การขึ้นดอกเบี้ยแรง และการแทรกค่าเงินพร้อมกัน ปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้น

ขึ้นดอกเบี้ย
คอลัมน์ : นั่งคุยกับห้องค้า
ผู้เขียน : ภาณี กิตติภัทรกุล,กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ธนาคารกสิกรไทย

เงินเฟ้อที่สูงทั่วโลกในปีนี้ ทำให้ธนาคารกลางเกือบทั่วโลกเร่งขึ้นดอกเบี้ยพร้อม ๆ กัน เพื่อทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่เป้าหมายให้ได้ นอกจากนี้ การเข้าแทรกแซงตลาดค่าเงินของหลายประเทศเพื่อช่วยเหลือค่าเงินประเทศตัวเองให้แข็งค่าเทียบดอลลาร์ในเวลาใกล้เคียงกัน

เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ค่อยได้เห็นบ่อยนัก ซึ่งล่าสุดที่ธนาคารกลางประเทศพัฒนาแล้วใช้นโยบายตึงตัวระดับนี้และแทรกแซงค่าเงินให้แข็งค่าเทียบดอลลาร์สหรัฐคือเมื่อช่วงยุค 1980s

โดยหากดูปีนี้ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางทั่วโลกได้ปรับลดลงอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยเหลือค่าเงินที่อ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ ถึงแม้ส่วนนึงของการลดลงของกองทุนสำรองจะมาจากการประเมินราคา โดยจากที่ Bloomberg เก็บข้อมูล ปีนี้กองทุนสำรองระหว่างประเทศของโลกได้ลดไปกว่า 7.8% หรือกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ มากสุดตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2003

การเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด (ธนาคารกลางสหรัฐ) ในปีนี้ ที่ล่าสุดขึ้น 75 bps ติดต่อกันถึง 3 ครั้ง และส่งสัญญาณการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจาก dot plot ล่าสุดที่ระบุว่าสมาชิกเฟดส่วนใหญ่มีมุมมองดอกเบี้ยที่ 4.4% ในปีนี้ และ 4.6% ในปี 2023

ซึ่งเพิ่มขึ้นมากจากคาดการณ์ในเดือนมิถุนายนที่มองดอกเบี้ยอยู่ที่ 3.4% และ 3.6% ตามลำดับ ทำให้ตลาดคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดปรับขึ้นสูงมาก และทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าอย่างรวดเร็วและไปทำจุดสูงสุดใหม่ในรอบ 20 ปี

ซึ่งการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐกดดันให้ค่าเงินประเทศสกุลอื่นอ่อนค่าลงมาก โดยในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เงินยูโรอ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่ปี 2002 ต่ำกว่าระดับ parity แตะระดับ 0.95 ยูโรต่อดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ค่าเงินปอนด์อ่อนค่าต่อเนื่องจากความกังวลเดียวกัน

ก่อนที่ค่าเงินปอนด์จะอ่อนค่าที่สุดนับตั้งแต่ปี 1985 เนื่องจากความกังวลต่อแผนลดภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจจากนายกรัฐมนตรีใหม่ ลิซ ทรัสส์ ทางด้านค่าเงินสกุลเอเชียในปีนี้อ่อนค่าลงเช่นเดียวกันจากแรงกดดันดอลลาร์ที่แข็งค่า

ญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาค่าเงินเยนที่อ่อนค่ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชียในปีนี้และเงินเยนอ่อนค่าที่สุดในรอบ 24 ปี ท่ามกลางนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายต่อเนื่องของบีโอเจ (ธนาคารกลางญี่ปุ่น) ด้านค่าเงินหยวนในช่วงสองเดือนที่ผ่านมาในตลาดนอกจีนแผ่นดินใหญ่ (offshore) อ่อนค่าที่สุดเป็นประวัติการณ์

เมื่อเทียบกับดอลลาร์ และค่าเงินหยวนในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ (onshore) อ่อนค่าที่สุดตั้งแต่ปี 2008 ส่วนค่าเงินวอนของเกาหลีใต้เผชิญการอ่อนค่าสุดในรอบ 13 ปี

การอ่อนค่าของค่าเงินส่งผลให้ธนาคารกลางหลายประเทศที่ผ่านมาจำเป็นต้องแทรกแซงตลาดเงินและค่าเงินเพิ่มขึ้น ท่ามกลางความผันผวนที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เริ่มจากการที่บีโอเจเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนให้แข็งค่าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1998 โดยใช้เงินไปถึง 2.84 ล้านล้านเยน

ในการแทรกแซงในครั้งนี้ ธนาคารกลางจีนยังคงกำหนดค่ากลางเงินหยวนแข็งค่ากว่าที่ตลาดคาดต่อเนื่อง ธนาคารกลางฮ่องกงต้องใช้เงินถึง 2.36 พันล้านฮ่องกงดอลาร์ในช่วงต้นเดือนตุลาคม เพื่อรักษาสเถียรภาพของระบบ peg system และบีโออีตอนเดือนตุลาคมประกาศกลับลำเข้าแทรกแซงซื้อพันธบัตรระยะยาว เลื่อนการขายพันธบัตร และขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องไปพร้อม ๆ กัน

ซึ่งการเข้าแทรกแซงค่าเงินของธนาคารกลางต่าง ๆ อาจช่วยค่าเงินได้ไม่มากนัก หากจะทำให้ค่าเงินแข็งค่าจริง ๆ ธนาคารกลางประเทศต่าง ๆ อาจต้องร่วมมือกันในการดูแลค่าเงิน (concerted intervention) ดังเช่นที่เกิด The Plaza Accord ในปี 1985 หรือในช่วง 1998 ที่สหรัฐเข้าช่วยเหลือญี่ปุ่นในการแทรงแซงค่าเงินให้เยนแข็งค่า ซึ่งในอนาคตตลาดโลกอาจเห็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นมานาน