คลังชงลด ภาษีดีเซล ต่อ ไม่ปรับอย่างน้อยถึงสิ้นปี

ภาษีน้ำมัน

คลังชงต่อเวลาลดภาษีดีเซลอีกรอบ ชี้อย่างน้อยถึงสิ้นปี เหตุราคาน้ำมันดิบโลกยังทรงตัวสูง หวั่นประชาชน-ธุรกิจเดือดร้อน ยอมแลกรัฐสูญรายได้กว่า 8 หมื่นล้าน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างพิจารณาต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 20 พ.ย. 2565 ออกไปอีก โดยคาดว่านายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 14 พ.ย.นี้

เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนและภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง เพราะขณะนี้ระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง ส่วนระยะเวลาต้องรอสรุปในระดับนโยบายก่อน แต่คงต้องขยายถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย

“รอให้ระดับนโยบายตัดสินใจว่า จะขยายเวลาลดภาษีน้ำมันดีเซลออกไปอีกกี่เดือน และจะลดลงลิตรละเท่าไหร่ เนื่องจากมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตด้วย ซึ่งที่ผ่านมาการลดภาษีน้ำมันดีเซลลงลิตรละ 5 บาท

ส่งผลให้สูญเสียรายได้ไปเดือนละกว่า 10,000 ล้านบาท โดยภาษีน้ำมันถือเป็นสัดส่วนรายได้ที่ใหญ่ที่สุดของกรมสรรพสามิต ซึ่งเก็บรายได้เฉลี่ยประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี ดังนั้น ก็ต้องพิจารณาในส่วนนี้ด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ ประเมินว่าหากขยายเวลาลดภาษีน้ำมันดีเซลจนถึงสิ้นปี 2565 คาดว่าจะสูญเสียรายได้รวมกว่า 80,000 ล้านบาท จากที่ผ่านมามีการขยายเวลาลดภาษีน้ำมันดีเซล 4 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 18 ก.พ.-20 พ.ค. 2565 ลดภาษี 3 บาทต่อลิตร นาน 3 เดือน สูญเสียรายได้ราว 18,000 ล้านบาท,

ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค. 2565 ลดภาษี 5 บาทต่อลิตร นาน 3 เดือน สูญรายได้ 30,000 ล้านบาท, ครั้งที่ 3 ขยายออกไปจนถึงวันที่ 20 ก.ย. 2565 ลดภาษี 5 บาทต่อลิตร และครั้งที่ 4 ขยายเวลาถึงวันที่ 20 พ.ย. 2565

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2565 (1 ต.ค. 2564-30 ก.ย. 2565) ที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตจัดเก็บรายได้รวม 503,465 ล้านบาท ต่ำกว่าปีงบประมาณ 2564 ที่ 28,140 ล้านบาท คิดเป็น 5.29%

โดยการเก็บรายได้จากภาษีน้ำมัน ทำได้แค่ 1.67 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณไป 43,012 ล้านบาท คิดเป็นต่ำเป้า 20.42%

สำหรับปีงบประมาณ 2566 (1 ต.ค. 2565-30 ก.ย. 2566) ช่วง 2 เดือนแรกที่ผ่านมา กรมสรรพสามิตสูญเสียรายได้ไปแล้ว 20,000 ล้านบาท โดยในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา เก็บภาษีน้ำมันได้เพียง 8,077 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายตามเอกสารงบประมาณ 10,504 ล้านบาท คิดเป็น 56.53%

ขณะที่นายณัฐกร อุเทนสุต ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางสรรพสามิต ในฐานะโฆษกกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมพร้อมดำเนินมาตรการตามนโยบายของรัฐ ซึ่งในรายละเอียดนั้น จะต้องมีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง

เนื่องจากขณะนี้ทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังสูงอยู่ อย่างไรก็ดี ช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ รายได้สรรพสามิตหายไป 20,000 ล้านบาท จากการลดภาษีน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร ซึ่งหากมีการขยายอายุมาตรการออกไปอีก ก็ต้องพิจารณาผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้ด้วย

“สัดส่วนรายได้ที่หายไปจากการลดภาษีน้ำมันนั้น การจัดเก็บรายได้ภาษีอื่น ๆ ไม่สามารถมาทดแทนส่วนที่หายไปได้ ซึ่งกรมต้องบริหารจัดการให้การจัดเก็บรายได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด” นายณัฐกรกล่าว