๆ ของลูกค้าที่อยู่ในมือจำนวนมาก เชื่อว่ามีโอกาสในการต่อยอดทางธุรกิจอยู่มาก ซึ่งเชื่อว่าบริษัทยังคงมีความสนใจในการขยายเข้าสู่ธุรกิจดังกล่าว

จุดเปลี่ยนผู้ถือหุ้นใหม่

แหล่งข่าวกล่าวว่า ขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การล้มดีล AISCB ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่าเอไอเอสมีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัท อินทัช โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) โดยมีบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ และมีการเปลี่ยนคณะกรรมการบริษัทชุดใหม่เมื่อ 21 ตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่มีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โดยคณะกรรมการบริษัทอาจมีการปรับเปลี่ยนนโยบายและทบทวนโครงการร่วมทุน และนำมาสู่การยุติแผนงานดังกล่าวได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประกาศความร่วมมือของสองยักษ์ครั้งแรก เมื่อ 21 กันยายน 2564 โดยได้ชี้แจงว่า ความร่วมมือทางธุรกิจดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักในการประกอบธุรกิจให้บริการสินเชื่อผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Lending) เพื่อสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินที่สะดวกมากยิ่งขึ้น โดยนับเป็นครั้งแรกของเมืองไทยที่บริษัทชั้นนำในสองอุตสาหกรรมหลักของประเทศ ได้แก่ Telco และสถาบันการเงิน ร่วมทุนเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สามารถตอบโจทย์คนในวงกว้างโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ

พร้อมระบุว่า บริษัทร่วมทุนดังกล่าวได้นำเอาจุดเด่นของพันธมิตรทั้งสอง คือความแข็งแกร่งทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เครือข่ายที่ครอบคลุมทั่วประเทศ นวัตกรรมอันล้ำสมัย ตลอดจนศักยภาพในการให้บริการลูกค้าของเอไอเอส มาผสานเข้ากับความน่าเชื่อถือของแบรนด์ รวมถึงประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านบริการทางการเงินของธนาคารไทยพาณิชย์ เพื่อมุ่งสร้างสรรค์นวัตกรรมและบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ผ่านช่องทางดิจิทัลที่จะสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับลูกค้า และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินให้กับคนไทยได้มากยิ่งขึ้น ท่ามกลางบริบทของโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
AISCB ยังไม่ได้ยื่น ธปท.

แหล่งข่าวเปิดเผยว่า เป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัท AISCB ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทตั้งแต่ 25 ตุลาคม 2564 แต่จนถึงขณะนี้ก็ยังไม่ได้มีการยื่นขออนุญาตให้บริการ “สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล” (digital personal loan) ต่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยข้อมูลผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาต “สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล” (digital personal loan) ซึ่งเป็นการใช้ข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาให้บริการสินเชื่อ หรือประเมินความสามารถในการชำระหนี้ โดยลูกค้าแต่ละรายจะได้รับวงเงินสินเชื่อเพื่อใช้ประกอบอาชีพ หรือซื้อสินค้าและบริการสูงสุดไม่เกิน 20,000 บาทต่อราย ชำระคืนสินเชื่อไม่เกิน 6 เดือน

โดยปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุญาตจาก ธปท.แล้ว 9 ราย ประกอบด้วย บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด (ช้อปปี้), บริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด (กลุ่มทรู), บริษัทอิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน), ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์, บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด ส่วนอีก 3 บริษัทยังไม่ได้เปิดให้บริการคือ บริษัท จีฟิน เซอร์วิสเซส (ที) จำกัด (แกร็บ ไฟแนนเชียล), บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอสซีบี อบาคัส จำกัด

ย้อนรอย SCB ล้มดีล “บิทคับ”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณี AISCB อาจถือเป็นกรณีที่สองของกลุ่มเอสซีบีเอ็กซ์ที่ต้องล้มแผนตามยุทธศาสตร์ยานแม่ หลังจากเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา ทางบริษัท เอสซีบี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ถึงกรณียกเลิกมติที่อนุมัติให้ บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) เข้าทำสัญญาซื้อหุ้น บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด (Bitkub) จากบริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด ในสัดส่วน 51% ด้วยมูลค่ารวมประมาณ 17,850 ล้านบาท

โดยนายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอ็กซ์ จำกัด (มหาชน) ระบุเพียงว่า แม้การสอบทานธุรกิจ (due diligence) จะไม่มีข้อบ่งชี้ถึงความผิดปกติอันเป็นนัยสำคัญ ซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ แต่เนื่องจาก Bitkub ยังมีประเด็นคงค้างที่ต้องดำเนินการหาข้อสรุปตามคำแนะนำและสั่งการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องระยะเวลาในการหาข้อสรุปดังกล่าว ผู้ซื้อและผู้ขายจึงได้ตกลงร่วมกันที่จะยกเลิกธุรกรรมการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้