ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ หนุนเก็บภาษีตลาดทุน-ปฏิรูปโครงสร้าง แก้ความเสี่ยงการคลัง

หุ้น เงิน

“ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ” ยันสนับสนุนการเก็บภาษีตลาดทุน-ปฏิรูปโครงสร้างภาษีแก้ความเสี่ยง “ฐานะการคลัง-รายจ่ายสวัสดิการ” ที่เพิ่มสูงขึ้น แนะเก็บภาษีกำไร Capital Gain Tax แทนภาษีการขาย ไม่กระทบการลงทุน

วันที่ 5 ธันวาคม 2565 รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ตนสนับสนุนเก็บภาษีตลาดทุนและปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อแก้ไขปัญหาความเสี่ยงฐานะการคลังของประเทศ บรรเทาปัญหาฐานะทางการคลังที่ต้องมีรายจ่ายทางด้านสวัสดิการสังคมที่สูงขึ้นจากสังคมชราภาพ และการก่อหนี้เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา

โดยมองว่าการเก็บภาษีการขายหุ้นไม่น่าจะกระทบการลงทุนโดยภาพรวมมากนัก แต่อาจไม่เป็นธรรมต่อนักลงทุนที่ขายหลักทรัพย์แล้วขาดทุน

อนุสรณ์ ธรรมใจ
อนุสรณ์ ธรรมใจ

“เสนอให้เก็บภาษีกำไร Capital Gain Tax แทนภาษีการขายแทน แม้นการเก็บภาษีกำไรจากการลงทุน Capital Gain Tax จะมีความยุ่งยากในการจัดการมากกว่า แต่จะเป็นธรรมกว่า เพราะนักลงทุนที่ลงทุนแล้วขาดทุนไม่ต้องเสียภาษี ส่วนผู้ที่ลงทุนแล้วกำไรจากการขายก็ต้องเสียภาษีตามอัตราที่กระทรวงการคลังกำหนด”

อย่างไรก็ตาม การเก็บ Capital Gain Tax แทน Financial Transaction Tax จากการขาย อาจจะทำให้รายได้ภาษีของกระทรวงการคลังลดลงบ้าง แต่ความเป็นธรรมต่อนักลงทุนสำคัญกว่า และกลไก Capital Gain Tax ยังช่วยสร้างความสมดุลในตลาดการเงินและลดความร้อนแรงหรือฟองสบู่จากเงินทุนไหลเข้าได้ไม่ต่างจาก Financial Transaction Tax (จากการขาย) กลุ่มนักลงทุนในตลาดหุ้นทั้งนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศอยู่ในฐานะทางเศรษฐกิจที่จะเสียภาษีได้

ขณะที่คนส่วนใหญ่ของประเทศได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโควิดและต้องการมาตรการคลังช่วยเหลือเยียวยาเพิ่มเติม “เหตุผลอีกประการหนึ่งในการเสนอให้ใช้ Capital Gain Tax แทน เพราะรัฐบาลเก็บภาษีได้ตามเป้าในปี พ.ศ. 2565 จากทิศทางการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ การเก็บจากกำไรจากการลงทุนย่อมเหมาะสมกว่าการเก็บจากธุรกรรมการซื้อขายหลักทรัพย์ในสถานการณ์ขณะนี้”

ADVERTISMENT

รศ.ดร.อนุสรณ์กล่าวอีกว่า คาดว่าการเก็บภาษีในอัตราที่เหมาะสมที่ระดับ 0.055-0.1% จะไม่ทำให้สภาพคล่องหรือธุรกรรมในตลาดทุนลดลงมากนัก หากกระทรวงคลังตัดสินใจเก็บภาษีจากธุรกรรมการซื้อขายต่อเดือนเกิน 1 ล้านที่อัตรา 0.1% คาดว่ากระทรวงการคลังน่าจะมีรายได้จากภาษีไม่ต่ำกว่า 15,000-20,000 ล้านบาท แต่จะกระทบสภาพคล่องในตลาดหุ้นและธุรกรรม Trading บ้างในระยะแรก มีผลกระทบต่อรายได้และธุรกิจของกิจการซื้อขายหลักทรัพย์ของ บล. และ บลจ.ในระดับหนึ่ง

หากกระทรวงการคลังไม่เก็บจากธุรกรรมซื้อขาย และเก็บเป็น Capital gains เก็บในอัตรา 0.05% ในการลงทุนที่ถือครองน้อยกว่าหนึ่งไตรมาสตามที่ตนเสนอ รายได้จากภาษีจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3,000-8,000 ล้านบาท และรายได้อาจไม่แน่นอน ขึ้นกับภาวะตลาด จะเก็บได้มากกรณีเป็นทิศทางตลาดหุ้นขาขึ้น หากเป็นตลาดหุ้นขาลงและนักลงทุนส่วนใหญ่ขาดทุน หรือสัดส่วนการลงทุนเป็นการลงทุนระยะยาวกว่าหนึ่งไตรมาส รัฐบาลอาจมีรายได้ภาษีลดลง แต่กรณีการเก็บจากกำไรจากการลงทุนแทบจะไม่กระทบสภาพคล่องตลาดและธุรกรรมการซื้อขาย และทำให้การพัฒนาตลาดทุนสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างเต็มที่

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม หากเก็บภาษีในอัตราสูงไม่ว่าเก็บจากฐานธุรกรรมซื้อขาย หรือฐานกำไร ล้วนทำให้สภาพคล่องและธุรกรรมลดลงมากทั้งสิ้น และอาจทำให้การลงทุนในตลาดการเงินไทยถูกโยกย้ายไปประเทศอื่นในภูมิภาค อย่างสิงคโปร์แทน เมื่อพิจารณาเรื่องเม็ดเงินรายได้ภาษีจากการเก็บภาษีตลาดทุน เพียงแค่ประเทศประหยัดเงินงบประมาณจากการซื้ออาวุธหรือการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นหรือกำกับไม่ให้เกิดการรั่วไหลของงบประมาณก็สามารถมีเงินในระดับหลายหมื่นล้านบาท โดยไม่ต้องเก็บภาษีตลาดทุนเพิ่มแต่อย่างใด ภาษีตลาดทุนอาจมีประโยชน์ในแง่มุมการลดความเหลื่อมล้ำมากกว่าการที่รัฐจะมีรายได้จำนวนมากจากภาษีประเภทดังกล่าว